ไทยเจอติด'โควิดสายพันธุ์อินเดีย'แล้ว 36 ราย

ไทยเจอติด'โควิดสายพันธุ์อินเดีย'แล้ว 36 ราย

สธ.เผยพบติดโควิด19 สายพันธุ์อินเดีย 36 ราย ไทย-เมียนมา-กัมพูชา ย้ำการแพร่กระจายโรค-ความรุนแรงของโรคยังไม่พบว่าต่างจากสายพันธุ์อังกฤษ ไม่ดื้อต่อวัคซีน โดยเฉพาะ"วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า" เร่งถอดรหัสพันธุกรรมทั้งก่อนระบุได้เชื้อหลุดเข้าไทยทางฝั่งไหน

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส Covid 19 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ตรวจรหัสพันธุกรรมจากตัวอย่างที่ส่งมาจากแคมป์คนงานก่อสร้าง และบริเวณใกล้เคียง จำนวน 80 ตัวอย่าง พบว่าเป็นสายพันธุ์อินเดีย (B.1.617.2) จำนวน 36 ราย เป็นคนไทย 21 ราย คนงานชาวเมียนมา 10 รายและกัมพูชา 5 ราย ที่เหลือเป็นสายพันธุ์อังกฤษ (B.1.1.7) และยังมีตัวอย่างจากการค้นหาเชิงรุก จากพื้นที่อื่นใน กทม.อีก 2 แห่ง แต่พบเป็นสายพันธุ์อังกฤษทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ในประเทศไทย เชื้อที่พบจะเป็นสายพันธุ์อังกฤษ 87% เพิ่งตรวจพบสายพันธุ์อินเดีย และจะได้ขยายการนำตัวอย่างจากคลัสเตอร์อื่นๆ มาตรวจรหัสพันธุกรรม เพื่อดูการกระจายตัวต่อไป

ทั้งนี้ ห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถตรวจรหัสพันธุกรรม แบบทั้งตัว (Whole Genome Sequencing) ได้สัปดาห์ละ 384 ตัวอย่าง ซึ่งมากกว่ามาตรฐานที่ WHO ต้องการสัปดาห์ละ 150 ตัวอย่าง โดยจะเก็บมาจากทุกส่วนของประเทศ และกรณีต้องการทราบผลเร็วก็สามารถตรวจแบบ Targeted Sequencing ซึ่งใช้เวลา 1-2 วันอีกด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า สายพันธุ์อินเดียพบในชุมชนด้วยใช่หรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า จากตัวอย่างเชื้อที่ส่งมานั้น ทางรพ.จุฬาภรณ์ เป็นผู้ส่งมา โดยก็มีการเก็บมาจากแคมป์คนงานหลายแห่งในเขตหลักสี่ รวมถึงชุมชนในละแวกนั้นด้วย ซึ่งใน 36 ตัวอย่างนี้ก็เป็นตัวอย่างที่เก็บมาจากชุมชนด้วย ก็เท่ากับว่ามีการพบเชื้อในชุมชนแล้ว ตอนนี้กำลังมีการเก็บตัวอย่างในชุมชน ย่านหลักสี่เข้ามาตรวจเพิ่มเติม อย่างไรก็ในพื้นที่อื่นๆ ที่ส่งเข้ามา เช่น สะพานสูง และคลองเตยยังเป็นสายพันธุ์อังกฤษ แต่ทั้ง 2 สายพันธุ์ไม่มีความแตกต่างกัน

ส่วนในต่างจังหวัด รวมถึงจังหวัดชายแดน จากการถอดรหัสพันธุกรรมยังไม่พบสายพันธุ์อินเดีย ตอนนี้ก็มีการเก็บตัวอย่างกว่า 300 ตัวอย่างมาตรวจเพิ่มแล้ว


เวลา 15.00 น.วันที่ 21 พ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวถึงการพบโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียในแคมป์คนงานก่อสร้างหลักสี่ ว่า โรคโควิด-19 เป็นเชื้อ ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จากสายพันธุ์ดั้งเดิมที่อู่ฮั่น จนขณะนี้มีหลายสายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่ให้ความสนใจ คือ 1.กลายพันธุ์แล้วมีการแพร่ระบาดง่ายขึ้น 2. กลายพันธุ์แล้วทำให้ความรุนแรงของโรคมากขึ้นหรือง่ายขึ้น เสียชีวิตมากขึ้น และ3. กลายพันธุ์แล้วทำให้วัคซีนไม่มีประสิทธิภาพหรือป้องกันโรคไม่ดี โดยสายพันธุ์ที่ทั่วโลกจับตามอง คือ สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์บราซิล สายพันธุ์แอฟริกาใต้


สำหรับ 4 สายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์บราซิล สายพันธุ์แอฟริกาใต้ เป็นสายพันธุ์ที่ประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัย ห้องปฏิบัติการต่างๆ มีการถอดรหัสพันธุกรรม และรวบรวมข้อมูลและใช้หลักการทางระบาดวิทยาในการอ้างอิง ซึ่งสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์อังกฤษ เนื่องจากระบาดรวดเร็วมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม นอกจากนี้ ยังมีสายพันธุ์Gและสายพันธุ์ดั้งเดิมเล็กน้อย ส่วนสายพันธุ์อินเดีย ขณะนี้ระบาดมากในอินเดีย และพบในหลายประเทศ มีประเทศที่ถอดรหัสพันธุกรรมและพบคือ อังกฤษ รอบบ้านของไทยที่พบคือมาเลเซีย ส่วนที่ระบาดที่สนามบินซางฮีในสิงคโปร์ ข้อมูลเบื้องต้นบอกว่าสายพันธุ์อินเดีย ส่วนเมียนมาและกัมพูชายังมีข้อมูลค่อนข้างจำกัด แต่เชื่อว่ามีสายพันธุ์อินเดีย ดังนั้น ประเทศไทยก็มีโอกาสที่จะมีสายพันธุ์อินเดียหลุดลอดเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย ซึ่งจะมีการจับตาอย่างใกล้ชิด สฝ

“ส่วนที่พบการแพร่ระบาดโควิด-19ที่แคมป์คนงานหลักสี่ พบว่าตรงกับสายพันธุ์อินเดีย จึงต้องมีการเร่งรัดสอบสวนควบคุมโรค” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า สายพันธุ์นี้ที่มีข้อมูลมากสุด คือ จากประเทศอังกฤษ โดยหน่วยงานสาธารณสุขอิงแลนด์ พบว่า สายพันธุ์อินเดียในเรื่องการแพร่กระจายโรคไม่ได้แตกต่างจากสายพันธุ์อังกฤษ ส่วนความรุนแรงของโรคไม่มีข้อบ่งชี้ว่ารุนแรงกว่าสายพันธุ์อังกฤษ ส่วนการไม่ตอบสนองวัคซีนหรือดื้อต่อวัคซีน พบว่า สายพันธุ์อินเดียไม่ดื้อต่อวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนแอสตราเซเนกา ยังสามารถป้องกันสายพันธุ์อินเดียรวมถึงสายพันธุ์อังกฤษได้ ตัวอย่างที่เห็นอย่างดีคือ อังกฤษใช้แอสตร้าฯ เป็นหลักก็พบว่าการระบาดของเขาลดน้อยลง ทั้งที่ประเทศอังกฤษมีทั้งสายพันธุ์อินเดียและสายพันธุ์อังกฤษอยู่จำนวนมาก

ส่วนวัคซีนของซิโนแวค จากข้อมูลของซิโนแวคเอง และจากที่เรารวบรวม และเทียบเคียงกับหลายประเทศ พบว่าน่าจะยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์อินเดีย ต้องตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง

ต่อข้อถามว่าสามารถหาต้นตอได้หรือไม่ว่าสายพันธุ์อินเดียเข้ามาประเทศไทยได้ทางช่องไหน นพ.โอภาส กล่าวว่า ไทยพบเชื้อสายพันธุ์อินเดีย ครั้งแรกเมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน กรณีที่ผู้เดินทางมาจากปากีสถาน นอกจากนี้ ยังมีรายงานพบว่ามีการระบาดของสายพันธุ์อินเดียในประเทศมาเลเซีย ส่วนเมียนมา และกัมพูชาไม่ได้มีการถอดรหัสพันธุกรรมมากนัก แต่เชื่อว่าน่าจะมีสายพันธุ์อินเดียอยู่ ก็มีโอกาสหลุดมาได้ทุกช่องทาง ดังนั้นเราต้องมาถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว แล้วนำไปเทียบเคียงกับรหัสพันธุกรรมของเชื้อที่พบในประเทศอื่นๆ จึงจะรู้ว่าเชื้อหลุดรอดเข้ามาได้อย่างไร แต่จากการสอบสวนโรคเบื้องต้นทั้ง 15 ราย ไม่ได้เป็นแรงงานผิดกฎหมาย อยู่ในประเทศไทยมาสักระยะหนึ่งแล้ว ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตในแคมป์คนงาน มีออกไปนอกแคมป์บ้าง ก็เป็นสิ่งที่เราต้องลงไปค้นหาต่อไป

ทั้งนี้ ในพื้นที่กทม.ขณะนี้ ศบค.ได้สั่งการให้ตรวจค้นหาในแคมป์คนงานทุกแห่ง ส่วนกระทรวงได้สั่งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่างๆ ให้มีการประสานกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเพื่อทำการค้นหาเชิงรุกผู้ติดเชื้อตามแคมป์คนงาน ตลาด โรงงานงานต่างๆ ด้วย

ถามย้ำว่ามีการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อที่ระบาดตามจังหวัดชายแดนพบเชื้อสายพันธุ์อินเดียหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า เรื่องนี้กระทรวงสาธารณสุขจะมีการถอดรหัสพันธุกรรมตามจุดระบาดต่างๆ ว่าเป็นสายพันธุ์อะไร อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์อะไร การป้องกันตัวเองยังคงเหมือนเดิมคือ การสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ยังคงเป็นมาตรการที่สำคัญ ส่วนยารักษาโรคยังเป็นไปตามแนวทางเดิม คือการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ แต่มีแนวทางในการให้ยาเร็วขึ้นในกลุ่มเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง