มาตรการระยะ 3 กดหนี้เสียแบงก์ ลดผลกระทบตั้งสำรอง

 มาตรการระยะ 3 กดหนี้เสียแบงก์   ลดผลกระทบตั้งสำรอง

ตลาดหุ้นไทยที่ยังผันผวนและยังเป็นการเก็งกำไรหุ้นที่มีปัจจัยเฉพาะตัวทำให้หุ้นใหญ่อิงเศรษฐกิจจึงไม่ได้ปรับตัวขึ้นตาม  ยิ่งหุ้นในกลุ่มธนาคารเจอแรงกดดันจากการปรับคาดการณ์จีดีพีปีนี้ของไทยมาจากการระบาดโควิดจนทำให้หุ้นในกลุ่มนี้หมดความน่าสนใจลงหรือยัง

 

ช่วงที่ผ่านมาแนวโน้วการเกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนทำให้กลุ่มแบงก์เจอแรงกดดันจากความกังวลมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ทั้ง ลด ชะลอ การจ่ายหนี้ โดยเป็นมาตรการต่อเนื่องที่ทยอยออกมาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

มาตรการดังกล่าวประกาศออกมาจนถึงระยะที่ 3 ซึ่งพุ่งเป้าไปที่สินเชื่อบุคคลทั้งบัตรเครดิต เงินสด สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เช่าซื้อ และสินเชื้อบ้าน  ที่ผ่านมาผลกระทบที่มีแรงสะท้อนไปถึงธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ คือการประกาศมาตรการระยะที่ 2 เริ่มในเดือนก.ค. 2563 ที่ผ่านมา

เนื่องจากมีการลดเพดานดอกเบี้ยถาวร ซึ่งเริ่มใช้วันที่ 1 ส.ค. 2563 โดยกลุ่มบัตรเครดิตเป็น 16 %   สินเชื่อส่วนบุคคลเป็น 25 %  สินเชื่อจำนำทะเบียน 22-24 % จนทำให้เหล่าธนาคารออกมารับลูกหั่นดอกเบี้ยลงมาทันที และกลายเป็นการปรับโครงสร้างดอกเบี้ยครั้งใหญ่ในกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคล

สิ่งที่ตามมาทำให้กลุ่มธนาคารตั้งการ์ดสูงต้องกลับมาตั้งสำรองฯอย่างพร้อมเพียงกันอีกครั้ง ซึ่งจากตัวเลขที่ Stock gossip รวบรวมเปรียบเทียบปี 2562 และปี 2563 สินเชื่อด้อยคุณภาพ ของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวขึ้นแทบทุกธนาคารและยังเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่น่าเป็นห่วง

ยิ่งในกลุ่ม 4 ธนาคารใหญ่ไม่ว่าจะเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เพิ่มขึ้น 19 ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เพิ่มขึ้น 20 ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เพิ่มขึ้น  31.90 %  และธนาคารกรุงไทย (KTB) เพิ่มขึ้น 4.36 %

ส่งผลทำให้อัตราหนี้เสียที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ขยับเพิ่มขึ้นมาเช่นเดียวกัน จนเป็นที่มาว่าในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ปี 2563 กลุ่มธนาคารกลับมาตั้งสำรองอย่างหนักหน่วง   แม้จะมีมาตรการของธปท. มาช่วยประวิงเวลาไม่ให้หนี้เสียเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม

จนมาสู่การระบาดระลอก 3 ซึ่งธปท. ได้ประกาศมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 3 หน้าตาที่ออกมายังเป็นการยืด-พัก –ชะลอ การจ่ายหนี้ออกไป  แต่ที่เพิ่มเติมคือรวมหนี้ของทุกประเภทให้สามารถลดต้นทุนดอกเบี้ยลงมา  และการคืนรถเพื่อให้นำไปลดภาระดอกเบี้ย

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบีเอสที  วิเคราะห์หลัง ธปท. ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 อีก 6 เดือน โดยเป็นการต่ออายุอีก 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2564 จากเดิมที่จะสิ้นสุด มิ.ย. 2564  โดยรายละเอียดยังเหมือนมาตรการเดิม  คือ กรณีบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้ยาวขึ้น และจ่ายอัตราดอกเบี้ยลดลง

กรณีสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพิ่มทางเลือกการพักชำระค่างวด  กรณี เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ มีการควบคุมอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา (EIR) ไม่ให้ สูงขึ้นกว่าอัตราดอกเบี้ยเดิม

และกรณีสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน เพิ่มทางเลือกด้วยการพักเงินต้น และจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน  มองเป็นบวกต่อกลุ่มธนาคารเล็กน้อยเพราะช่วยให้ NPL และการตั้งสำรองไม่เพิ่มขึ้นแรงทำให้มีมุมมองเป็นบวกเล็กน้อยต่อประเด็นดังกล่าว

เนื่องจากจะช่วยให้ NPL และค่าใช้จ่ายสำรองฯไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดภายหลังหมดมาตรการช่วยเหลือในเดือน มิ.ย. นี้   หากพิจารณาตามสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อที่เกี่ยวข้องทั้ง 4 สินเชื่อ พบว่า ธนาคารที่จะได้ประโยชน์มากที่สุด คือ TISCO  มีสัดส่วน 63% ของสินเชื่อรวม  KKP  มีสัดส่วน 58% ของสินเชื่อรวม, TMB  มีสัดส่วน 51% ของสินเชื่อรวม และ SCB มีสัดส่วน 40% ของสินเชื่อรวม   

จากประเด็นดังกล่าวคาดว่า TISCO จะได้ sentiment เชิงบวกมากที่สุด แนะนำ ซื้อราคาเป้าหมายที่ 105.00 บาท อิง 2021E P/BV ที่ 1.95x (+1SD above 10-yr average PBV)  ยังคงน้ำหนักกลุ่มธนาคารเป็น มากกว่าตลาดโดยกลุ่มธนาคารยังคงน้ำหนักเป็น มากกว่าตลาด

โดยเลือก KBANK เป็น Top pick ราคาเป้าหมายที่ 177.00 บาท อิง 2021E PBV ที่ 0.90x (-1.25SD below 10-yr average PBV) เพราะ valuation ยังไม่แพงซื้อขายเพียง 0.7x PBV (-1.75SD below 10-yr average PBV) ขณะที่มีแนวโน้มกำไรในไตรมาส 2 ปี 2564  ยังจะเติบโตได้ อย่างโดดเด่น