หนังเล่าโลก: Collective ‘เปิดโปงรัฐบาลคือหน้าที่สื่อ’

หนังเล่าโลก: Collective  ‘เปิดโปงรัฐบาลคือหน้าที่สื่อ’

เมื่อการบริหารงานของรัฐบาลในสถานการณ์วิกฤติไม่ได้ผล สื่อมวลชนจะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ทำหน้าที่ตรวจสอบแทนประชาชน

การวัดฝีมือรัฐบาลมีตัวชี้วัดหลายอย่าง เช่น ตัวเลขจีดีพี ความเหลื่อมล้ำในสังคม อันดับโลกในมิติต่างๆ นานา รวมถึงวิกฤติสาธารณสุขก็บ่งบอกได้ว่ารัฐบาลรับมือได้มากน้อยแค่ไหน และหากรัฐบาลไม่พูดความจริงสื่อมวลชนก็ต้องทำหน้าที่ชนิดกัดไม่ปล่อย อย่างภาพยนตร์เรื่อง Collective 

Collective เป็นภาพยนตร์สารคดีจากประเทศโรมาเนีย เมื่อปี 2562 ผลงานการกำกับของ Alexander Nanau บอกเล่าเรื่องราวอันเป็นผลพวงจากเหตุไฟไหม้ไนท์คลับชื่อ Colectiv กลางกรุงบูคาเรสต์ เมื่อคืนวันที่ 30 ต.ค.2558 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 27 คน บาดเจ็บอีกกว่า 180 คน ที่เป็นประเด็นคือต่อมามีผู้เสียชีวิตในโรงพยาบาลจากอาการติดเชื้ออีก 37 คน มากกว่าเสียชีวิตในที่เกิดเหตุเสียอีก คนที่สงสัยเรื่องนี้คือ  กาตาลิน โตลอนตัน นักข่าวจาก Sport Gazette หนังสือพิมพ์ข่าวกีฬารายวันและทีมงาน พวกเขาสืบไปจนพบว่า สาเหตุมาจากน้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้ในโรงพยาบาลเกือบทั่วประเทศถูกเจือจางลงเหลือแค่ 10% จากปกติ เมื่อสาวต่อไปจึงพบการทุจริตอย่างเป็นระบบในกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่รัฐมนตรีสาธารณสุขได้แต่กล่าวซ้ำๆ ว่า โรงพยาบาลโรมาเนียมีมาตรฐานเทียบเท่ากับในเยอรมนี สุดท้ายทนโกหกต่อไปไม่ไหวต้องลาออกไป ได้ วลาด วอยคูเลสคู (Vlad Voiculescu) อดีตนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้ป่วยมาเป็น รมว. รับหน้าที่ปฏิรูประบบสาธารณสุขแทน แน่นอนว่าเป็นงานยากในประเทศที่การทุจริตฝังรากลึกมานาน 

เว็บไซต์ foreignpolicy.com ระบุว่า โศกนาฏกรรมครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนของโรมาเนีย เป็นวิกฤติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนับตั้งแต่การปฏิวัติในปี 2532 ที่ปิดฉากการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์

โรมาเนียมีอันดับคุณภาพชีวิตและสังคมต่ำที่สุดในสหภาพยุโรป ใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพและการศึกษาน้อยที่สุดประเทศหนึ่งเช่นกัน  เมื่อคนหนุ่มสาวได้เดินทางไปท่องเที่ยวหรือทำงานในประเทศอียูอื่นๆ จึงได้เห็นความแตกต่างอย่างมากกับชีวิตในโรมาเนีย ปัญหาใหญ่สุดประการหนึ่งคือการทุจริต และคนที่ออกมาเปิดโปงเป็นนักข่าวกีฬาก็เพราะพวกเขาคุ้นเคยกับการฉ้อโกงอันซับซ้อนในวงการกีฬา 

กาตาลิน โตลอนตัน เล่าว่า พวกเขาใช้ความพยายามอย่างมากในการขุดความผิดพลาดของระบบสาธารณสุข ค้นหาข้อมูลจากเหตุผิดปกติมากมาย ตั้งแต่ติดสินบนและโกหกหลอกลวงไปจนถึงการแอบเปิดบัญชีลับนอกประเทศและการฆ่าตัวตายปริศนา

เมื่อความอัปยศถูกตีแผ่ออกมา ประชาชนหลายหมื่นคนโกรธเคืองออกมาประท้วงกดดันให้เปลี่ยนรัฐบาลและจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ผลการเลือกตั้งยังได้พรรคการเมืองเดิม ราวกับว่าโอกาสแห่งการเปลี่ยนแปลงแทบไม่มี 

ถึงวันนี้ 6 ปีผ่านไปโรมาเนียกำลังเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ระบาด เกลู ดูมินิกา นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยบูคาเรสต์เห็นพ้องว่า ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนัก “Colectiv  เปิดโอกาสให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่น่าเสียดายที่เราไม่ได้ใช้โอกาสนั้น เผลอๆ สิ่งเดียวที่เราได้คือเสียงของภาคประชาสังคมแข็งแกร่งขึ้น ประชาชนกล้าพูดและประท้วงอย่างอาจหาญมากขึ้น นอกเหนือจากนี้ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน ในทางตรงข้ามมีแต่จะแย่ลง” นักวิชาการกล่าวโดยชี้ถึงเหตุไฟไหม้หอผู้ป่วยโควิด-19 สองแห่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา

ผู้เขียนดูหนังเรื่องนี้ตั้งแต่เดือน เม.ย. และมัวแต่เขียนข่าวเรื่องอื่นๆ จนเกือบจะข้ามหนังเรื่องนี้ไปแล้ว แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สูงต่อเนื่อง ประกอบกับการฉีดวัคซีนยังออกอาการผิดฝาผิดตัวระหว่างคนที่อยากฉีดแต่ไม่ได้ฉีดเพราะระบบยังไม่เอื้อ กับคนที่ไม่อยากฉีดเพราะอยากได้วัคซีนยี่ห้ออื่นกำลังถูกกดดันกลายๆ ให้ต้องไปฉีดทั้งๆ ที่ควรจะมีทางเลือกให้ประชาชนมากกว่านี้ 

 ความอิหลักอิเหลื่อเช่นนี้สะท้อนถึงความสามารถในการบริหารจัดการของรัฐบาลที่ผู้นำดำรงตำแหน่งมาต่อเนื่อง 7 ปีนับจากวันรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ภาพยนตร์เรื่อง Collective จึงสมควรนำมาพูดถึงเพื่อเตือนใจว่า หากรัฐบาลสื่อสารข้อมูลในสถานการณ์วิกฤติไม่ชัดเจน สื่อมวลชนจะต้องนำความจริงมาตีแผ่ ไม่ใช่เออออตามๆ กันไปอย่างเซื่องๆ ราวกับเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ