สทท.ชงรัฐบูมภูเก็ต แคมเปญล้านห้อง จ่าย 1 ดอลลาร์ต่อคืน!

สทท.ชงรัฐบูมภูเก็ต แคมเปญล้านห้อง จ่าย 1 ดอลลาร์ต่อคืน!

สทท.กระทุ้งรัฐโหมบิ๊กแคมเปญปลุก "ท่องเที่ยวภูเก็ต" รับแผนเปิดประเทศ 1 ก.ค. ประเดิมเดือนแรก ทัวริสต์จ่าย "1 ดอลลาร์ต่อคืน” เสนอรัฐตั้งวงเงิน 1.5 พันล้าน หนุนค่าโรงแรม 1-1.5 พันบาทต่อห้องต่อคืน "1 ล้านห้อง" จูงใจเข้าพัก

มั่นใจกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่กว่า 4 หมื่นล้าน ด้าน "ธปท." ถกด่วนสมาคมแบงก์ เร่งรัดสินเชื่อฟื้นฟู-โครงการพักทรัพย์ ช่วยเอสเอ็มอี 

เหลือเวลาอีก 1 เดือน โครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วให้สามารถท่องเที่ยวแบบไม่ต้องกักตัววันที่ 1 ก.ค.ตามโรดแมพรัฐบาล สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) จึงมีแนวคิดว่าภาครัฐต้องเร่งอัดแคมเปญใหม่ ใหญ่ และปัง! เพื่อปลุกกระแสความสนใจแบบทอล์คออฟเดอะทาวน์ เร่งการตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวภูเก็ตและพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า วานนี้ (24 พ.ค.) สทท.ได้เข้าหารือและเสนอแนวคิดต่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป เกี่ยวกับการจัดทำบิ๊กแคมเปญโปรโมชั่นกระตุ้นการท่องเที่ยวภูเก็ตในฐานะพื้นที่นำร่องของประเทศไทย หรือ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ซึ่งจะเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วเดินทางท่องเที่ยวได้แบบไม่ต้องกักตัว ตั้งแต่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป โดยนักท่องเที่ยวต้องอยู่ในพื้นที่ภูเก็ตอย่างน้อย 7 คืน หรือทำกิจกรรมในเส้นทางที่กำหนด ก่อนออกเดินทางไปยังพื้นที่อื่นๆ ในไทย

โดยหนึ่งในข้อเสนอคือการออกแคมเปญใหม่ “1 ล้านห้อง จ่ายเพียง 1 ดอลลาร์ต่อคืน” เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติมาท่องเที่ยวภูเก็ตในช่วงเริ่มเปิดเมือง โดยรัฐสามารถช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายห้องพักแก่โรงแรมและรีสอร์ทในภูเก็ตซึ่งปัจจุบันมีกว่า 7 หมื่นห้องพัก ในช่วง 1 เดือนแรก ตั้งแต่วันที่ 1-31 ก.ค.2564  

“หากสามารถเริ่มโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ได้ตามไทม์ไลน์ที่กำหนดไว้ เป็นจำนวน 1 ล้านห้องหรือคืน (Roomnight) รัฐช่วยสนับสนุนที่อัตรา 1,000-1,500 บาท/ห้อง/คืน คิดเป็นวงเงิน 1,000-1,500 ล้านบาท ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติจ่ายค่าห้องพัก 1 ดอลลาร์ หรือประมาณ 30 บาท/ห้อง/คืน จะช่วยสร้างมูลค่าเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ภูเก็ตไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท”

  • เชื่อทำได้จริงหนุนต่อยอดสู่9พื้นที่นำร่อง

สทท. มองว่าแคมเปญนี้สามารถทำได้จริง ซึ่งการปลุกตลาดให้ฟื้นต้องใช้แรงกระตุ้น หรือกระตุกให้แรงเพื่อสร้างสีสันดึงความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก ทั้งนี้ต้องขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการโรงแรมภูเก็ตในการเข้าร่วมแคมเปญนี้ เชื่อว่าเอเย่นต์ทัวร์ทั้งโฮลเซลรายใหญ่และผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เป็นสมาชิก สทท.จะช่วยกันขายแพ็คเกจนี้เพื่อบูมภาคท่องเที่ยวภูเก็ตให้ฟื้นตัวโดยเร็ว ซึ่งจะเป็นการช่วยรักษาการจ้างงานของธุรกิจโรงแรมได้อีกทางหนึ่งด้วย

หากแคมเปญนี้ประสบความสำเร็จ ภาครัฐและเอกชนท่องเที่ยวสามารถนำไปต่อยอดในอีก 9 พื้นที่นำร่องช่วงไตรมาส 4 นี้ได้ ทั้งกระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี (สมุย-พะงัน-เต่า) ชลบุรี (พัทยา) เชียงใหม่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ บุรีรัมย์ และกรุงเทพฯ ซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 ต.ค. ในการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มฉีดวัคซีนครบแล้วแบบไม่ต้องกักตัว แต่ยังต้องอยู่ในพื้นที่นำร่องนั้นๆ อย่างน้อย 7 คืน ก่อนออกเดินทางไปยังพื้นที่อื่นๆ ในไทยเช่นกัน

162186508390

  • ชงตั้งวอร์รูมเตรียมพร้อมเปิดเมือง

สทท.ยังเสนอตั้งวอร์รูมในช่วงเปิดเมืองภูเก็ต เพื่อสำรวจความพร้อมด้านบริการท่องเที่ยวทั้งโรงแรม รีสอร์ท ว่าเปิดให้บริการได้มากน้อยอย่างไร มีจำนวนห้องพัก รถเช่า และรถบัสนำเที่ยว มัคคุเทศก์ ที่พร้อมกลับมาให้บริการเท่าไร จากนั้นจะเข้าไปสร้างความพร้อมให้กับทุกสาขาอาชีพ และสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวในทุกจุดสัมผัสตั้งแต่สนามบิน โรงแรม ร้านอาหาร ท่าเรือ ฯลฯ บุคลากรผู้ให้บริการต้องมีสัญลักษณ์แสดงตนว่าได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว หรือ “I’m vaccinated” เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว ทั้งภาครัฐและเอกชนท่องเที่ยวต้องร่วมมือเร่งสร้างความพร้อมให้แก่จังหวัดภูเก็ต เพื่อแสดงให้เห็นว่า "Phuket is Ready Now!” 

ทั้งนี้ ก่อนเผชิญวิกฤติโควิด-19 ภูเก็ตมีรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 4.7 แสนล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 15% ของรายได้รวมการท่องเที่ยวไทย 3 ล้านล้านบาทในปี 2562 ดังนั้นภาครัฐและเอกชนท่องเที่ยวต้องร่วมกันกอบกู้รายได้ให้ฟื้นตัวโดยเร็ว  คาดว่า 6 เดือนหลังของปีนี้ ภูเก็ตจะมีรายได้การท่องเที่ยว 84,290 ล้านบาท  ขณะที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมเปิดตัวแคมเปญ “Countdown to Reopen Phuket” ในเร็วๆ นี้

  • ธปท.ถกด่วนสมาคมแบงก์เร่งสินเชื่อฟื้นฟู

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า วานนี้ (24 พ.ค.) ธปท. ได้หารือเร่งด่วนกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อเร่งรัดการช่วยเหลือลูกหนี้เอสเอ็มอี ภายใต้ พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู และโครงการพักทรัพย์ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อยังทำได้ค่อนข้องน้อยไม่ทันต่อความคาดหวังของผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งมีลูกหนี้เอสเอ็มอีจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อนำสภาพคล่องไปเยียวยากิจการ ดังนั้น ธปท.ต้องการเห็นสถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือเชิงรุกมากขึ้น เพื่อให้การช่วยเหลือถูกกลุ่มเป้าหมาย ทั่วถึง และทันเวลา

“ยังมีลูกหนี้อีกจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึง จึงอยากเห็นสถาบันการเงินควรเข้าไปดูแลเชิงรุกมากขึ้น ธปท.จะขอหารือกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อหาแนวทางทำให้สินเชื่อฟื้นฟูตรงจุด รวดเร็ว เพราะเป็นปัญหาเร่งด่วน เพื่อลดความเดือดร้อน ช่วยเหลือลูกหนี้ได้เร็วขึ้น และกระจายวงกว้างมากขึ้น”

การเร่งรัดการช่วยเหลือลูกหนี้ภายใต้ 2 มาตรการข้างต้น ธปท.มองว่าด้านแรก ระบบแบงก์ต้องมีความพร้อม แต่แบงก์บางแห่งอาจอยู่ระหว่างการปรับปรุงพัฒนาระบบ แม้จะผ่านมากว่า 3 สัปดาห์หลังจากพ.รก.มีผลบังคับใช้ ด้านที่สอง พนักงานของธนาคารเองต้องมีความพร้อม รู้และเข้าใจสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อให้คำปรึกษา ช่วยเหลือกับเอสเอ็มอีได้ ด้านที่สาม สถาบันการเงินจะต้องทำงานเชิงรุก ในการเข้าไปหาลูกหนี้ขนาดเล็กขนาดกลางอย่างรวดเร็ว

“ธปท. อยากเห็นการเข้าไปช่วยเหลือให้เอสเอ็มอีอยู่รอด ด้วยการช่วยเสริมสภาพคล่อง สินเชื่อนี้มีอายุ 2 ปี ช่วงแรก อยากเห็นการใส่เม็ดเงินส่วนนี้เพื่อประคับประคองลูกหนี้ ระยะถัดไปจะต้องมีเงินเพียงพอในการฟื้นฟูปรับปรุงกิจการหลังโควิดด้วย"

สำหรับการอนุมัติสินเชื่อฟื้นฟู นับจากวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา มียอดการอนุมัติสินเชื่อแล้วราว 1.6 หมื่นล้านบาท มีเอสเอ็มอีได้รับสินเชื่อ 6,600 ราย วงเงินอนุมัติเฉลี่ย 2.11 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่า เงินที่ได้รับการช่วยเหลือไปสู่ผู้ประกอบการรายเล็ก โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่มีวงเงินต่ำกว่า 5 ล้านบาท คิดเป็น 63% ธุรกิจที่ได้รับการช่วยเหลือส่วนใหญ่เป็นธุรกิจค้าส่งค้าปลีก

ขณะที่โครงการพักทรัพย์พักหนี้ มีเอสเอ็มอียื่นเข้าโครงการแล้ว 4 ราย มูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับโอน 910 ล้านบาท และมีลูกหนี้อีกจำนวนมากที่สนใจทยอยยื่นความประสงค์ขอเข้าพักทรัพย์พักหนี้   สำหรับมาตรการพักหนี้เอสเอ็มอี ที่จะหมดอายุมาตรการ สิ้นเดือน มิ.ย.นี้  ธปท.อยู่ระหว่างหารือ คาดได้คำตอบต้นเดือน มิ.ย. อย่างไรก็ตาม หากลูกหนี้ไม่สามารถพิสูจน์กระแสเงินสดในอนาคตได้ แบงก์ก็สามารถขยายระยะเวลาการพักหนี้ต่อไปได้ แต่สิ่งที่ ธปท.อยากเห็น คือการปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุกที่ตอบโจทย์ในการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะยาวและยั่งยืน