'ดีจีเอ' ปรับแผนรุกแพลตฟอร์มภาครัฐ หนุนรัฐบาลดิจิทัลเชิงรุก

'ดีจีเอ' ปรับแผนรุกแพลตฟอร์มภาครัฐ หนุนรัฐบาลดิจิทัลเชิงรุก

เร่งขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลเชิงรุกรับสถานการณ์โควิด เร่งพัฒนาแพลตฟอร์มกลางเชื่อมประชาชนติดต่อภาครัฐผ่านทางออนไลน์

นายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ ดีจีเอ กล่าวว่า จาการประชุมคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ผที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาสถาปัตยกรรมรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งประกอบด้วย 1.แพลตฟอร์มกลางในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ เพื่อให้เกิดมิติใหม่ในการบริการประชาชนโดยไม่ต้องเตรียมเอกสารจำนวนมาก ลดการใช้สำเนาเอกสาร และลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน สามารถให้บริการประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์สอดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคิด-19

2.พัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลด้านดิจิทัล (ดิจิทัล ไอดี) โดยจะเริ่มนำร่องกับข้าราชการพลเรือนสามัญ รวมถึงการใช้ลายมือชื่อดิจิทัล (อี-ซิกเนเจอร์) ในการลงนามเอกสารราชการต่างๆ ที่ไม่ต้องดำเนินการในรูปแบบกระดาษ 3. ระบบบัญชีข้อมูลภาครัฐ เพื่อให้ประชาชน ภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ สามารถเข้าถึงข้อมูลภาครัฐได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งปัจจุบันไทยได้รับการเลื่อนอันดับดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์เป็นอันดับที่ 57 ของโลกจาก 193 ประเทศ และเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้ดีจีเอเร่งพัฒนาศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลาง สำหรับการบูรณาการข้อมูลภาครัฐ ในระยะเวลา 2 ปี พ.ศ. 2564-2566 และจัดทำมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวทางการดำเนินการศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลาง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามแผนพัฒนามาตรฐานภายใต้ชื่อ “มาตรฐานการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ” โดยแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนข้อมูลจะทำงานร่วมกับระบบบัญชีข้อมูล ระบบการยืนยันและกำหนดสิทธิการใช้งาน และบริการดิจิทัลต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้ภาครัฐสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนได้แบบครบวงจร เช่น ระบบการยื่นภาษีของกรมสรรพากรจะขอใช้ข้อมูลบุคคลจากกรมการปกครอง การให้บริการด้านธุรกิจแบบเบ็ดเสร็จ

“เพื่อยกระดับการบริหารจัดการภาครัฐและการให้บริการประชาชนไปสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เราได้เตรียมระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐในการรับ-ส่งเอกสารผ่านช่องทางออนไลน์ได้ พร้อมมีระบบ e-CMS สนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างระบบสารบรรณกลาง กับระบบสารบรรณของแต่ละหน่วยงาน โดยใช้ควบคู่กับระบบพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลทางดิจิทัลสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ และการลงลายมือชื่อดิจิทัล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับหน่วยงานภาครัฐและความปลอดภัยของข้อมูล”

อีกทั้ง สพร. อยู่ระหว่างการร่วมมือกับพันธมิตรเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการใบแสดงผลการศึกษาดิจิทัล (Digital Transcript) ให้เป็นรูปแบบไฟล์ PDF/A-3 ที่มีการลงลายชื่อดิจิทัลสามารถป้องกันการปลอมแปลงเอกสารได้ตามมาตรฐานที่กำหนด แทนเอกสารใบแสดงผลการศึกษารูปแบบกระดาษ โดยให้ถือเป็นเอกสารหลักฐานทางราชการ และขยายผลไปยังเอกสารทางการศึกษาอื่น ๆ เพื่อรองรับการเป็นรัฐบาลดิจิทัล และจะขยายผลการให้บริการ ใบแสดงผลการศึกษา ในรูปแบบดิจิทัล ไปยังโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และสถาบันการศึกษาทั้งรัฐและเอกชน ให้สามารถรับและออกเอกสารในรูปแบบดิจิทัลต่อไป