'หมอยง' ไขทุกข้อสงสัย วัคซีนกับสายพันธุ์โควิด 19

'หมอยง' ไขทุกข้อสงสัย วัคซีนกับสายพันธุ์โควิด 19

แม้การระบาดของโควิด 19 ในระลอกใหม่ จะผ่านมาเกือบ 2 เดือน และการฉีดวัคซีนที่ปัจจุบันฉีดไปแล้วกว่า 2.8 ล้านคน และ 1,600 ล้านคนทั่วโลก แต่ยังคงมีคำถามเกี่ยวกับผลข้างเคียง ข้อห้าม ในการฉีด รวมถึงข้อสงสัยเกี่ยวกับสายพันธุ์โควิดอย่างต่อเนื่อง

กรุงเทพธุรกิจ ได้รวบรวมทุกข้อสงสัย ของวัคซีนโควิด 19 ทั้งข้อห้าม การปฏิบัติตัวก่อนฉีด รวมถึงกรณีศึกษาต่างๆ ทั้งในต่างประเทศ และในประเทศไทย  ของการฉีดวัคซีนในรูปแบบต่างๆ โดยขณะนี้มีการศึกษาการฉีด "ไขว้วัคซีน" ซึ่งมีการฉีดคนละยี่ห้อในเข็มที่ 1 และ 2 รวมถึง ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่หลายคนกังวลอยู่ในขณะนี้

โดยรวบรวมคำตอบของ "ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ" นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ราชบัณฑิต และหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก  คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายในงานเสวนาทางวิชาการเรื่อง "ทางรอดของคนไทย...ด้วยวัคซีนป้องกัน COVID 19" ผ่าน Facebook “ สถานีวิทยุ มก.” เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 64

ศ.นพ.ยง ระบุว่า วัคซีนไม่มีตัวไหนเลยที่จะป้องกันการติดเชื้อ 100% แต่ป้องกันความรุนแรงและเสียชีวิต จนกว่าในอนาคตจะมีวัคซีนที่ดีกว่านี้ แต่ในสภาพความเป็นจริงยาก เพราะไวรัสโควิด ระยะฟักตัวสั้นคล้ายไข้หวัดใหญ่ เราต้องการภูมิคุ้มกันสูงลอยตลอดเวลา แต่ภูมิคุ้มกันเรา ขึ้นและลง ดังนั้น โอกาสที่ต้องฉีดอีกมีแน่นอน เมื่อไหร่แค่นั้นเอง คาดว่าน่าจะเป็นปีหน้า

หากใครไม่เห็นคนไข้ที่นอนไอซียู และปอดบวมจะไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร บอกได้เลยว่าหากสถานการณ์ไทยยังเป็นแบบนี้ อยู่ในช่วงขาขึ้น ไม่ได้อยู่ขาลง ไม่ควรนิ่งนอนใจ ดังนั้น ต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้เร็วที่สุด ฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด

  • อิสราเอล ฉีดวัคซีน ผู้ติดเชื้อลดลง

ศ.นพ.ยง กล่าวต่อไปว่า เห็นได้ชัดว่าเราไม่ได้ฉีดคนแรกๆ ของโลก ตอนนี้มีคนฉีดวัคซีนทั่วโลกมากกว่า 1,600 ล้านโดส โดย “อิสราเอล” ฉีดต่อประชากรมากที่สุด รองลงมาคือ “สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์” อิมแพคของการฉีดวัควีนทั่วโลกเป็นอย่างไร

เช่น อิสราเอล เริ่มฉีด กลาง ธ.ค. ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 4 เดือน โรคจึงค่อยสงบลงในมี.ค. แต่ไทยเพิ่งเริ่มรณรงค์เดือนนี้เราทำใจได้เลยว่าอีกสี่เดือน อิสราเอล เริ่มฉีดตอนที่ผู้ป่วยอยู่ในช่วงขาขึ้น และไล่ไปเรื่อยๆ หลังจากนั้นจึงเห็นผลลดลงอย่างมาก ตอนนี้ อิสราเอล มีคนไข้น้อยกว่าไทย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้มีมากกว่า และไม่แน่ใจว่าไทยจะแซงหรือเปล่า และที่เห็นชัดว่าอิสเราเอลเคยเสียชีวิตวันละกว่า 60 ราย แต่ตอนนี้อยู่ในหลักหน่วย จะเห็นเลยว่า เขาพร้อมที่จเริ่มไม่ใส่หน้ากาก เริ่มเปิดประเทศ

การยอมรับการฉีดวัคซีนทั่วโลกรวมถึงไทย ได้ทำการสำรวจ ตีพิมในวารสารเนเจอร์ พบว่า บางประเทศ อย่างฝรั่งเศส การยอมรับการฉีดวัควีนต่ำ รัสเซียต่ำ เพราะทุกคนกลัว ลังเล ที่จะฉีด ในไทยเคยทำการศึกษาตั้งแต่ ม.ค. มีผู้ตอบ 3 หมื่นคน พบว่า คนที่อยากฉีดแน่ 60% ไม่ฉีดแน่ 5% และมีแนวโน้มที่จะฉีด 80% ดังนั้น

ทำอย่างไรให้มีความต้องการฉีด มากกว่านี้ อยู่ที่เราทุกคนว่าจะรับข้อมูลที่มีความจริงเพียง 20% และเติมความเห็นเข้าไปหรือไม่  ข่าวร้ายจะแพร่กระจายเร็ว แต่ข่าวดีที่ว่ากว่า 1,600 ล้านคนที่ได้รับการฉีดทั่วโลกกลับไม่มีใครพูด อาการแทรกซ้อนต่างๆ มีแน่นอน

  • แพ้อาหารทะเล "ฉีดวัคซีนโควิด 19" ได้หรือไม่

ศ.นพ.ยง อธิบายว่า วัคซีนทุกตัวที่มีอยู่ไม่มียาปฏิชีวนะ ทำไมจะฉีดไม่ได้ บางคนแพ้อาหารทะเล กุ้ง ไข่ ผมก็บอกว่า วัคซีนไม่ได้ทำมาจาก อาหารทะเล กุ้ง ไข่ เราไปเถียงกันซะจนกลัวไปหมด อย่าให้ขาดน้ำก็เพียงพอแล้ว

  • งดออกกำลังกาย กินกาแฟ ก่อนฉีดหรือไม่

“กิจวัตรอะไรก็ตามแต่ ให้ทำไป หากออกกำลังกายเป็นปกติทุกวัน ออกกำลังกายแล้วทำให้ร่างกายสดชื่อ ก็ทำต่อไป แต่หากบอกว่า ยังไม่เคยออกกำลังกายเลย แล้วไปออกกำลังกายจนเพลีย จนถึงวันรุ่งขึ้นก็ยังเพลียไม่หาย อันนี้ไม่ควร เช่นเดียวกับ กินกาแฟ หากกินอยู่ทุกวัน กินแล้วสบายใจ กินแล้วมีความสุข ไม่ได้กินจะปวดหัวหงุดหงิด หากกินอยู่ทุกวัน ชีวิตดำรงปกติอย่างไรให้ดำรงอย่างนั้น ไม่ได้เป็นข้อห้าม ไม่ต้องปล่อยข่าวว่าห้ามกินกาแฟ เราห้ามคนที่ไม่เคยกิน”

“ดำรงชีวิตอย่างไร ให้ไปอย่างนั้น ไม่ต้องไปฟื้นมัน หากออกกำลังกายเป็นประจำ ให้ออกอย่างนั้น ตรงไปตรงมา อยู่แบบสมดุล วิถีชีวิตอย่างธรรมชาติที่สุด การฉีดวัคซีนเป็นเรื่องปกติ เหมือนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่”  

  • ภูมิคุ้มกันจำเป็นต้องตรวจหรือไม่

“ไม่จำเป็น” ก่อนหลังก็ไม่จำเป็น ฉีดให้ครบตามกำหนด เชื่อว่าภูมิต้านทานขึ้นแน่ๆ ระยะห่างของการฉีดวัคซีน ในระยะหลังมีการทำการศึกษาอย่าง แอสตร้าเซนเนก้า ตอนเริ่มต้นการศึกษาบอกฉีดห่างกัน 28 วัน แต่พอตีพิมพ์บอกว่าห่าง 6 สัปดาห์ ต่อมาในอังกฤษ ทำการศึกษาช่วงวัคซีนขาด ทำให้การฉีดเข็มสองดีเลย์ไป พบว่า กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า ดังนั้น จะเห็นได้ชัดว่าเข็มแรกก็ได้แล้ว แต่เข็มที่สองต้องเว้นระยะเวลาพอสมควร แต่เรากลัวแค่ว่าหากเข็มแรกภูมิไม่ดี และเข็มสองห่างเกินไป จะเป็นโรคเสียก่อน ขณะที่ ซิโนแวค ฉีดห่างกัน 3-4 สัปดาห์”  

 

  • ฉีดวัคซีน ป่วยโควิดได้อีกหรือไม่

ศ.นพ.ยง อธิบายว่า ยกตัวอย่างคนไข้คนหนึ่ง มาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฉีดวัคซีนตัวที่หลายคนใฝ่ฝัน เชื้อตาย ซิโนฟาร์ม ฉีดสองเข็มตั้งแต่เดือนก.ย. เข้าใจว่าฉีดในวัคซีนทดลองการศึกษา เมื่อฉีดเสร็จแล้ว 25 ต.ค. มีภูมิและกลับมากทม.เดือน ม.ค. หลังจากนั้น ก.พ. กลับบ้านสมุทรสาคร เกิดระบาดใหญ่ ในบ้านอยู่กัน 6 คน ติดโควิดทั้ง 6 คน แต่เขาได้ฉีดซิโนฟาร์มมาแล้ว อาการไม่รุนแรง มีอาการเล็กน้อย ตรงข้ามกับหลายคน ต้องให้ออกซิเจน และปอดบวมถึง 3 คน แสดงว่าวัคซีนช่วยได้ ลดความรุนแรงของโรคให้อาการไม่รุนแรง ดังนั้น หากฉีดวัคซีนมีโอกาสติดเชื้อได้ แต่อาการน้อยลง

  • เป็นโควิดแล้ว เป็นซ้ำได้หรือไม่

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า หากเคยเป็นแล้ว เป็นซ้ำได้อีก แต่การเป็นซ้ำมักจะเกิดขึ้นหลัง 3 เดือน ดังนั้น ในทางตะวันตก แนะนำให้ฉีดวัคซีนได้หลังเป็นโควิด 3-6 เดือน ตอนนี้ยังทำการศึกษาอยู่ ใครที่หายจากโควิดเรียกมาฉีดวัคซีน และศึกษาดูการกระตุ้นภูมิ ผลของวัคซีน ฉีดไปแล้วกลุ่มแรก 60 รายที่เป็นโควิดมาแล้ว 1 ปี และกำลังจะฉีดให้อีกกลุ่ม 60 คน ที่เป็นโควิดมาแล้ว 3 เดือน และเปรียบเทียบกันดูว่าการฉีดวัคซีนโควิดเป็นอย่างไร ครั้งนี้คงไม่ยากเพราะผู้ป่วยเราเยอะ

  • "ฉีดวัคซีน" ครบแล้ว ฉีดซ้ำหรือไม่

ใน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กำลังมองหาเข็มที่ 3 แล้ว จากการติดตามภูมิคุ้มกันไม่ได้อยู่ตลอดไป ไวรัสมีระยะฟักตัวสั้น ตอนนี้ต้องเริ่มมอง หากใครฉีดก็กำลังติดตามระยะยาวอยู่ และมองหาทางออกให้ว่าเข็มที่ 3 จะให้เมื่อไหร่ดี เชื่อว่าน่าจะให้หลังจาก 6 เดือน – 1 ปี กำลังทำการศึกษาและคาดว่าน่าจะเริ่มการศึกษาได้ ก.ย.

  • คนท้องฉีดได้หรือไม่

จากการประชุมร่วมกับ กรมอนามัย ราชวิทยาลัยสูตินารีแพทย์ มีคำแนะนำให้สตรีตั้งครรภ์ได้รับวัคซีนโควิด เพราะเมื่อเป็นโควิดแล้ว จะมีอาการรุนแรงถึงชีวิตได้ เหมือนไข้หวัดใหญ่ จึงแนะนำให้สตรีตั้งครรภ์ที่อยู่ในพื้นทีเสี่ยงสีแดงควรได้รับวัคซีนโควิด แต่ควรได้รับวัคซีนหลังจากตั้งครรภ์แล้ว 12 สัปดาห์ ตอนนี้มีการทำงานร่วมกัน 10 ประเทศ ประเทศไทยมีวัคซีนอะไร ก็ฉีดในคนท้องด้วยวัคซีนนั้น ดังนั้น ไทยจะมีการฉีด 100 คน และติดตาม

  • ให้นมบุตร ฉีดได้หรือไม่

ส่วนคนให้นมบุตร ตอนนี้ไม่ได้มีข้อห้าม หากอยู่ในพื้นที่สีแดง ฉีดวัคซีนไปเลยไม่ต้องกลัว และไม่ต้องงดนม ไม่ต้องปั๊มนมทิ้ง เพราะภูมิต้านทานจะออกมาในน้ำนม ถึงจะผ่านสู่ลูกก็ไม่มีข้อวิตกกังวลใดๆ ทั้งสิ้น

  • เป็นประจำเดือนฉีดได้หรือไม่

การฉีดวัคซีนเป็นชีวิตประจำวัน ไม่มีเงื่อนไขใดๆ ฉีดได้ ไม่ต้องเลื่อน

  • เตรียมมีตัวมีบุตรฉีดได้หรือไม่

วัคซีนตัวนี้ไม่จำเป็นว่าต้องตรวจท้องหรือไม่ท้อง หญิงวัยเจริญพันธุ์ฉีดได้เลย แต่หากรู้ว่าท้อง ให้เลื่อนเข็มนั้นออกไปจนกว่าจะเกิน 12 สัปดาห์ ค่อยฉีด บางคนบอกฉีดแล้วมีลูกยากหรือไม่ ไม่เกี่ยวข้องกัน

  • ทั่วโลกฉีดไปแล้ว 16%

การฉีดวัคซีนทั่วโลก ขณะนี้ ฉีดไปแล้วมากกว่า 1,600 ล้านคน ต้องใช้ 1 หมื่นล้านโดสจึงจะทำให้โรคสงบ แต่ตอนนี้ทั่วโลกฉีดไปแค่ 16% คาดว่าต้องใช้เวลา 1 ปี ถึงจะครบทั่วโลก และประเทศไทยฉีดไป 2.8 ล้านโดส จะเห็นได้ว่า "อิสราเอล" เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จ ในอัตราการตายเกือบแตะศูนย์ แต่ยังสู่อังกฤษไม่ได้ ตอนนี้ฉลอง ซีโร่ เดท ไปแล้ว อัตราการเสียชีวิตมีหลักหน่วย เพราะให้เห็นเลยว่าเขามีความสุขมาก

ตรงข้ามกับ ฝรั่งเศส มีการชะงักตอนที่พบผลข้างเคียง ตอนนี้ยังประสบปัญหาคนเสียชีวิตเกิน 100 รายต่อวัน แต่อังกฤษไม่ค่อยมีใครเสียชีวิต และต่อให้เกิดลิ่มเลือดตายจากวัคซีนน้อยนิดหากเปรียบเทียบกับประโยชน์แล้ว เทียบกันไม่ได้เลย ในทำนองเดียวกัน สหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยมีผู้ป่วยวันหนึ่งหลักแสน ตอนนี้เหลือคนไข้วันละ 2 หมื่นราย อัตราการตายลดลงอย่างมาก แสดงให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกามีความสุขแล้ว เขาจะต้องฉีดวัคซีนคนของเขาให้ครบก่อน 4 ก.ค. วันชาติอเมริกา

 

  • ฉีดเข็มแรกกับเข็ม 2 คนละยี่ห้อได้หรือไม่

ศ.นพ.ยง อธิบายว่า การฉีดวัคซีนข้ามยี่ห้อยังไม่แนะนำในปัจจุบัน ขณะนี้ กำลังมีการศึกษากันค่อนข้างเยอะทั้งในและต่างประเทศ ยกตัวอย่าง ในต่างประเทศ ยุโรป กำลังศึกษาการฉีดไขว้กันระหว่างไฟเซอร์กับแอสตร้าเซนเนก้า ยังไม่เห็นผลภูมิคุ้มกันว่าขึ้นเป็นอย่างไร แต่เห็นผลว่า การฉีดไขว้กันอาการข้างเคียงจากเข็มที่ 2 จะมากกว่าการฉีดชนิดเดียวกัน แต่อาการที่มากขึ้น เป็นอาการพวก ไข้ เจ็บ ปวด ไม่ได้ซีเรียสอะไร

แต่สิ่งที่สนใจมากในประเทศไทย คือ เราไม่ได้มีไฟเซอร์ เราจะไปสลับไฟเซอร์กับแอสตร้าเซนเนก้าก็คงไม่ได้ เรามี 2 ยี่ห้อและเชื้อตาย ซิโนแวค กับ ไวรัสเวคเตอร์ ตอนนี้ยังไม่แนะนำ เรากำลังจะทำการศึกษา ฉีดไขว้กัน แต่เรามีข้อมูลจำนวนหนึ่งจากคนที่เข็มแรกเกิดแพ้ และเข็มสองต้องเปลี่ยน โดยส่วนใหญ่ เข็มแรกส่วนใหญ่เข็มแรกจะเป็นซิโนแวค และเข็ม 2 จะเป็นแอสตร้าเซนเนก้า เพราะซิโนแวคเข็มแรกฉีดมากกว่าเยอะ แอสตร้าฉีดน้อย

สิ่งที่พบน่าสนใจอย่างหนึ่ง คือ หากฉีดเข็มแรก ชิโนแวค เข็ม 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้าในอีก 1 เดือนต่อมา และทำการตรวจภูมิคุ้มกันอีกใน 1 เดือนถัดมา พบว่า ภูมิคุ้มกันสูงมาก แต่ยังตอบไม่ได้ว่าสูงกว่าการฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มหรือไม่ ยังไม่ทราบ แต่สูงกว่าซิโนแวค 2 เข็ม เมื่อดูอาการข้างเคียงไม่ได้มาก

  • กรณีตัวอย่าง การฉีดไขว้ยี่ห้อ          

ตอนนี้คนเริ่มลังเลว่าจะฉีดอะไร  เพราะบางคนจะไปอังกฤษ แล้วอังกฤษไม่รับรองซิโนแวคจะทำอย่างไร ถ้าจะขอเปลี่ยนวัคซีนได้หรือไม่ ศ.นพ.ยง ตอบว่า ถ้าจะขอเปลี่ยนเป็นสิทธิ์ของผู้รับวัคซีน ถ้าเปลี่ยนเราก็จะตรวจภูมิ

แต่มีอีกกรณีหนึ่ง คือ เข็มแรกฉีดแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้ว หลังจากนั้น 1 เดือนต่อมา เขาจะไปฉีดไข้หวัดใหญ่ เดินขึ้นไปจะฉีดไข้หวัดใหญ่ เลี้ยวผิดห้อง ไปห้องฉีดวัคซีนโควิด จึงได้ฉีดวัคซีนซิโนแวคแทนเป็นเข็มที่ 2 อาการข้างเคียงไม่มี ดังนั้น ในวันที่ 4 จะมีการเจาะเลือดดูว่าเป็นอย่างไร

กำลังศึกษากรณีเช่นนี้ว่าหากฉีดไขว้ยี่ห้อจะเป็นอย่างไร การศึกษาตอนนี้อยู่ในคณะกรรมการจริยธรรม หากได้รับการรับรองเมื่อไหร่จะระดมอาสาสมัครมาฉีดไขว้เพื่อดูว่าเป็นอย่างไร

  • ศึกษาฉีดไขว้วัคซีน

สิ่งที่ต้องคำนึงต่อไป หากฉีดครบ 2 เข็มแล้ว คือ บางคนจะเดินทางไปต่างประเทศ ฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็ม แต่จะไปอังกฤษ เดือน ต.ค. จะขอฉีดแอสตร้าเพิ่มได้หรือไม่ ด้วยเหตุนี้เอง จึงต้องศึกษาดูว่าหากเข็มที่ 3 จะฉีดไฟเซอร์ หรือ ซิโนฟาร์ม ซิโนแวค หรืออะไรก็ตามแต่ จะพยามไขว้ให้เห็น เพราะวัคซีนที่มีหลายบริษัท หากไขว้ไปมาจะเป็นอย่างไร

โดยที่เข็มหนึ่งส่วนใหญ่จะเป็นซิโนแวค แต่เข็ม 2 -3 ส่วนใหญ่หลายคนจะขอเปลี่ยนยี่ห้ออื่น เพราะฉะนั้น ยังตอบไม่ได้จนกว่าจะมีการศึกษาออกมาชัดเจน และการศึกษาที่จะออกมา ต่างชาติที่ไม่มีซิโนแวค ดังนั้น การศึกษาฉีดซิโนแวคเข็มแรก และเข็มที่ 2 – 3 เป็นอย่างอื่นเราต้องทำ ด้าน จีนก็ไม่ทำ เพราะจีนไม่เอาวัคซีนฝรั่งเข้า และในประเทศอื่นที่ฉีดหลายยี่ห้อ ก็ไม่แน่ใจว่าจะทำหรือเปล่า

ดังนั้น เราจึงต้องศึกษาและนำคำตอบมาให้ได้สำหรับคนไทย ต่อไปเชื่อเลยว่ามีหลายยี่ห้อ มีวัคซีนทางเลือกเข้ามา คนไทยจะเริ่มมีทางเลือกฉีดยี่ห้ออื่น แต่ตอนนี้ขอให้ฉีดอย่างเดียวกันไปก่อน

  • ลุ้นสายพันธุ์อินเดีย ครองโลกหรือไม่

ศ.นพ.ยง อธิบายว่า สายพันธุ์โควิด 19 ที่มาจากจีน ออกนอกประเทศ ออกลูกหลาน ผ่าเหล่ากอเกิดเป็นสายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ S เจริญในบ้านเรา และสายพันธุ์ L เจริญในตะวันออกกลาง เข้าตะวันตก ขณะที่สายพันธุ์ L ออกลูกหลานมาเรียกว่าสายพันธุ์ G แพร่เร็วมากกว่าสายพันธุ์ L กลบกลืนสายพันธุ์ L จนหายไป

สายพันธุ์ G ตอนนี้ครองทั่วโลกเกือบหมด หลังจากนั้น G ก็ไปออกลูกหลานในอังกฤษ ชื่อ “สายพันธุ์อังกฤษ” ซึ่งแพร่พันธุ์เร็ว กำลังครองโลกรวมถึงไทย และขณะเดียวกัน ยังมี “สายพันธุ์อินเดีย” ทำท่าเหมือนจะแพร่พันธุ์ได้เร็วกว่าสายพันธุ์อังกฤษ และหากเป็นเช่นนั้น แน่นอนว่า อนาคตสายพันธุ์อินเดียก็จะแพร่กลบสายพันธุ์อังกฤษและครองโลกไป

  • สายพันธุ์แอฟริกา เกิดก่อน แพร่ช้า

หากดู “สายพันธุ์แอฟริกา” จุดเด่น คือ กลายพันธุ์ที่ตำแหน่งดื้อต่อวัคซีน ทำให้แอนติบอดี จับตัวไม่ดีประสิทธิภาพลดลงแทบทุกวัคซีน ลดลงหมดทุกวัคซีน ไม่ใช่ตัวใดตัวหนึ่ง แต่สายพันธุ์นี้แพร่ไม่เร็ว ในบรรดาสายพันธุ์ต่างๆ จะเห็นว่าสายพันธุ์แอฟริกาใต้ มีจุดกำเนิดก่อนสายพันธุ์อังกฤษ แต่สายพันธุ์อังกฤษครองได้เพราะแพร่พันธุ์เร็ว ตราบใดที่สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ไม่ได้แพร่พันธุ์เร็ว มันน่าจะอยู่ในการควบคุมได้ดีกว่าสายพันธุ์อังกฤษ และ อินเดีย

แต่สายพันธุ์อังกฤษ และอินเดีย ประสิทธิภาพวัคซีน ไม่ได้แตกต่างกันมาก ดังนั้น ตอนนี้ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ก็ต้องระวัง ควบคุมให้ได้ แต่เนื่องจากการระบาดของมันช้ากว่าสายพันธุ์อื่น และการรุกล้ำเป็นไปได้แต่น้อยกว่า ขณะที่ สายพันธุ์อินเดีย มีโอกาสแพร่และแทนที่