ส่งออก เม.ย.พุ่งแรง 13.09% สูงสุดรอบ 36 เดือน

ส่งออก เม.ย.พุ่งแรง 13.09% สูงสุดรอบ 36 เดือน

ส่งออกไทยเดือนเม.ย. มูลค่า 21,429.27 ล้านดอลลาร์ขยายตัว 13.09 % สูงสุดในรอบ 36 เดือนนับตั้งแต่เดือน เม.ย.61 เป็นผลจากการฉีดวัคซีนโควิดทั่วโลก และเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนเม.ย..2564 มีมูลค่า 21,429.27 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 13.09 %  สูงสุดในรอบ 36 เดือนนับตั้งแต่เดือน เม.ย.61 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกไทยขยายตัวสูงถึง  25.70 %  ซึ่งการขยายตัวของการส่งออกไทยเป็นไปตามการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการผลิตและการส่งออกโลก บ่งชี้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลกปรับตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี อยู่ที่ระดับ 55.8 นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน จากการกระจายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 อย่างทั่วถึงในหลายภูมิภาคของโลก

สำหรับการส่งออก 4 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว  4.78%  เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 11.58%

162191584716

สำหรับรายละเอียดการส่งออกเดือนเม.ย.2564 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม 7.3%  ขยายตัว 5 เดือนต่อเนื่อง สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ยางพารา ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง  เครื่องดื่ม อาหารสัตว์เลี้ยง  ส่วนสินค้าที่หดตัว ได้แก่ ข้าว น้ำตาลทราย อาหารทะเล แช่แข็ง กระป๋องและแปร ผัก ผลไม้ กระป๋องและแปรรูป ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว12.4 %  ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน  รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล  อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ  สินค้าที่หดตัว ได้แก่ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องส่งวิทยุ  โทรเลข โทรศัพท์ โทรทัศน์   

ทางด้านตลาดส่งออก ขยายตัวสูงเกือบทุกตลาด และหลายตลาดขยายตัวในระดับสูง สอดคล้องกับการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการผลิตและการค้าโลก รวมทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามความคืบหน้าในการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของประเทศคู่ค้า และแรงสนับสนุนจากการใช้นโยบายการเงินและการคลังที่ต่อเนื่องของประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยตลาดหลักเพิ่ม 15.8% ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป เพิ่ม 9% , 2.7% และ 52.5% ตลาดศักยภาพสูง เพิ่ม 18.8% เช่น จีน เพิ่ม 21.9% เอเชียใต้ เพิ่ม 149.9% และ CLMV เพิ่ม 44.3% แต่อาเซียน 5 ประเทศ ลด 4.4% ตลาดศักยภาพระดับรอง เพิ่ม 47.8% เช่น ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 39.1% ลาตินอเมริกา เพิ่ม 82.3% ทวีปแอฟริกา เพิ่ม 25.3% รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS เพิ่ม 50.1% และตะวันออกกลาง เพิ่ม 65.7%

162192969415

นายภูสิต กล่าวว่า แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2564  นั้นการส่งออกของไทยในระยะต่อไปคาดว่าจะเห็นภาพการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น สะท้อนจาก  การขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ในเกือบทุกหมวดสินค้า การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่เริ่มฟื้นตัวตามราคาส่งออก และความต้องการจากประเทศคู่ค้าที่สูงขึ้น  แผนการกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 ที่มีความหลากหลาย เข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว ช่วยฟื้นความเชื่อมั่นด้านการผลิตและการบริโภค สำหรับแผนส่งเสริมการส่งออกในปี 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  มีนโยบายสำคัญ อาทิ การจับคู่ธุรกิจออนไลน์ การเจรจาซื้อขายด้วยระบบออนไลน์โดยส่งสินค้าตัวอย่างไปยังปลายทาง การทำกิจกรรมกับร้านค้าปลีกในต่างประเทศ เช่น ห้างวอลมาร์ทในสหรัฐฯ หรือการจับคู่ธุรกิจเพื่อขายสินค้าฮาลาล เป็นต้น นอกจากนี้ ได้มีมาตรการแก้ไขปัญหาการส่งสินค้าผลไม้ผ่านชายแดนเวียดนามไปยังจีน โดยประสานทางการจีนเพื่อเปิดช่องทางส่งออกผลไม้ให้ไทยเพิ่มขึ้นที่ด่านโหย่วอี้กวน และเปิดด่านตงซิงเพิ่มอีก 1 ด่าน เพื่อให้สามารถส่งออกผลไม้สดไปจีนได้ พร้อมยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 ในสินค้าผลไม้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้นำเข้าด้วย