ส่องนโยบายโบกมือลา 'ถ่านหิน' สู่เศรษฐกิจปลอดคาร์บอน

ส่องนโยบายโบกมือลา 'ถ่านหิน' สู่เศรษฐกิจปลอดคาร์บอน

เทรนด์โลกตอนนี้กำลังโบกมือลาเชื้อเพลิง 'ถ่านหิน' ผ่านการกำหนดนโยบายหลากหลายทั้งออกมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์ ตั้งเป้ามุ่งสู่เศรษฐกิจปลอดคาร์บอน ขณะที่กรีนพีช แนะ ประกาศ “ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ” เพื่อแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น

เทรนด์โลกตอนนี้กำลังโบกมือลาเชื้อเพลิงถ่านหิน ผ่านการกำหนดนโยบายหลากหลายทั้งการออกมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์ และบางประเทศถึงขนาดตั้งเป้ามุ่งสู่เศรษฐกิจปลอดคาร์บอน ขณะที่จีน ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้พลังงานถ่านหินกว่าครึ่งของโลก ยังตั้งเป้าปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2060

หากจะพูดถึงแหล่งกำเนิดภาวะโลกร้อน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก แหล่งที่มาที่เป็นตัวการที่สุด คือ 'ถ่านหิน' ซึ่งทั่วโลกมีความพยายามในการลดการใช้ ก่อนหน้านี้ถอยไปประมาณ 10 -15 ปี อาจจะเห็นความพยายามในแง่ของเชิงสมัครใจ ในการรณรงค์ให้บริษัทต่างๆ เลิกใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน ในบริษัทพลังงานที่เปลี่ยนไปลงทุนในพลังงานชนิดอื่นแทน กระทั่งปัจจุบัน มีความเข้มข้นที่มากขึ้นในนโยบายแต่ละประเทศ ขณะที่ไทย เริ่มเห็นเป้าหมายในการปลดระวางโรงถ่านหินเช่นกัน โดย กรีนพีซ ได้เสนอให้ประกาศ “ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ” เพื่อให้การเดินหน้าได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

รายงาน Net Zero by 2050 โดย International Energy Agency หรือ IEA ซึ่งเป็นองค์การพลังงานระหว่างประเทศ ล่อไปกับแนวโน้มหลายประเทศ ก่อนหน้านี้ประเทศต่างๆ บอกว่ามีแผนรับมือภาวะโลกร้อน หรือรับผิดชอบเรื่องก๊าซเรือนกระจกอย่างไร หลายประเทศประกาศว่าภายในปี 2050 จะปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ รวมถึงประเทศจีนก็ประกาศเช่นกันแต่ขอทำให้ได้ภายในปี 2060

  • ทางออกคาร์บอนเป็นศูนย์

"ดร.สฤณี อาชวานันทกุล" กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวในงานเสวนา “พลังงานถ่านหินกับอุตสาหกรรมไทย” ผ่านแฟนเพจ กรีนพีซ ว่า ในรายงานดังกล่าว ระบุว่า หากจะปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ที่สอดคล้องเป้าควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2050 จะต้องหยุดสร้าง ขยายเหมืองถ่านหิน หยุดอนุมัติการสำรวจแปลงน้ำมันเป็นก๊าซธรรมชาติใหม่ๆ และไม่อนุมัติโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ไม่มีเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนตั้งแต่ปี 2021 รวมถึง เลิกใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในรถยนต์อย่างสินเชิงในปี 2035 ปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินและน้ำมันที่ไม่มีเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนทุกแห่งภายในปี 2040 ความต้องการการใช้ถ่านหินลด 50% ภายในปี 2050

 

  • พลังสะอาด ทดแทน 'ถ่านหิน'

ทั้งนี้ข้อเสนอจาก IEA ระบุว่า สิ่งที่จะเข้ามาทดแทน 'ถ่านหิน' คือ พลังงานสะอาดหลักๆ ต้องมีการเติบโต 4 เท่า คือ แสงอาทิตย์กับลม ในปี 2020 – 2030 เพื่อให้แซงหน้าการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินทั่วโลก ขณะเดียวกัน รถยนต์สันดาปภายใน สิ่งที่แทนที่ คือ รถยนต์ไฟฟ้า ต้องโตขึ้น 18 เท่า จากยอดปี 2020 และนอกจากนี้ ยังต้องลดความเข้มข้นของการใช้พลังงาน ทุก 1 บาท ที่เราสร้างเป็นผลผลิตของประเทศหรือรายได้ประชากร ต้องใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งต้องลดให้ได้ 4% ต่อปี จากปี 2020 – 2030 เช่นกัน

  • จีน ตั้งเป้าคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ปี 2060

หากกลับมาดูความท้าทายจะพบว่า ปัจจุบันยังมีการก่อสร้างถ่านหินในหลายประเทศ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่เอเชีย โดยจีน เป็นประเทศที่ใช้ถ่านหินเกินครึ่งหนึ่งของทั้งโลก และจีนเองมีโรงไฟฟ้าถ่านหินมากกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ และก็ยังวางแผนสร้าง 127 แห่ง ซึ่งสวนทางกับที่จีนตั้งเป้าว่าจะปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2060

ดังนั้น จีนต้องค่อยๆ ปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินเก่า มีการคำนวณตัวเลขว่า จีน มีโรงถ่านหินเก่าๆ ที่ปลดระวางได้ทันที 160-170 แห่งทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน ปลายปีที่ผ่านมา มีนักลงทุนสถาบันกว่า 1,300 ราย ควบคุมเงินลงทุนกว่า 14 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ประกาศถอนการลงทุนในบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิล และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ โควิด 19 ก็มีผลในระยะสั้น แน่นอนว่าทำให้เกิดการช็อคในตลาดถ่านหิน รวมถึงการลดกิจกรรมลงก็ทำให้ลดการใช้พลังงานถ่านหิน แต่ในมุมบวกสำหรับอุตสาหกรรมถ่านหิน คือ ทำให้ราคาถ่านหินลดลงเยอะ จึงทำให้เป็นพลังงานที่น่าสนใจในบางประเทศ ขณะที่ บางประเทศเกิดดิสรัปชันโดยมีปัญหาในการขนส่งวัตถุดิบในการสร้างโรงถ่านหินใหม่ๆ ทำให้เกิดการดีเลย์และล่าช้าในการลงทุน เช่น อินเดีย หลายคนมองว่า จะนำไปสู่การทบทวนว่าจะมุ่งไปสู่พลังงานสะอาดอย่างจริงจังมากน้อยแค่ไหน บางคนก็มองว่าเป็นโอกาสในการเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว

  • ไทยใช้ '่ถ่านหิน' ทำอะไรบ้าง

สำหรับในประเทศไทย หากดูแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าชั่วคราว PDP 2018 Rev1 ยังระบุโครงการ โรงไฟฟ้าถ่านหิน/ลิกไนต์ 1,200 เมกะวัตต์. รับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว โครงการหงสาลิกไนต์ 1,473 เมกะวัตต์ ซึ่งใช้ถ่านหินลิกไนต์ , โรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 8-9 ขนาด 600 เมกะวัตต์ ใช้ลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงหลัก แม้จะดูสัดส่วนที่ลดลงจากแผนก่อนหน้านี้แต่ก็ยังมีการใช้พลังงานถ่านหินอยู่

ทั้งนี้ การสำรวจพื้นที่สำหรับโรงงานไฟฟ้าถ่านหินและเหมืองถ่านหิน โดยกรีนพีช พบว่ามีราว 14 พื้นที่ มีการตั้งคำถามว่า ขณะที่กระแสโลกมีความชัดเจนว่าจะออกห่างจากถ่านหิน แต่ความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทยมีการประมาณการณ์สูงเกินจริงมาเรื่อยๆ อย่าไรก็ตาม คาดว่าทางรัฐบาลไทยเองก็น่าจะมีแผนไปสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เพราะเป็นเรื่องของกระแสทั่วโลก

 

  • ไทยนำเข้า 'ถ่านหิน' ปีละกว่า 20 ล้านตัน

“ธารา บัวคำศรี” ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย และร่วมก่อตั้งกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงทิศทางถ่านหินในปี 2564 ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีความกังวลที่เพิ่มมากขึ้น ในเรื่องถ่านหินและสภาวะภูมิอากาศ ในประเทศไทยจะพบว่า ถ่านหินนำเข้ามาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา จนปัจจุบัน มีการนำเข้าถ่านหินในกิจกรรมต่างๆ และผลิตไฟฟ้าราว 20 ล้านตันเศษในปี 2020 โดยถ่านหินนำเข้าหลักๆ ใช้ในโรงไฟฟ้าของเอกชนที่มาบตาพุด ส่วนถ่านหินในประเทศ ส่วนใหญ่ใช้ลิกไนต์ในโรงไฟฟ้าแม่เมาะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต คงตัวอยู่ที 1.5 ล้านตันต่อปี ส่วนในโรงงานอุตสาหกรรมมีสัดส่วนน้อยลง

“สัญญานที่เกิดขึ้น ในประเทศไทย พบว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ออกมาระบุว่า จะปิดเหมืองแม่เมาะ ซึ่งเป็นเหมืองถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศใน 30 ปีข้างหน้า ขณะที่ บริษัทผลิตปูนแห่งหนึ่ง มีนโยบายให้ 'ถ่านหิน' เป็นศูนย์ (Zero Coal) แต่ยังไม่ระบุเวลา ทั้งนี้หากจะให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส โรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่ต้องหมดไปในปี 2040 หรือ พ.ศ. 2583 แต่หากดูตามแผนการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ของไทย จะพบว่า กว่าจะปลดระวางถ่านหินโรงสุดท้ายไปได้ คือ อีก 40-50 ปีข้างหน้าซึ่งไม่สอดคล้องกับความตกลงปารีส”

  • แนะประกาศ ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ

ธารา เสนอว่า รัฐสภา ซึ่งเป็นที่ประชุมระดับชาติของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มีอำนาจทางนิติบัญญัติ ทำหน้าที่ออกกฎหมาย ควบคุม ดูแลการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีและให้ความเห็นชอบในเรื่องที่สำคัญของประเทศนั้น มีสถานะที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการเป็นผู้นำประกาศ “ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ” ของไทย หรือ พรรคการเมืองทุกพรรคที่ลงเลือกตั้งต้องนำเอาวาระ “ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ” นี้ ผนวกเข้าไปในนโยบายของพรรค แม้ขณะนี้ไทยยังมีสภาวะทางการเมือง แต่ก็ยังอยากเห็นประเทศไทยมีความก้าวหน้าในด้านนี้