ปตท.-กฟผ.คาดชงรัฐแผนร่วมทุนคลังแอลเอ็นจีภาคใต้ปีนี้หรือปีหน้า

ปตท.-กฟผ.คาดชงรัฐแผนร่วมทุนคลังแอลเอ็นจีภาคใต้ปีนี้หรือปีหน้า

ปตท. พร้อมจับมือ กฟผ. ลงทุนคลังก๊าซ LNG ภาคใต้ รองรับโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ กำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ คาดสรุปรายละเอียดโครงการเสนอรัฐอนุมัติภายในปีนี้ หรือ ปีหน้า

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า ปตท.และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมลงทุนโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) หรือ LNG Terminal ในพื้นที่ภาคใต้ ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018Revision1) โดยอยู่ระหว่างดำเนินการในกระบวนการทางเทคนิค และพื้นที่จัดตั้ง Terminal ที่เหมาะสม ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายได้จัดตั้งทีมงานดำเนินการในรายละเอียดต่างๆร่วมกัน

 

เบื้องต้น ในส่วนของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี กำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ ทาง กฟผ.จะเป็นผู้ดำเนินการ ขณะที่ ปตท.จะเป็นผู้ลงทุนโครงข่ายท่อส่งก๊าซฯ ส่วน Terminal ยังต้องศึกษาร่วมกันและอยู่ระหว่างหาแนวทางดำเนินการที่เหมาะสมร่วมกัน

 

ส่วนปริมาณก๊าซฯ นั้น หากพิจารณาจากความต้องการใช้ก๊าซฯที่จะป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี จำนวน 2 โรง (ชุดที่ 1 ขนาด 700 เมกะวัตต์(MW) เข้าระบบปี 2570 กับชุดที่ 2 ขนาด 700 MW เข้าระบบปี 2572) และโรงไฟฟ้าใกล้เคียงในพื้นที่ เช่น โรงไฟฟ้าขนอม คาดว่า จะมีความต้องการใช้ LNG อยู่ที่ 3-5 ล้านตันต่อปี

 

“โครงการนี้จะเสนอรัฐพิจารณาเมื่อไหร่นั้น ยังต้องขอหารือกับ กฟผ. เพราะ ปตท.ไม่สามารถตัดสินใจฝั่งเดียวได้ แต่กระบวนการสุดท้ายยังไงก็ต้องเสนอรัฐอนุมัติ ซึ่งตามแผน PDP กำหนดให้คลังก๊าซฯต้องเกิดขึ้นราวปี 2568-2569 ถ้าย้อนกลับมาโครงการ ก็ต้องขออนุมัติไม่ปีนี้ ก็ปีหน้า”

 

ส่วนมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2564 ที่อนุมัติให้ กฟผ. ปรับรูปแบบการลงทุนจากโครงการคลังรับจ่ายก๊าซ LNG ลอยน้ำ (FSRU) ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน (F-1) ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 โดยให้เปลี่ยนไปร่วมลงทุน กับ ปตท.ในโครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) ต.หนองแฟบ จ. ระยอง ขนาด 7.5 ล้านตันต่อปี โดยให้ถือหุ้นฝ่ายละ 50% นั้น ปัจจุบัน อยู่ระหว่างรอให้ กฟผ.เข้ามาศึกษารายละเอียดต่างๆในโครงการ ซึ่งโครงการนี้ มีมูลค่าการลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท ฉะนั้นในแง่ของเงินลงทุน ก็คงจะต้องมาพิจารณาร่วมกันว่าจะเป็นรูปแบบใด ซึ่งโดยหลักการทั่วไป ก็มี 2 วิธี คือพิจารณาจากเงินลงทุนที่ลงทุนไปแล้ว กับ ประเมินจากมูลค่าโครงการในปัจจุบัน ก็เป็นเรื่องที่ต้องหารือในรายละเอียดร่วมกันต่อไป

นายวุฒิกร ยังกล่าวถึง กรณีที่ กฟผ.มีแผนเตรียมเปิดประมูลจัดหาและนำเข้า LNG ล็อตใหม่ในช่วงปลายปีนี้ว่า ในส่วนของ ปตท.ไม่ได้มีข้อจำกัดอะไร สามารถร่วมการประมูลได้ตามกฎหมาย แต่จะตัดสินใจเข้าร่วมการประมูลหรือไม่นั้น ยังต้องรอความชัดเจนในเรื่องของปริมาณนำเข้า LNG ที่ กฟผ.จะเปิดประมูลด้วย ซึ่งต้องรอดูว่าปริมาณนำเข้าจะคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่

 

ก่อนหน้านี้ นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า เม็ดเงินลงทุนสำหรับโครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) เบื้องต้นจะเป็นการโยกเงินลงทุนจากโครงการ FSRU ที่อ่าวไทยเดิม ที่ กฟผ.จะดำเนินการ มาใช้สำหรับลงทุนในโครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) แทน ส่วนจะจ่ายเป็นก้อนหรือทยอยชำระตามสัดส่วนการลงทุนจากนั้น ยังต้องหารือในรายะเอียดกับ ปตท.ต่อไป อย่างไรก็ตาม กฟผ.มีความพร้อมที่จะร่วมลงทุนในโครงการนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา กฟผ.ได้เตรียมความพร้อมและศึกษาวิธีการต่างๆมาพอสมควร

 

ทั้งนี้ กฟผ. ได้ทบทวนแผนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาด LNG ในปัจจุบัน จากแผนเดิมที่มีระยะเวลา 3 ปี (2564 – 2566) เป็นการจัดหา LNG ในสัญญาระยะกลาง 5 - 7 ปี วงเงินงบประมาณ 7 หมื่นล้านบาท โดยอยู่ระหว่างเตรียมการนำเข้า LNG และวางแผนการจองใช้ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสถานี LNG ให้มีความเหมาะสมสูงสุด คาดว่าจะเปิดให้มีการประมูลราคาผู้จัดหาและนำเข้า LNG ให้กับ กฟผ. และนำเสนอคณะกรรมการ กฟผ. พิจารณาประมาณเดือนมิถุนายน - สิงหาคม 2564 นี้ เพื่อให้เริ่มนำเข้าได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ที่ปริมาณนำเข้าเฉลี่ยประมาณ 3 แสนตัน สำหรับปี 2565 เป็นต้นไป เบื้องต้นคาดว่าจะนำเข้า LNG ในปริมาณ 1.3 ล้านตันต่อปี เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกงทดแทน เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง