สหภาพฯรฟท.กังขาประมูลทางคู่ ‘ส่อฮั้ว’

(ชมคลิปข่าวด้านล่าง) สหภาพฯรฟท.กังขาประมูลทางคู่ ‘ส่อฮั้ว’

นับเป็นโครงการที่ได้ศึกษากันมาอย่างยาวนาน กับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายชุมทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ที่รัฐบาลได้ทำการศึกษาตั้งแต่ปี 2503 และสำรวจพื้นที่ในปี 2512 และได้มีการทบทวนโครงการอีกหลายครั้งเพื่อศึกษาถึงความเหมาะสม ผลกระทบต่างๆ โดยให้รองรับกับการเชื่อมต่อชายแดน จ.เชียงราย เพื่อรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าในภาคเหนือ รวมถึงรองรับศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของที่กำลังก่อสร้างจะเชื่อมการค้าระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ จากไทยไปลาว จีน เวียดนาม และเขตเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล
จนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเด่นชัย- เชียงราย-เชียงของ รวมระยะทาง 323 กิโลเมตร ประกอบด้วย สถานี 26 สถานี ลานขนถ่ายสินค้า 4 แห่ง ลานกองเก็บตู้สินค้า 1 แห่ง ก่อสร้างอุโมงค์รถไฟ 4 อุโมงค์ ก่อสร้างถนนยกข้ามทางรถไฟ 40 แห่ง และถนนลอดใต้ทางรถไฟ 102 แห่ง โครงการเริ่มต้นจาก จ.แพร่, จ.ลำปาง, จ.พะเยา, จ.เชียงราย จนถึง เชียงของ วงเงินรวม 85,345 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี โดยกระทรวงคมนาคมให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการเวนคืนที่ดินและเปิดการประมูลภายในปี 2564 และมีกำหนดก่อสร้าง 5 ปี เปิดบริการในปี 2571 การรถไฟฯได้กำหนดขอบเขตของงาน (TOR) กรอบวงเงินรวม 72,920 ล้านบาท พร้อมกับประกาศขายเอกสารประกวดราคาก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เมื่อวันที่ 19 มี.ค. - 17 พ.ค. 2564 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) และกำหนดกรอบเวลาในการประกวดราคา โดยให้ผู้ประสงค์จะเสนอราคาจัดทำเอกสารข้อเสนอ ภายในวันที่ 19 มี.ค. - 17 พ.ค.2564 ให้ยื่นข้อเสนอและเสนอราคาทางระบบอิเล็กทรอนิกส์วันที่ 18 พ.ค. 2564 โดยยื่นข้อเสนอด้านเทคนิควันที่ 19 พ.ค. 2564 พร้อมวางหลักการประกันเสนอราคาวันที่ 18 พ.ค. 2564 คณะกรรมการพิจารณาเห็นชอบ วันที่ 24 มิ.ย. - 8 ก.ค. 2564 ประกาศผลผู้ชนะการเสนอราคาวันที่ 9 ก.ค. 2564และ ลงนามในสัญญาวันที่ 2 ส.ค. 2564 โดยแบ่งการก่อสร้าง 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย - งาว ระยะทาง 103 กม. ราคากลาง 26,599.16 ล้านบาท สัญญาที่ 2 ช่วงงาว – เชียงราย ระยะทาง 132 กม. ราคากลาง 26,913.78 ล้านบาท สัญญา 3 ช่วงเชียงราย – เชียงของ ระยะทาง 87 กม. ราคากลาง 19,406.31 ล้านบาท
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) มีวัตถุประสงค์ตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 40 (4) ในการดำเนินการและให้ความร่วมมือเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และรักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ ได้ติดตามโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการติดตามพบว่าการประมูลทั้ง 3 สัญญา มีข้อน่าสงสัยในเรื่องความโปร่งใส และน่าสังเกตว่าในแต่ละสัญญานั้นมีผู้ซื้อซองจำนวนมาก แต่มีผู้ยื่นเสนอราคาเพียงสัญญาละ 2 รายเท่านั้น ปรากฏรายละเอียดดังนี้
สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 103 กม. ราคากลาง 26,599.16 ล้านบาท มีผู้สนใจซื้อซองประมูลถึง 17 ราย แต่มีผู้ยื่นเสนอราคาแค่เพียง 2 รายเท่านั้น โดยผลเสนอราคาต่ำสุดอยู่ที่ 26,568 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางประมาณ 31 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.12 ของราคากลาง
สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 132 กม. ราคากลาง 26,913.78 ล้านบาท มีผู้สนใจซื้อซองประมูลถึง 18 ราย แต่มีผู้ยื่นเสนอราคาแค่เพียง 2 รายเท่านั้น โดยผลเสนอราคาต่ำสุดอยู่ที่ 26,900 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางประมาณ 13 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.05 ของราคากลาง
สัญญาที่ 3 เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 87 กม. ราคากลาง 19,406.31 ล้านบาท มีผู้สนใจซื้อซองประมูลถึง 16 ราย แต่มีผู้ยื่นเสนอราคาแค่เพียง 2 รายเท่านั้น โดยเสนอราคาต่ำสุดอยู่ที่ 19,390 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางประมาณ 16 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.08 ของราคากลาง
จากรายละเอียดที่ปรากฏออกมา หากวิเคราะห์ในเรื่องการกำหนดเงื่อนไขใน TOR กรณีหลักเกณฑ์ผลงานของผู้ที่ประสงค์จะยื่นประกวดราคา ทำให้มีผู้เสนอราคาเพียงไม่กี่รายที่มีคุณสมบัติครบถ้วนในการยื่นประกวดราคา และจากผู้ที่สนใจซื้อเอกสารซองประมูลทั้งหมด 16 - 18 ราย โดยเอกสารการประกวดราคามีราคาถึงชุดละ 50,000 บาท ก็ย่อมเป็นเรื่องปกติของผู้ที่ซื้อซองประมูลย่อมมีเจตนาที่จะเข้าร่วมยื่นเสนอราคาประมูลโครงการ แต่ในการเสนอราคากลับมีผู้เสนอราคาเพียง 2 ราย และมีการเสนอราคาที่ต่ำกว่าราคากลางไม่มากนักจนเป็นที่น่าผิดสังเกตโดยมูลค่าต่ำกว่าราคากลางแค่หลักไม่กี่สิบล้านบาท โดยปกติไม่น่าจะเป็นไปได้เมื่อเปรียบเทียบกับการประมูลโครงการก่อสร้างอื่นๆเท่าที่ สร.รฟท.ได้ติดตามมา เป็นการเสนอราคาที่เฉียดฉิวใกล้เคียงกับราคากลางมาก ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสาธารณชนและสื่อมวลชนทุกแขนงที่ให้ความสนใจว่า..... การดำเนินโครงการนี้ ส่อไปในทางที่ไม่โปร่งใส เป็นการล๊อคสเปก ฮั้วประมูล หรือไม่ หรือว่ามีไอ้โม่งขาใหญ่ คอยทำหน้าที่ซอยสัญญาแบ่งเค้ก จัดสรรผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง ??? หากมีการ“ฮั้วประมูล”กันจริงแล้วนี่คือความเสียหายของประเทศชาติ เพราะงบประมาณมาจากภาษีของประชาชน และจะส่งผลกระทบถึงโครงการประมูลจ้างก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่สายอีสาน เส้นทางสายบ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร มูลค่า 66,848.33 ล้านบาท ในวันที่ 25 พ.ค.2564 นี้ซึ่งประกอบด้วยสัญญาที่ 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก วงเงิน 27,127 ล้านบาท ราคากลาง 27,123 ล้านบาทสัญญาที่ 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 วงเงิน 28,335 ล้านบาท ราคากลาง 28,333 ล้านบาท
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ยืนยันในเจตนารมณ์มาอย่างยาวนาน โดยได้เสนอให้รัฐบาลในทุกยุคสมัยเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ทั่วประเทศเพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านการขนส่งของประเทศและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน จนถึงปัจจุบันและจากการติดตามในการประมูลโครงการดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลและสงสัยอย่างมากถึงความโปร่งใส และจากการที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศนโยบายให้เรื่อง “การปราบปรามการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ” สร.รฟท. มีความจำเป็นต้องขอเรียกร้อง และยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ให้สั่งการชะลอโครงการนี้ไปก่อน และตรวจสอบความไม่โปร่งใสของโครงการนี้โดยเร่งด่วน เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน ทั้งในวันนี้และเพื่อลูกหลานเราในวันข้างหน้าต่อไป