ธปท.ยันระบบแบงก์ ‘มั่นคง’ ไม่หวั่น หนี้เสียจ่อขยับ

ธปท.ยันระบบแบงก์ ‘มั่นคง’ ไม่หวั่น หนี้เสียจ่อขยับ

ธปท.เชื่อมั่นแบงก์พาณิชย์‘แกร่ง’ รองรับปัจจัยเสี่ยง-ช่วยลูกหนี้สู้โควิด หลังเงินกองทุน ตั้งสำรอง สภาพคล่องล้น แนะจับตาหนี้เสียขยับ ห่วงธุรกิจโรงแรม ขนส่งการบิน ร้านอาหาร

      ระบบ“ธนาคาร”ถือเป็นระบบ ที่มีบทบาทสูงมาก ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่หรือโควิด-19 ที่มีส่วนช่วยลูกหนี้ ช่วยประเทศลดผลกระทบ จากหนักเป็นเบา ภายใต้รายได้ของภาคธุรกิจ ประชาชนที่ลดลง จากรายได้หาย ถูกเลิกจ้าง กิจการถูกกระทบ ดังนั้นกลไกที่จะช่วยลูกหนี้ที่สำคัญ คือกลไกของระบบธนาคารที่มีส่วนสำคัญมาก ในการช่วยลูกหนี้ให้รอด หรือสู้กับวิกฤตินี้ได้

     แต่ขณะเดียวกันภายใต้การช่วยเหลือของระบบธนาคาร สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเช่นกัน คือ “ฐานะทางการเงิน” ของระบบธนาคาร ที่ต้องรักษาให้เข้มแข็ง มั่นคงเพียงพอ ในการสร้างความเชื่อมั่น และเพื่อให้ธนาคารยังสามารถมี “กำลัง” ในการช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่องได้

    “สุวรรณี เจษฎาศักดิ์” ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หากดูฐานะการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน เชื่อว่าโดยรวม “แข็งแกร่ง เข้มแข็ง”เพียงพอ ในการรองรับความไม่แน่นอน และวิกฤติจากโควิด-19ได้

      สะท้อนจาก 4 ด้านสำคัญ ที่สะท้อนความเข้มแข็งของธนาคารพาณิชย์ได้เป็นอย่างดี ทั้ง อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงหรือ Bis ratio ที่ปัจจุบันธนาคารทั้งระบบมีเงินกองทุนทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องที่ระดับ 20% และในช่วงที่ผ่านมายังมีธนาคารอีกสองแห่ง ที่มีการออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 เพิ่มขึ้น เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้เงินกองทุน

     หากดูในด้าน“เงินสำรอง”ต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล ถือว่าเพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่อง จาก 149.2% ในไตรมาสก่อนหน้า มาเป็น 149.7%ในไตรมาสแรกของปีนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการเตรียมความพร้อมในการรองรับผลกระทบจากโควิด-19 ที่อาจกระทบต่อคุณภาพหนี้ในระยะข้างหน้าจากการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

       โดยเฉพาะการตั้งสำรองของปี 2563 ที่พบว่ามีการตั้งสำรองสูงทั้งปี สูงถึง 2.3 แสนล้านบาท หรือแม้แต่ไตรมาสแรก ที่ผ่านมาที่ธนาคารพาณิชย์มีการตั้งสำรองสูงถึง 4.2 หมื่นล้านบาท

       แม้จะลดลงหากเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน แต่ก็ยังสูงกว่าระดับปกติ ดังนั้นเชื่อมั่นว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ จะไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ หรือปัจจัยที่เข้ามากระทบมากนัก และมีฐานะที่เข้มแข็งในการรองรับวิกฤติที่จะเข้ามาถึงในอนาคตได้

       อีกด้านที่ชี้วัด ให้เห็นถึงการเตรียมพร้อม และการรองรับวิกฤติต่างๆได้เป็นอย่างดี ผ่าน อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออก ในภาวะวิกฤติ หรือ LCR ที่สูงกว่าเกณฑ์ที่ธปท. วางไว้ที่ 100% ค่อนข้างมาก มาอยู่ที่ 186.5% ขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินรับฝาก L/D Ratio ทรงตัว ที่ 92.2% โดยสินเชื่อและเงินฝากยังคงขยายตัวได้ท่ามกลางวิกฤติในปัจจุบัน

      “ภาพรวมของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา โดยรวมถือว่ามีความเข้มแข็ง มีเงินกองทุนและเงินสำรอง สภาพคล่องอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง สามารถรองรับความต้องการสินเชื่อและรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้”

       นอกจากนี้ สิ่งที่ธนาคารพาณิชย์ทำได้ดี คือการเดินหน้า “ช่วยเหลือ”ลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ผ่านมาตรการต่างๆ แม้จะกระทบต่อรายได้ กำไรของธนาคารพาณิชย์ให้ลดลงบ้าง

      แต่ธนาคารพาณิชย์สามารถให้การช่วยเหลือลูกหนี้ได้เป็นอย่างดี โดยนับตั้งแต่ที่มีการออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ตั้งแต่ก.พ.ปีก่อน พบว่า ธนาคารทั้งระบบ ทั้งธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจ สามารถให้การช่วยเหลือลูกหนี้สูงถึง 7.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นจำนวนบัญชีถึง 12.5 ล้านบัญชี ในก.ค. ปี 2563 จนส่งผลให้

      ล่าสุดเห็นการขอรับการช่วยเหลือจากมาตรการลดลงต่อเนื่องเหลือเพียง 3.7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 25% ของสินเชื่อรวมทั้งระบบ หรือ5.79 ล้านบัญชีเท่านั้น

      ในด้าน “กำไรสุทธิ” ในไตรมาสแรกที่ผ่านมาอยู่ที่ 4.4 หมื่นล้านบาท ลดลง 37.4% และหากหักกำไรพิเศษจาก กำไรลดลงอยู่ที่ 12% จากรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลง 17.1% เป็นหลัก

      แต่หากเทียบกับไตรมาส 4 ปีก่อน กำไรระบบแบงก์พาณิชย์โดยรวมถือว่ามีกำไรเพิ่มขึ้น จากค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลง และพบว่าค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลง และมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย จากการเป็นนายหน้าค้าหลักทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นด้วย

       ด้าน หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล ก็ถือว่า “ทรงตัว” อยู่ที่ 3.10% ลดลงจาก 3.12% และสินเชื่อที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ หรือ Stage2ก็ลดลง มาอยู่ที่ 6.41% จาก 6.62%

     ภายใต้มาตรการการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นที่ช่วยชะลอการเสื่อมคุณภาพลงของ “ปริมาณ” เอ็นพีแอลในภาพรวมได้ บวกกับสินเชื่อยังคงขยายตัวทำให้หนี้เสียโดยรวมทรงตัว

     แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องจับตา คือสินเชื่ออุปโภคบริโภค ที่พบว่า ไตรมาสนี้ “เปราะบาง” มากขึ้นในเกือบทุกพอร์ตสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อบัตรเครดิต ที่หนี้เสียเพิ่มมาเป็น 3.04% จาก 2.38% สินเชื่อรถยนต์ เพิ่มมาเป็น 1.56% จาก 1.44% และสินเชื่อบุคคล ที่พบว่าหนี้เสียปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย มาอยู่ที่ 2.46% จาก2.38%

    “แนวโน้มหนี้เสีย เป็นสิ่งที่ธปท.และธนาคารพาณิชย์กังวล โดยเฉพาะในเซกเตอร์ท่องเที่ยวที่น่าห่วง รวมถึงขนส่ง การบิน หรือที่เกี่ยวเนื่องกับร้านอาหาร แต่ก็เชื่อว่าหลักจากภาครัฐคลายเกณฑ์คุมโควิด-19 กิจการเหล่านี้ก็อาจกลับมาดีขึ้น ทั้งนี้แม้คาดว่าเอ็นพีแอลไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก แต่ธปท.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยมีการมอนิเตอร์สถานการณ์ต่อเนื่องหากจำเป็นก็พร้อมออกมาตรการช่วยเหลือ เหมือนมาตรการช่วยรายย่อยที่ออกมาเพิ่มเติมล่าสุด”