‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘อ่อนค่า’ที่31.48บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘อ่อนค่า’ที่31.48บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทอ่อนค่าระยะสั้นผันผวนหลังนักลงทุนต่างชาติเทขายสินทรัพย์ในประเทศเกิดใหม่ในเอเชียรวมถึงไทยต่อเนื่องหลังเผชิญปัญหาการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ต่อเนื่องและตลาดการเงินภาพรวมยังปิดรับความเสี่ยง คาดวันนี้เงินบาทคลื่อนไหวในกรอบ 31.40- 31.55บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.48 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.45 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.40-31.55 บาทต่อดอลลาร์

ในส่วนแนวโน้มเงินบาท เราคงมองว่า แม้เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลง ตามภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปที่เริ่มกลับมาสดใส แต่ ค่าเงินบาท รวมถึงสกุลเงินหลายประเทศในแถบประเทศเกิดใหม่ในเอเชีย ( EM Asia )ที่เผชิญปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของโควิเ-19 อาจมีแนวโน้มอ่อนค่าลงหรือทรงตัว

เนื่องจากปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของ โควิด-19 ได้กดดันให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายสินทรัพย์ในฝั่ง EM Asia ต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากการที่  นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ หุ้นไทย (กว่า 300 ล้านบาท) และ บอนด์ไทย (ราว 3.9 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเทขายบอนด์ระยะสั้นกว่า 2.1 พันล้านบาท) มากขึ้น

โดยสัญญาณหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ นักลงทุนต่างชาติ ทยอยขายสุทธิ บอนด์ระยะสั้นไทย นับตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่น้อยกว่า 8.8 พันล้านบาท สะท้อนว่า นักลงทุนต่างชาติอาจมองว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนและอ่อนค่าลงได้ในระยะสั้น

ทั้งนี้ เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเจอแนวต้านใกล้ระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากระดับดังกล่าวเป็นช่วงที่ผู้ส่งออกจำนวนมากต่างรอขายเงินดอลลาร์

ขณะที่ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ ยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเต็มที่จากความกังวลแนวโน้มการเร่งตัวของเงินเฟ้อที่อาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟดจำเป็นต้องต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินให้เข้มงวดมากขึ้น อาทิ ลดการอัดฉีดสภาพคล่องหรือคิวอี (QE Tapering) ซึ่งความกังวลดังกล่าวยังคงกดดันให้ ตลาดลดสถานะถือครองหุ้นในกลุ่มเทคฯและหุ้นเติบโตสูง (Tech & Growth) ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ย่อตัวลง 0.38% ในขณะที่ ดัชนี S&P500 ย่อตัวราว 0.25% ส่วน ดัชนี Dowjones ที่มีหุ้นในกลุ่ม Cyclical เป็นหลัก ย่อตัวเพียง 0.16% สะท้อนว่า ตลาดยังคงเดินหน้าสะสมหุ้นในกลุ่ม Cyclical ตามธีม Reflation trade

ทั้งนี้ แรงเทขายหุ้นในกลุ่มเทคฯ ยังคงกดดันตลาดหุ้นยุโรป เช่นกัน โดยดัชนี STOXX50 ของยุโรป ย่อตัวราว 0.26% จากการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของหุ้นในกลุ่มเทคฯ อาทิ ASML, SAP, Infineon เป็นต้น

ส่วนในตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว 2bps สู่ระดับ 1.65% สะท้อนว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ ไม่ได้กลับเข้ามาเพิ่มการถือครองบอนด์ระยะยาวมากขึ้น แม้ว่าภาพรวมตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ซึ่งอาจมองได้ว่า ตลาดยังคงกังวลประเด็นการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่แข็งแกร่งจนอาจทำให้เฟดปรับลดการทำคิวอี เรามองว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวทั้งในฝั่งสหรัฐฯและไทย ก็มีแนวโน้มที่จะขยับตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป (Sideways Up) ตามแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

สำหรับตลาดค่าเงิน ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในฝั่งยุโรปที่มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง หลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เริ่มสงบลง จนทำให้รัฐบาลในหลายประเทศทยอยลดความเข้มงวดของมาตรการควบคุมการระบาดลงได้หนุนให้ สกุลเงินอื่นๆ โดยเฉพาะ เงินยูโร (EUR) และ เงินปอนด์ (GBP) แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงมาสู่ระดับ 90.18 จุด ส่วนเงินยูโรก็แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.215 ดอลลาร์ต่อยูโร เช่นเดียวกับ เงินปอนด์ ที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.414 ดอลลาร์ต่อปอนด์

อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์อาจไม่ได้ช่วยให้สกุลเงินในฝั่ง EM Asia แข็งค่าขึ้นไปมาก เนื่องจากตลาดยังคงกังวลแนวโน้มการระบาดของ โควิด-19 อยู่และยังมีแรงเทขายสินทรัพย์ในฝั่ง EM Asia จากนักลงทุนต่างชาติ ที่อาจกดดันให้สกุลเงินในโซน EM Asia อ่อนค่าลง สวนทางกับเทรนด์เงินดอลลาร์ได้ นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ยังได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง สู่ระดับ 1,868 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับในวันนี้ ติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป เริ่มจาก แนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงานอังกฤษ ซึ่งตลาดมองว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนผ่าน ยอดการจ้างงานในเดือนมีนาคมที่จะเพิ่มขึ้นราว 5หมื่นราย หลังจากที่ ลดลงไปกว่า 7หมื่นราย หนุนโดยการเร่งแจกจ่ายวัคซีนที่ทำให้อังกฤษสามารถทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด จนเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น

ส่วนในฝั่งยุโรป แม้ว่า เศรษฐกิจในไตรมาสแรกจะหดตัวไม่น้อยกว่า1.8%y/y ทว่า การจ้างงานมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยยอดการจ้างงานก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 0.5% จากไตรมาสก่อนหน้า และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป