ทูตเกษตรแนะใช้มาตรการภาษีช่วยผู้ส่งออกกุ้งในตลาดสหรัฐ

ทูตเกษตรแนะใช้มาตรการภาษีช่วยผู้ส่งออกกุ้งในตลาดสหรัฐ

ทูตเกษตร แนะรัฐใช้มาตรการภาษีเพิ่มศักยภาพผู้ส่งออกกุ้งไทยในตลาดสหรัฐฯหลังการแข่งขันรุนแรง ราคาแพงกว่าคู่แข่ง 2 เท่า ขณะความต้องการของตลาดฝ่าโควิดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

รายงานจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.เปิดเผยว่า แนวโน้มการนำกุ้งของสหรัฐฯ มีความต้องเพิ่มขึ้น ถึง  2.7 % แม้ว่าจะมีการระบาดของโรคโควิด ส่วนใหญ่จะนำเข้าในช่วงไตรมาสที่  3 ละ  4  ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อน และช่วงเทศกาลสำคัญ ประมาณ 5 แสนตันต่อปี  มูลค่าประมาณ 1.42 แสนล้านบาท  จากผู้ส่งออกหลัก คือ อินเดีย 42 %  อินโดนีเซีย 21 % เอกวาดอร์ 16 %และประเทศไทย เป็นอันดับ 6 อัตรา 4 % 

            ในขณะที่ประเทศผู้ส่งออกดังกล่าว ได้รับผลกระทบจากการการระบาดของโรคโควิด19  โดยความสามารถและปริมาณการส่งออกลดลง ซึ่งอินเดียผลผลิตกุ้งลดลงกว่า 293% เอกวาดอร์  เกิดปัญหาตรวจพบเชื้อไวรัส บนภาชนะบรรจุสินค้ากุ้งจนเป็นเหตุให้ประเทศจีนประกาศห้ามนำเข้าสินค้ากุ้งของ 3 บริษัท

                สำหรับไทยแม้อุตสาหกรรมกุ้งไม่ได้รับผลกระทบจากโควิดโดยตรง แต่ มีข้อเสียเปรียบในด้านราคาในตลาดกุ้งของประเทศสหรัฐ ที่ผู้ส่งออกทุกรายได้ปรับลดราคาลงเพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้  ขณะที่กุ้งไทย ปีที่ผ่านมามีการปรับราคาขึ้นเป็น 11.92 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงที่สุด ในรอบ 6 ปี และเมื่อเปรียบกับปี 62 เพิ่มขึ้น 1.36%  หรือ มีราคาสูงกว่าผู้ส่งออกหลักในตลาดประมาณ 2 เท่า ซึ่งเป็น ปัจจัยด้านลบที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการนำเข้ากุ้งของไทยในตลาดสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตลาดกุ้งดิบ กุ้งแช่เย็น และกุ้งแช่แข็ง ของสหรัฐฯ ยังเป็นตลาดที่ใหญ่ มีความต้องการนำเข้ามากกว่า  5 แสนตันต่อปี และมีแนวโน้มการขยายของตลาดที่ต่อเนื่อง และแม้ว่าจะมีการระบาดของโรคโควิด  แต่ก็ไม่กระทบต่อความต้องการนำเข้ากุ้งของสหรัฐฯ มากนัก 

                ดังนั้น การลดช่องว่างด้านราคาสินค้ากุ้งไทยกับประเทศคู่แข่ง จึงจะเป็นปัจจัยหลักที่จะขยายการส่งออกกุ้งของไทย การเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้นและการลดต้นทุนการผลิต การสร้างมาตรฐานด้านคุณภาพ  ซึ่งทั้งหมดนี้รัฐบาลควรให้ความสำคัญ และนำมาพิจารณาเพื่อปรับใช้รวมไปถึงการส่งเสริมการส่งออกของภาครัฐ เช่น มาตรการ ด้านภาษีเพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพการส่งออกของกุ้งไทยในตลาดสหรัฐฯ

 

นอกจากนี้ไทยต้องมองหานวัตกรรมใหม่เข้ามาช่วยทดแทนสินค้าประมง ที่ปริมาณการผลิตลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลาย บริษัททั้งจากประเทศสหรัฐฯและจากประเทศในแถบยุโรป ได้มีการนำเอานวัตกรรมเพื่อการผลิตเป็นอาหาร เช่น โปรตีนจากพืช (plant-based products) มาใช้กับสินค้าประมง

 

 โดยเมื่อเร็วๆ มานี้ บริษัท Revo Foods จากประเทศออสเตรียได้มีการเสนอผลิตผลิตภัณฑ์ปลาแซลมอนรมควันที่ทำจากพืช (plant-based salmon) ด้วยการพิมพ์แบบ 3 มิติ ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อว่า “Salmon with Attitude” โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีลักษณะ และรสชาติใกล้เคียงกับสินค้าจริง จึงคาดว่าผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากนวัตกรรมในลักษณะนี้จะมีในท้องตลาดเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่องในอนาคต