BTS ลุยทวงหนี้ 3 หมื่นล้าน ส่งข้อความถึงนายกฯ แก้ปัญหา

BTS ลุยทวงหนี้ 3 หมื่นล้าน ส่งข้อความถึงนายกฯ แก้ปัญหา

“บีทีเอส” ส่งสารถึงนายกฯ วอนแก้ปัญหาด่วน กทม.ค้างหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว 3 หมื่นล้าน สภา กทม.โยนรัฐบาลตัดสิน เสนอเร่งดำเนินการตามแนวทางแลกสัมปทานเอกชนตามคำสั่ง คสช.เหตุต้องเซฟงบประมาณพัฒนาด้านอื่น

รายงานข่าวจากบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS ระบุว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2564 BTS ได้เผยแพร่ข้อความผ่านทางสื่อโฆษณาบนรถไฟฟ้า และสถานีรถไฟฟ้า รวม 98 ขบวน 60 สถานี โดยมีข้อความระบุว่า ตามที่กรุงเทพมหานคร และ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ค้างชำระค่าจ้างเดินรถกว่า 10,000 ล้านบาท ค่าติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลอีก 20,000 ล้านบาท สำหรับการให้บริการเดินรถในส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกรุงเทพมหานคร

“บริษัทฯ ได้พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้สามารถบริการเดินรถให้กับประชาชนได้ แม้จะไม่ได้รับชำระค่าจ้าง ทั้งยังจะมีค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พวกเราขอกราบวิงวอน ฯพณฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้โปรดแก้ไขปัญหานี้ด้วย”

162155863031

รายงานข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาชำระค่าจ้างเดินรถและค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) พร้อมติดตั้งของโครงการระบบขนส่งมวลชนหรุงเทพมหานคร ส่วนต่อขยาย 1 และส่วนต่อขยาย 2 โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2564 สำนักงานจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ได้ทำหนังสือไปถึงบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ชี้แจงถึงความเห็นของการประชุมสภากรุงเทพมหานครที่มีแนวทางและข้อแนะนำในเรื่องการชำระค่าจ้าง

โดยยอมรับว่าที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร ทราบถึงภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นตามที่เอกชนได้ทำหนังสือทวงถาม และได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณานำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี งบประมาณ 2564 เพื่อใช้ในการชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 1 และส่วนต่อขยาย 2

ตั้งงบจ่ายหนี้ไม่เข้าข้อบัญญัติ

อย่างไรก็ดี ที่ประชุมได้มีความเห็นว่าการจ่ายขาดเงินสะสมที่ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการดังกล่าว ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์การจ่ายขาดเงินสะสม ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และจะส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินการคลังและเงินสะสมของกรุงเทพมหานคร ทำให้กรุงเทพมหานครมีงบประมาณไม่เพียงพอที่จะนำไปพัฒนาในด้านอื่นๆ จึงมีมติไม่เห็นชอบให้จ่ายขาดเงินสะสมเพื่อนำไปชำระหนี้ดังกล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครได้มีความเห็น โดยเสนอแนวทางและข้อแนะนำในการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยเห็นควรให้นำเรื่องการกำหนดสัดส่วนการลงทุนระหว่างรัฐบาลกับกรุงเทพมหานคร ขึ้นมาพิจารณาเพื่อให้ได้ข้อยุติ อันจะมีผลทำให้แบ่งเบาภาระหนี้ของกรุงเทพมหานครได้ เพื่อให้เป็นไปตามมติของณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่เคยให้หลักการไว้