สปสช.ประกาศเกณฑ์ยื่นขอเงินเยียวยา ความเสียหายหลังฉีดวัคซีนโควิด-19

สปสช.ประกาศเกณฑ์ยื่นขอเงินเยียวยา ความเสียหายหลังฉีดวัคซีนโควิด-19

สปสช.ประกาศหลักเกณฑ์ยื่นขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับความเสียหายจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องได้ที่ รพ.ที่ไปรับการฉีด สสจ. หรือ สปสช.เขตพื้นที่ ภายใน 2 ปีหลังทราบความเสียหาย แต่ต้องเป็นเฉพาะวัคซีนที่รัฐจัดให้เท่านั้น

วานนี้ (19 พ.ค. 64) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่จะมีการจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนโควิด-19 ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา สปสช.ได้ออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ระดับเขตพื้นที่ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยคำร้อง โดยผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วมีอาการไม่พึงประสงค์ สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ที่โรงพยาบาลที่ไปรับการฉีด สสจ. หรือ สปสช.เขต

นพ.จเด็จ กล่าวว่า การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นที่เป็นความเสียหายจากการรับวัคซีนโควิด-19 ครอบคลุมคนไทยทุกสิทธิไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ ฯลฯ อย่างไรก็ดี วัคซีนที่ฉีดนั้น ต้องเป็นวัคซีนตามแผนงานโครงการที่รัฐจัดให้ฟรี และขอย้ำว่าการช่วยเหลือเบื้องต้นนี้ไม่รวมถึงวัคซีนทางเลือกที่ให้โดยโรงพยาบาลเอกชนและมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้ ผู้ที่มีสิทธิยื่นคำร้องได้แก่ผู้รับวัคซีน ทายาท ผู้อุปการะ หรือโรงพยาบาลที่ให้บริการ โดยสามารถยื่นได้ที่โรงพยาบาลนั้นๆ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือที่ สำนักงาน สปสช.สาขาเขตพื้นที่ โดยมีระยะเวลายื่นคำร้องได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ทราบความเสียหาย

“การพิจารณาว่าจะจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น เป็นจำนวนเท่าใด คณะอนุกรรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นฯ ในระดับเขตพื้นที่ จะพิจารณาโดยคำนึงถึงความรุนแรงของความเสียหายและเศรษฐานะของผู้เสียหาย และจ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกินอัตราที่กำหนด คือ กรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องรักษาตลอดชีวิต จ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท สูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบกับการดำเนินชีวิต จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท และบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่องจ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท" นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า เมื่อมีผู้มายื่นคำร้องแล้ว คณะอนุกรรมการฯ ระดับเขตพื้นที่จะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัย ก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อเลขาธิการ สปสช. ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบผลการวินิจฉัย นอกจากนี้แล้ว ในกรณีที่เลขาธิการ สปสช. ไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ก็ยังสามารถเสนอให้คณะกรรมการ สปสช. วินิจฉัยอุทธรณ์ได้อีกชั้นหนึ่งด้วย

162148363491

162148363474

162148363467