'สุพัฒนพงษ์-อาคม' แจงสภาฯ 'รัฐบาล' ทำหน้าที่เพื่อคลี่คลายวิกฤตโควิด-19

'สุพัฒนพงษ์-อาคม' แจงสภาฯ  'รัฐบาล'  ทำหน้าที่เพื่อคลี่คลายวิกฤตโควิด-19

ตัวแทนรัฐบาล แจง หน่วยงานรัฐ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนจากวิกฤตโควิด "อาคม" ยอมรับ หนี้สาธารณะจะเพิ่มมากขึ้น หากใช้ เงินกู้ 5 แสนล้าน แต่มั่นใจไม่เกินกรอบกฎหมาย

       เมื่อเวลา 20.57 น. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์  รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างการพิจารณาวาระแรกของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ว่า สำหรับต้นทุนโรงกลั่นน้ำมัน ที่ถูกทักท้วงว่ามีค่าการตลาดด้วยนั้น ซึ่งมีคณะที่ปรึกษาและเชี่ยวชาญ พิจารณาค่าการตลาดอยู่ที่ลิตรละ 2 บาท อย่างไรก็ดีการควบคุมดูแล จะทำให้ต้นทุนพลังงานที่เป็นธรรมกับผู้บริโภคและการบริหารที่เป็นสากล  ส่วนการได้กำไรที่ส.ส.ท้วงว่ามากเกินไปนั้น ต้องดูรายละเอียดว่าการประกอบธุรกิจนั้นไม่ใช่มีเฉพาะการค้าน้ำมันเท่านั้น แต่ยังมีการค้าปลีก การหารายได้เพิ่มเติมจากธุรกิจขาน้ำมันเท่านั้น
         นายสุพัฒนพงษ์​ ชี้แจงด้วยว่าสำหรับรัฐวิสาหกิจที่ผ่านมาได้ช่วยประชาชนในวิกฤตโควิด เช่นการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ลดค่าใช้ไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัย และธุรกิจอุตสาหกรรม รวม 3 ครั้ง คิดเป็นมูลค่า 4.1 หมื่นล้านบาท และยังมีการสนับสนุน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐบางประเภท ขณะที่ อัตราส่วนต่างของดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีนโยบายติดตามต้นทุนและความเสี่ยกลไกตลาด ทั้งนี้ตั้งแต่การระะบาดของโควิด-19 ธนาคารแห่งประเทศไทย ขอความร่วมมือให้เลื่อนดอกเบี้และเก็บเงินต้น รวมเป็นมูลค่า  6 ล้านล้านบาท ซึ่งในปี 2563 สถานกาณ์แก้ไขดีขึ้น สถานะเกือบปกติ  และ ปี 2564 ขอให้ธนาคารพาณิชย์ เลื่อนต้นเลื่อนดอกของลูกหนี้ไปถึงสิ้นปีนี้  และสิ่งสำคัญที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ คือ วิธีการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยผิดนัดที่เป็นธรรมกับผู้กู้ 
 

         ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ชี้แจงด้วยว่า การจัดทำงบประมาณ มีความจำเป็นต่อการใช้เงินเพื่อพัฒนาและแกัปัญหาทางสังคม อยู่ที่ 5 ล้านล้านบาท  แต่มีข้อจำกัดเรื่องแหล่งรายได้ ซึ่งการประมาณการรายที่ 2.4 ล้านล้านบาท สามารถรับรายจ่ายได้เท่าไรซึ่งได้คำนวณการตั้งงบประมาณต้องคำนึงถึงการหารายได้ด้วย จึงเป็นที่มาของการตั้งงบประมาณ จำนวน 3.1 ล้านล้านบาท  นอกจากนั้นยังต้องคำนึงถึงเงื่อนไขกฎหมายว่า จะขาดดุลไม่เกิน 20% ของวงเงินงบประมาณ และ 80% ของงบชำระหนี้เงินต้น จึงเป็นที่มาที่สามารถทำงบขาดดุลได้ 7 แสนล้านบาท และเป็นวงเงินที่กู้ยอดเต็ม
         “สำหรับงบลงทุน 6.2 แสนล้านบาท ถือว่าน้อยกว่ากรอบวงเงินขาดดุลงบประมาณ จะมีมาตรการแก้ไข คือ โครงการลงทุนของภาครัฐ ในพีพีพี และกองทุนรวมเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้พื้นที่ทางการคลังยังมี ในแง่ของพ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ ที่มีพื้นที่คลัง กู้เงินเพื่อพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น  ขณะนี้การกู้เงิน ภายใต้ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะยึดหลักของความพร้อม สำหรับโครงการยื่นใหม่ต้องผ่านกระบวนการให้เรียบร้อยก่อนบรรจุในแผนบริหารหนี้สาธารณะ สำหรับตัวเลขหนี้สาธารณะปัจจุบัน ตัวเลขเมื่อเดือนเมษายน  54.91%  และเดือนกันยายน หากรวม กับพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท  จะทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะอยู่ที่ 58% ซึ่งอยู่ในกรอบเพดานหนี้สาธารณะ ทั้งนี้หนี้สาธารณะที่เกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เงินไม่ได้ไปไหน เงินกู้ 70% ของหนี้สาธารณะใช้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถือเป็นการลงทุน ที่ก่อให้เกิดรายได้เมื่อโครงการสำเร็จและเปิดใช้บริการ” นายอาคม ชี้แจง
 

        รมว.คลัง ชี้แจงด้วยว่าสำหรับการหารายได้ จากการเก็บภาษีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างประเทศ หรือธุรกรรมที่จะให้บริการในประเทศไทย จะเป็นแหล่งรายได้ใหม่เพิ่มเติม เข้ามาในไตรมาสที่สาม ทั้งนี้ผลกระทบจากโควิด-19 หลายประเทศทำนโยบายแผนการช่วยเหลือและเยียวยา ให้บทบาทต่อการคลัง เพื่อทำงบประมาณเพิ่มเติมจากปกติ แต่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวกระทบต่อการจัดเก็บงบประมาณ ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นทั่วโลก.