พ.ร.ก.เงินกู้รอบใหม่ เยียวยา-จ้างงานดันจีดีพี 1.5%

(ชมคลิปข่าวด้านล่าง) พ.ร.ก.เงินกู้สู้โควิดรอบใหม่5 แสนล้าน “อาคม” เผยดันจีดีพีเพิ่มในปี 64 -65 ได้ 1.5% หนี้สาธารณะไม่เกิน 60%

พ.ร.ก.เงินกู้สู้โควิดรอบใหม่5 แสนล้าน “อาคม” เผยดันจีดีพีเพิ่มในปี 64 -65 ได้ 1.5% หนี้สาธารณะไม่เกิน 60% “สุพัฒนพงษ์” ชี้ใช้เงินกู้รับมือสถานการณ์ได้ถึงปีหน้า ลั่นมีหลังพิงจากกฎหมายการเงิน 3 ส่วนกว่า 1.25 ล้านล้าน สศช.ระบุแผนใช้เงินกู้ครั้งนี้เน้นช่วยเฉพาะกลุ่มมุ่งเอสเอ็มอี นักศึกษาจบใหม่ ช่วยรักษาระดับการจ้างงาน

ราชกิจจานุเบกษาวานนี้ (25 พ.ค.) เผยแพร่ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม วงเงินรวม 5 แสนล้านบาท โดยมีบัญชีแนบท้าย พ.ร.ก.ที่กำหนดแผนงานหรือโครงการจำนวน 3 แผนงานหรือโครงการ ได้แก่

1.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 ซึ่งใช้เป็นค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข การรักษาโรค วัคซีน และการวิจัยวัคซีน รวมทั้งค่าใช้จ่ายทางการแพทย์และสาธารณสุข วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท

2.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกสาขาอาชีพให้สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง วงเงิน 3 แสนล้านบาท

3.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบ จากการระบาดของโควิด-19 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับแผนงานหรือโครงการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการ และกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคในระบบเศรษฐกิจของประเทศ วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท
ทั้งนี้การปรับลดวงเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ฉบับนี้จาก 7 แสนล้านบาท เหลือ 5 แสนล้านบาท เป็นการปรับลดในส่วนของแผนงานหรือโครงการเยียวยาลง 1 แสนล้านบาท และการปรับลดแผนงานหรือโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 1 แสนล้านบาท

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า พ.ร.ก.นี้จะเป็นการกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศหรือออกตราสารหนี้ในนามรัฐบาลในกรอบวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย.2565 ทั้งนี้ ในกรณีที่จำเป็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติปรับเปลี่ยนกรอบวงเงินภายใต้แผนงานหรือโครงการภายใต้ 3 วัตถุประสงค์แผนงานหรือโครงการนี้ได้ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
สำหรับขั้นตอนต่อไปหลังจาก พ.ร.ก.ฉบับนี้ประกาศใช้แล้วสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) จะประสานงานไปสภาผู้แทนราษฎรเพื่อบรรจุเรื่องเข้าสู่การพิจารณาซึ่งตามกฎหมายกำหนดว่าให้ดำเนินการโดยเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

นายอาคม กล่าวว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.2564 เป็นต้นมา สถานการณ์โควิด-19 รุนแรงขึ้น โดยแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและติดเชื้อวงกว้างทั่วประเทศ ทำให้มีผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับจีดีพีของปีนี้ลงมาที่ 1.5-2.5% เพราะการระบาดระลอกใหม่ ฉะนั้น การกระจายที่รุนแรงขึ้นทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องเตรียมงบเพิ่มเติมเสริม พ.ร.ก.ฉบับที่หนึ่ง รองรับผลกระทบจากระบาดรอบใหม่ แต่แหล่งเงินจากงบประมาณมีจำกัดเพราะการระบาดระลอก 2-3 ทำให้คาดการณ์ไม่ได้

กรณีนี้เพื่อประโยชน์รักษาความปลอดภัยสาธารณะและความมั่นคงเศรษฐกิจประเทศ และเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน อันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จึงได้ออก พ.ร.ก.เพื่อให้รัฐบาลมีงบเพิ่มเติมได้อย่างต่อเนื่องในการดูแล เพื่อให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็วและเติบโตยั่งยืนภายหลังการระบาดโควิด-19ยุติลง

ทั้งนี้ กรอบวงเงินดังกล่าว เป็นกรอบที่เหมาะสมที่จะดำเนินมาตรการการคลัง โดยคาดว่าการดำเนินโครงการภายใต้ พ.ร.ก.ดังกล่าว ทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2564-2565 ขยายตัวได้เพิ่ม 1.5% จากกรณีฐาน

“ต่างจากปีที่แล้วที่คาดการณ์ติดลบ 8 เมื่อมีมาตรการต่างๆ ก็ช่วยให้ติดลบน้อยลงเหลือลบ 6 ฉะนั้น ในทางบวกก็เหมือนกัน การที่เราคำนวณค่ากรณีฐาน ถ้ามีมาตรการเสริมเข้ามาและมีมาตรการการคลัง จะทำให้รัฐบาลสามารถดำเนินมาตรการเศรษฐกิจได้เหมาะสมและเพียงพอ จะทำให้การคาดการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น”
อย่างไรก็ตาม เรียนว่า การกู้เงินครั้งนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)ได้ดำเนินการเรื่องกู้เงินอย่างระมัดระวัง ดูทั้งตลาดเงินและตราสารหนี้และช่วงเวลาเหมาะสมให้เกิดประโยชน์ประเทศมากสุด

ขณะเดียวกัน มีคำถามว่า หนี้สาธารณะเพิ่มหรือไม่ เรียนว่าจากประมาณ ซึ่งเราจะไม่ได้เบิกเงินครั้งเดียว แต่จะทยอยเบิกตามความต้องการใช้เงิน หากในวงเงินนี้ จะทำให้ประมาณก.ย.ปี 64 หนี้ต่อจีดีพีจะอยู่ที่ 58.56% อยู่ในกรอบเพดานหนี้ที่กำหนดไม่เกิน 60% อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจโตได้ สัดส่วนจะดีขึ้น ดังนั้น ภารกิจรัฐบาลคือทำให้เศรษฐกิจกลับมาเดินต่อได้ปกติเร็วที่สุด

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การกู้เงินเพิ่มเติมส่วนนี้เพื่อให้ความมั่นใจกับประชาชน และภาคธุรกิจว่ารัฐบาลเตรียมความพร้อมรองรับการระบาดที่เกิดขึ้น โดยเมื่อรวมวงเงินกู้ใหม่ตาม พ.ร.ก.นี้กับวงเงินจากกฎหมายฉบับอื่นทั้งซอฟท์โลนช่วยเหลือเอสเอ็มอี มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ 3.5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.รักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจวงเงิน 4 แสนล้านบาท ทำให้รัฐบาลมีวงเงินที่จะเป็นหลังพิงในการรับมือกับโควิด-19 ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้การปรับลดวงเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินโควิด ฉบับที่ 2 จาก 7 แสนล้านบาท เหลือ 5 แสนล้านบาท เพราะตนเองเห็นว่าจำนวนวงเงิน 5 แสนล้านบาทเป็นระดับที่เพียงพอรองรับช่วงท้ายๆของการระบาดโควิด -19 ที่ตนมองเช่นนี้เพราะตอนนี้มีวัคซีนและเริ่มทยอยฉีด ฉะนั้นกรอบ 5แสนล้านบาท หรือครึ่งหนึ่งของเงินกู้เดิม 1 ล้านล้านบาทที่กู้ในปีที่ผ่านมาน่าจะเพียงพอ

“เราอาจจะอยู่ในช่วงท้ายของการรับมือกับโควิดเพราะกำลังจะเข้าสู่โหมดของการฉีดวัคซีน เราต้องไม่ประมาท เพราะที่ผ่านมาเห็นแล้วว่ามีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นได้ ต้องมีอะไรเตรียมรองรับไว้ในปี 2565 ให้มั่นใจว่ารัฐบาลคิดรอบคอบ หากไม่เกิดการระบาดอีก ไม่ต้องเบิกเงินกู้เลยจะดีที่สุด” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า การจัดสรรเงินกู้ครั้งนี้คำนึงถึงเครื่องยนต์เศรษฐกิจ ซึ่งปีนี้เศรษฐกิจไทยอาศัยเครื่องยนต์ 2-3 ตัวเรื่องแรก คือ 1.การส่งออกที่จะนำไปสู่การลงทุนภาคเอกชน 2.การลงทุนภาครัฐ 3.การบริโภคภายในประเทศ ดังนั้นส่วนที่ต้องการเม็ดเงินที่จะลงเป็นการลงทุนภาครัฐที่จะต้องเติมเข้าไปจากตัวของงบประมาณ โดยจะเป็นโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานในขนาดที่ไม่ใหญ่นัก และเป็นเรื่องของการทำการลงทุนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานอื่นเพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

รวมทั้งการเข้าไปดูแลในเรื่องของการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นในกรณีที่ระดับการบริโภคอาจจะลดลงก็จะต้องมีการกระตุ้นในระยะสั้นเพื่อให้กลับมาสู่ระดับปกติอีกส่วนหนึ่งคือคงต้องดูว่าวิธีการที่จะไปช่วยในลักษณะที่มีการพุ่งเป้ามากขึ้นในแง่ของเอสเอ็มอี หลังจากในช่วงที่ผ่านมาเราใช้วิธีการกระตุ้นผ่านโครงการคนละครึ่ง ซึ่งผู้ประกอบการรายย่อยได้ประโยชน์ แต่ยังมีผู้ประกอบการรายกลาง เช่น ร้านอาหาร ที่เราเห็นบางส่วนได้รับผลกระทบมากจากมาตรการทำงานที่บ้าน

ทั้งนี้ ต้องพิจารณามาตรการหรือโครงการที่จะเข้าไปช่วยเหลือในแง่ของกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลางบางส่วนอาจเข้าไม่ถึงซอฟท์โลน ซึ่งต้องมีมาตรการในการรักษาระดับการจ้างงานในสถานประกอบการ รวมทั้งการทำโครงการจ้างบัณฑิตจบใหม่ที่จะจบการศึกษาออกมาในช่วงนี้ด้วย

สำหรับความคืบหน้าในการใช้จ่ายที่ผ่านมาการใช้เงินภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท มีแผนการใช้จ่ายครบทั้งหมดแล้ว แบ่งเป็น

1.ด้านสาธารณสุข วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท อนุมัติไปแล้ว 25,852 ล้านบาท คงเหลือ 19,174 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเสนอโครงการมาขอใช้เงินที่เหลืออยู่ในการจัดซื้อจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ และค่าบุคลากร

2.การเยียวยา กรอบวงเงิน 6.85 แสนล้านบาท อนุมัติไปแล้ว 666,243 ล้านบาท 3.การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม กรอบวงเงิน 2.7 แสนล้านบาท อนุมัติไปแล้ว 1.25 แสนล้านบาทที่เหลือจะทยอยเสนอครม.เห็นชอบ โดยภาพรวมมีการเบิกจ่ายแล้วทั้งสิ้น 80% โดยการเบิกจ่ายวงเงินตาม พ.ร.ก.หากเบิกจ่ายได้ตามกำหนดจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัว 2%