'ลดฝูงบิน-จ้างออก'ทางรอดสายการบินการูดา

'ลดฝูงบิน-จ้างออก'ทางรอดสายการบินการูดา

เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่าสายการบินการูดา ของอินโดนีเซียจะลดจำนวนเครื่องบินโดยสารในฝูงบินลงครึ่งหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามบรรเทาปัญหาขาดทุนในการดำเนินธุรกิจและหมุนเงินใช้หนี้ เพื่อให้อยู่รอดได้ท่ามกลางภาวะขาลงของธุรกิจการบิน

การูดา สายการบินใหญ่สุดของอินโดนีเซีย ระบุในเอกสารที่ยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันจันทร์(24พ.ค.)ว่า บริษัทเสนอโครงการเกษียณจากงานก่อนกำหนดแก่พนักงานทุกคนในองค์กร เพื่อให้การูดา อินโดนีเซียมีฐานะการเงินที่ดีขึ้นและสามารถปรับตัวเพื่อตอบสนองความท้าทายทางธุรกิจในรูปแบบต่างๆในยุคนิวนอร์มอลได้

การลดจำนวนเครื่องบินของสายการบินการูดาครั้งนี้ ครอบคลุมทั้งเครื่องบินโดยสารที่สายการบินเป็นเจ้าของและเครื่องบินโดยสารที่สายการบินเช่ามา ซึ่งจะส่งผลให้พนักงานจำนวนมากขอเกษียณจากงานก่อนกำหนด ในจำนวนนี้ รวมถึงพนักงานที่เป็นผู้บริหารระดับสูงเช่น รองประธานบริษัท ซึ่งได้รับข้อเสนอให้เข้าโครงการเกษียณจากงานก่อนกำหนดเช่นกัน

ปัจจุบัน การูดา ว่าจ้างพนักงานประมาณ 5,700 คนและมีเครื่องบินโดยสารในฝูงบินจำนวน 142 ลำ แต่ผู้บริหารของสายการบินที่ไม่เปิดเผยชื่อ ระบุว่า จำนวนเครื่องบินโดยสารของสายการบินจะลดลงเหลือไม่ถึง 70 ลำ ภายในปลายปี 2565 อีกทั้งแผนลดจำนวนเครื่องบินครั้งนี้มีผลเฉพาะสายการบินการูดาเท่านั้น ไม่ได้มีผลบังคับใช้กับสายการบินในเครือคือซิติลิงก์ ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำแต่อย่างใด

“เหตุผลที่ทำให้สายการบินตัดสินใจปรับโครงสร้างก็เพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินยังมีจำนวนน้อย รายได้ที่ได้มาไม่สอดรับกับต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยรวมของการดำเนินงาน ทุกวันนี้สายการบินใช้เครื่องบินโดยสารให้บริการลูกค้าเพียงแค่ 40 ลำเท่านั้น พร้อมทั้งยอมรับว่า การูดาไม่ได้จ่ายเงินค่าเช่าเครื่องบินโดยสารแก่ผู้ให้เช่าบางรายเนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนเงินสด”ทีมบริหารสายการบินการูดา กล่าว

คาปา บริษัทวิจัยด้านการบินพลเรือนระบุว่า การูดา ซึ่งเป็นสายการบินของรัฐบาล ครองส่วนแบ่งประมาณ 1 ใน 3 ของตลาดการบินภายในประเทศ ยังตามหลังสายการบินไลออน แอร์ กรุ๊ป ที่ครองส่วนแบ่งในตลาดการบินประมาณ 50% เพราะฉะนั้นการปฏิรูปองค์กรเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายจึงเป็นสิ่งจำเป็นและต้องเร่งดำเนินการสำหรับสายการบินนี้และหนึ่งในมาตรการแบ่งเบาภาระหนี้สินของสายการบินแห่งนี้ คือ การยุบเส้นทางบินที่ไม่ทำกำไร รวมถึงเส้นทางบินกรุงจาการ์ตาไปกรุงลอนดอน และกรุงจาการ์ตาไปสนามบินนานาชาติชูบุ เซนแทรร์ ในญี่ปุ่น พร้อมทั้งเปิดเส้นทางใหม่ที่มองเห็นโอกาสในการทำเงิน เช่น เส้นทางนิวเดลี-เดนปาซาร์ ในบาหลี ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยม

อย่างไรก็ตาม การูดา ไม่ได้เป็นสายการบินเพียงแห่งเดียวที่ถูกกดดันจากปัญหาทางการเงิน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)อนุมัติแผนปรับโครงสร้างที่อาจต้องใช้เวลานานถึง 7 ปี ส่วนสิงคโปร์ แอร์ไลน์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็ประกาศตัวเลขขาดทุนสุทธิจำนวน 4,270 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (3,220 ล้านดอลลาร์)และในปีงบการเงิน 2563 สายการบินรองรับผู้โดยสารเพียงแค่ 596,000 คนเท่านั้น ลดลง98% เพราะมาตรการคุมเข้มด้านการเดินทางทั่วโลก

การปรับโครงสร้างหนี้ของการูดาครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากช่วงกลางปีที่แล้ว รัฐบาลอินโดนีเซียร่างแผนมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือสายการบินแห่งชาติรายนี้ ที่ต้องระงับการดำเนินงานฝูงบินส่วนใหญ่ ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19

“การ์ติกา วีร์โจอัตมอดโจ” รัฐมนตรีช่วยกระทรวงรัฐวิสาหกิจอินโดนีเซีย บอกว่ารัฐบาลร่างแผนฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือสายการบินการูดา ซึ่งแผนดังกล่าวประกอบด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ 500 ล้านดอลลาร์ และปล่อยสินเชื่อ 500 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้สายการบินแห่งนี้ดำเนินงานได้อีก 6 เดือน หลังจากการูดามีแนวโน้มจะผิดนัดชำระพันธบัตรอิสลามที่เรียกว่า “ศุกูก” และนักลงทุนต้องเลือกระหว่างยืดอายุกำหนดชำระหนี้ออกไปอีก 3 ปี หรือชำระหนี้แบบเหลื่อมเวลา

หลังจากขาดทุนสุทธิมานานสองปีเต็ม สายการบินก็สามารถทำกำไรได้ 6.9 ล้านดอลลาร์ในปี 2562 แต่ข้อจำกัดด้านการเดินทางทั่วโลก ทำให้สายการบินกลับมาขาดทุนสุทธิเป็นเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง9เดือนจนถึงเดือนก.ย.ปี 2563 โดยบริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 122 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม การูดายังไม่ได้ประกาศผลประกอบการตลอดทั้งปีของปี 2563 โดยสายการบินมีหนี้สุทธิของกลุ่ม นับจนถึงสิ้นเดือนก.ย. ปี2563 จำนวน 6,500 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่า 300% ตั้งแต่สิ้นปี 2562 ทั้งยังมีกระแสเงินสดติดลบด้วย