รู้เอาไว้กับวิธีการเสพข่าว 'โควิด-19'

รู้เอาไว้กับวิธีการเสพข่าว 'โควิด-19'

หลังจากต้องเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มานานมากกว่า 1 ปี และต้องรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับโรคระบาดจากทุกทิศทาง จึงจำเป็นที่ต้องตรวจเช็คสุขภาพจิตของตัวเองมากขึ้น เพราะอาจมีการวิตกกังวลโดยไม่รู้ตัว ที่จะนำไปสู่โรคทางจิตเวชได้

สถานการณ์ของโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ จนทำให้หลายคนที่เสพข่าวสารข้อมูลเกิดอาการต่างๆ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจจากการเสพข่าวการติดเชื้อที่เกิดขึ้น กับตัวเองโดยที่เราไม่รู้ตัว

เช่น บางคนอาจเคยไปในสถานที่เสี่ยงต่อโรคและคิดว่าตนเองได้ติดเชื้อไปแล้วจากการไปพื้นที่เดียวกัน และยิ่งถ้าตามเข้าไปอ่านคอมเมนต์จากคนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญแล้วด้วย เราจะได้แต่ข้อมูลที่จะยิ่งทำให้เกิดความกลัว วิตกกังวล และสุขภาพจิตของเราจะยิ่งแย่ไปด้วย

อาการผลจากการเสพข่าวสารการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น หลายคนอาจจะเคยเกิดอาการทางร่างกายและจิตใจต่างๆ ร่วมไปด้วยแบบไม่รู้ตัว เช่น กระวนกระวาย อ่อนเพลีย หงุดหงิด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไม่มีสมาธิ มีปัญหาการนอนหลับ หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น เหงื่อออก เจ็บหน้าอก รู้สึกสำลัก เวียนหัว คลื่นไส้หรือท้องปั่นป่วน หนาวสั่นหรือร้อนวูบวาบ มีความคิดวิตกกังวลที่มีการคิดซ้ำๆ มีปัญหาพฤติกรรมและสัมพันธภาพกับผู้อื่น รวมถึงมีการตอบสนองต่อความคิดด้วยการทำพฤติกรรมซ้ำๆ เช่น กลัวว่าจะติดโรค จึงทำการล้างมือบ่อยๆ ใช้เจลแอลกอฮอล์ตลอดเวลา 

หากเราอยู่ในสภาวะของอาการที่เกี่ยวข้องกับความวิตกกังวลไปนานๆ หลายสัปดาห์ อาจจะทำให้เกิดโรคทางจิตเวชได้ เช่น

1.โรควิตกกังวลทั่วไป คือ การมีความกังวลในเรื่องชีวิตประจำวันทั่วไปนานและมากเกินไป เช่น เรื่องงาน ครอบครัว หรือเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ทำให้มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

2.โรคแพนิก คือ การที่อยู่ดีๆ เกิดอาการกลัวและวิตกกังวลขึ้นมาเป็นพักๆ โดยไม่มีสาเหตุ

3.โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง (โรคโฟเบีย) คือ การกลัวมากเกินไปเกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่าง สถานการณ์บางอย่างหรือกิจกรรมบางอย่างที่เฉพาะเจาะจง เช่น กลัวเชื้อโรค กลัวสกปรก

4.โรคย้ำคิดย้ำทำ คือ ความคิดวิตกกังวลที่มีการคิดซ้ำๆ และมีการตอบสนองต่อความคิดด้วยการทำพฤติกรรมซ้ำๆ เช่น การล้างมือบ่อยๆ

สำหรับการติดตามข่าวสารการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ห่างไกลจากความวิตกังวลนั้น มีข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต แนะให้ใช้หลัก 5 วิธีที่ควรปฏิบัติ ได้แก่

1.แบ่งเวลาติดตามข่าวสารอย่างพอดี หรือไม่ควรติดตามต่อเนื่องนานเกิน 2 ชั่วโมง เพราะจะทำให้จิตใจไม่สงบ เครียดและวิตกกังวลมากขึ้น ถ้าหากรู้ตัวได้เร็วก็ให้หากิจกรรมอื่นๆ มาทำเพื่อเบี่ยงเบนความคิดและความสนใจ 

2.ทำกิจวัตรประจำวันให้เป็นปกติ เรียนหนังสือ การทำงาน และการให้เวลากับครอบครัว ทำกิจกรรมที่ชอบ ละเว้นการรับรู้ข่าวการเจ็บป่วยและการแพร่ระบาดของโรคบ้าง

3.ไม่ดูข่าวหรือรับข้อมูลข่าวสาร เรื่องการเจ็บป่วยหรือจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพียงเรื่องเดียว ควรมีความเข้าใจ และเปิดกว้างและรับข้อมูลข่าวสารที่แตกต่างมีความหลากหลาย เช่น ข่าวความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ข้อมูลเรื่องอาหาร สุขภาพ บันเทิง และวัฒนธรม

4.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง 

5.การผ่อนคลายความวิตกกังวล โดยการสนใจทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่การเสพข้อมูลข่าวสาร เช่น การทำกิจกรรมกับคนในครอบครัว ทำความสะอาดบ้าน ทำงานอดิเรก เช่น การออกกำลังกาย ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ฝึกโยคะ เล่นกับสัตว์เลี้ยง ปลูกต้นไม้ เป็นต้น

สำหรับการรับรู้ข่าวสารและการติดตามสถานการณ์โควิด-19 อย่างใกล้ชิดนั้นเป็นเรื่องที่ดี ที่เราจะปกป้องดูแลสุขภาพของตัวเราเองและคนที่เรารัก แต่หากรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากเกินไปจะทำให้เกิดความไม่สบายใจ ซึ่งข่าวบางข่าวก็อธิบายเหตุผลได้ไม่ครบ 100% เราจึงต้องมีสติ และเข้าใจในการรับรู้ข่าวสารที่จะไม่ทำให้ตนเองไม่สบายใจ หรือต้องเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวชเพิ่มขึ้นอีก

หากอาการยังไม่ดีขึ้น เช่น มีอาการความวิตกกังวลที่รุนแรง ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ สามารถขอรับบริการปรึกษาที่สถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อหาทางแก้ไขที่เหมาะสมต่อไป