‘กรุงเทพฯ’ บ้านแพงกว่าเมืองที่น่าอยู่ที่สุด!

‘กรุงเทพฯ’ บ้านแพงกว่าเมืองที่น่าอยู่ที่สุด!

ที่ผ่านมามีการจัดอันดับเมืองน่าอยู่ที่สุดในโลก แต่สำหรับกรุงเทพฯนั้นไม่ติดโผ 10 อันดัยแรก แต่หากเทียบในเรื่องของราคา พบว่ามีราคาสูงมากเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ และมีราคาค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับรายได้

ในแต่ละปี มีการจัดอันดับเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลกประมาณ 10 เมือง ท่านเชื่อหรือไม่ว่าเมืองเหล่านั้นมีราคาที่อยู่อาศัยถูกกว่าโดยเปรียบเทียบกับรายได้ของประชาชนชาวกรุงเทพฯ เสียอีก แล้วอย่างนี้กรุงเทพฯ และเมืองไทยจะอยู่ยากไหม

จากข้อมูลเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลก จากการจัดอันดับล่าสุดโดยวารสาร The Economist ที่เว็บไซต์ www.travelandleisure.com ได้นำมาลงเมื่อเดือน ธ.ค.2563 ระบุว่าเมืองที่น่าอยู่ที่สุดเรียงตามลำดับ ดังนี้ 1.กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย 2.นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย 3.นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย 4.นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น 5.นครแคลเกอรี ประเทศแคนาดา 6.นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา 7.นครโตรอนโต ประเทศแคนาดา และ 7.ร่วม กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น 9.กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก 10.นครแอดิเลด ประเทศออสเตรเลีย

162108616859

เมืองเหล่านี้ผมไปมาหมดทุกเมืองแล้วรู้สึกน่าอยู่จริงๆ เมืองที่น่าอยู่นั้นอยู่ในประเทศแคนาดา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ถึง 8 เมือง ประเทศทั้งสามนี้มีธรรมชาติที่สวยสดงดงามมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง แต่ก็ยังมีนครอื่นๆ ที่น่าอยู่อีกมากมายแม้ในสหรัฐเอง เพียงแต่สำหรับคนไทยจะรู้สึกว่านครต่างๆ ในสหรัฐไม่ปลอดภัย โดยเป็นเพราะอิทธิพลของภาพยนตร์ร่วมสมัยนั่นเอง

แม้นครเหล่านี้จะน่าอยู่ แต่ก็ยังมีคนไร้บ้านหรือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ซึ่งหาเลี้ยงชีพด้วยการเก็บขยะ หรือในนครเหล่านี้ก็ยังมีย่านที่น่าจะอันตรายในระดับหนึ่ง และยิ่งถ้ามีแหล่งท่องเที่ยวก็ยังจะพบมิจฉาชีพประจำถิ่นอีกด้วย ซึ่งผู้อยู่อาศัยก็ยังต้องมีความระมัดระวังในการอยู่อาศัย ไม่ใช่จะปลอดภัย 100% เราต้องระมัดระวังตัวให้ดี อย่าประมาทไม่ว่าอยู่ที่ไหน เว้นแต่เรามีการ์ดหรือกองกำลังคอยดูแลก็อาจไม่มีอันตราย แต่คนที่ต้องมีกองกำลังก็อาจมีคู่อริ มี “กองกำลังติดอาวุธไม่ทราบฝ่าย” มาโจมตีถึงตายได้เช่นกัน

  • เมืองน่าอยู่เขาดูจาก 5 ด้าน ได้แก่

1.ด้านความมั่นคงทางการเมือง ซึ่งนับเป็นเรื่องที่เปราะบางที่สุด โดยเฉพาะด้านภัยสงคราม สำหรับกรุงเทพฯ ก็อาจมีความเปราะบางทางด้านนี้ เพราะอาจมีสงครามกลางเมืองจากความไม่สงบภายใน

2.ด้านบริการสุขภาพ ถ้ามีพร้อมและมีบริการที่ดี หากเจ็บไข้ได้ป่วยก็สามารถส่งโรงพยาบาลได้ทัน กรณีนี้จึงเป็นหลักประกันที่สำคัญมาก ในเมืองที่ไม่น่าอยู่มักมีบริการด้านนี้ที่ตกต่ำถดถอย อย่างกรุงเทพฯ มีเตียงคนไข้เพียง 1.9 เตียงต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งยังนับว่าน้อยมาก

3.ด้านวัฒนธรรม เช่น อาคารสถานที่ที่น่าสนใจ น่าท่องเที่ยว มีประวัติศาสตร์ที่น่าภูมิใจ รวมทั้งมีสภาพแวดล้อมทางสังคมและธรรมชาติที่น่าอยู่อาศัย

4.ด้านการศึกษา เพื่ออนาคตของลูกหลานของผู้อยู่อาศัย การที่อยู่ในเมืองที่มีการศึกษาดี ประชากรก็ย่อมมีวัยวุฒิและคุณวุฒิที่ดีไปด้วย

5.ด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่ดี เช่น ระบบขนส่งมวลชน รถประจำทาง ทางด่วน รถไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ เป็นต้น เพื่อความสุขสบายแก่ผู้อยู่อาศัยนั่นเอง

เมืองที่น่าอยู่เราเปรียบเหมือน “สวรรค์” แต่บางครั้งก็เป็นเหมือนสวรรค์ที่ไม่ค่อยมีความสุข (unhappy paradise) เพราะกฎระเบียบต่างๆ มีชัดเจนตามอารยประเทศ จะมานั่งร้องรำทำเพลง กินเหล้ารบกวนเพื่อนบ้าน คงต้องถูกตำรวจจับ/ปรับกันบ้าง บางครั้งชีวิตก็อาจจะเรียบง่ายและพอเพียงมาก ไม่มีชีวิตกลางคืน ต่างจากกรุงเทพฯ หรือเมืองในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แม้บางครั้งจะเป็นเสมือน “นรก” แต่ก็กลับเป็นนครที่มีความสุข (happy hell) สำหรับคนมีเงิน มีอำนาจ มีเส้นสาย ฯลฯ

จากเว็บไซต์ของ numbeo.com แสดงให้เห็นถึงราคาห้องชุดต่อตารางเมตร โดยในที่นี้สมมติให้ห้องชุดแต่ละแห่งมีขนาด 35 ตารางเมตร ซึ่งบางแห่งอาจจะเล็กไปหน่อย แต่ในไทยอาจจะถือว่าใหญ่ไปหน่อยเพราะปกติขนาดห้องชุดของคนไทยจะไม่เกิน 30 ตารางเมตร ซึ่งถือว่าเล็กมากตามมาตรฐานของชาติอื่น แต่เพื่อให้สามารถคำนวณเปรียบเทียบได้ จึงกำหนดไว้ที่ 35 ตารางเมตรต่อหน่วย และขณะเดียวกันก็เปรียบเทียบกับรายได้เฉลี่ยปานกลางต่อเดือน โดยคูณ 12 เป็นรายได้ต่อปี แล้วเอาราคาบ้านมาหารด้วยรายได้เฉลี่ยต่อปี

สัดส่วนระหว่างราคาบ้านและรายได้เฉลี่ยต่อปีสำหรับกรุงเทพฯ สูงถึง 8.55 เท่า คือ ห้องชุดหน่วยหนึ่งมีราคาเฉลี่ย 2,719,792 บาท โดยรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของคนไทยในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 26,502 บาท เมื่อเอาราคาบ้านหารด้วยรายได้ที่คูณด้วย 12 เดือน ก็จะออกมาสูงถึง 8.55 เท่า แสดงว่าราคาบ้านในกรุงเทพฯ สูงมากเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ นี่เป็นการวัดกำลังซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชน (Affordability)

นครที่ถือว่ามีสัดส่วนระหว่างราคาห้องชุดกับรายได้ต่อปีต่ำสุดคือนครแคลเกอรี ทางตอนกลางของประเทศแคนาดา โดยมีสัดส่วนเพียง 2.36 เท่า แสดงว่าประชาชนสามารถซื้อ “ที่ซุกหัวนอน” ได้ไม่ยาก ชีวิตจึงมีความสุข ในขณะที่นครที่มีสัดส่วนราคาบ้านต่อรายได้สูงสุดใน 10 นครที่น่าอยู่ที่สุดในโลกนั้นคือกรุงโตเกียว โดยมีสัดส่วนสูงถึง 6.24 เท่า ซึ่งก็ยังต่ำกว่าในกรณีประเทศไทยเสียอีก

หากปรากฏว่ามีคนหนุ่มสาวที่คิดจะย้ายไปอยู่ต่างประเทศ ซึ่งก็ต้องไปปรับตัวใช้ชีวิตที่นั่น หางานทำที่มีรายได้พอสมควร ก็นับว่าเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลก 10 เมืองนี้น่าจะ “ไม่อยู่ยาก” สามารถใช้ชีวิตที่สงบสุข มีอนาคตได้มากพอสมควรทีเดียว อย่างไรก็ตาม บางคนก็อาจมีภัยร้ายถึงชีวิตโดยไม่คาดฝันเช่น “ลุงวิชา รัตนภักดี” ในสหรัฐ ที่ถูกชายผิวดำผลักล้มจนเสียชีวิต แต่กรณีนี้ก็เกิดขึ้นได้ในกรณีประเทศไทยเช่นกัน

การที่ที่อยู่อาศัยในประเทศไทยมีราคาค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับรายได้นั้น ก็เพราะที่ผ่านมาตลาดเป็นของผู้ขาย บริษัทพัฒนาที่ดินมหาชนสามารถทำกำไรสุทธิได้ 15-20% ในแต่ละปี ในขณะที่ประชาชนทั่วไปแทบไม่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา 

กรุงเทพฯ จึงนับว่า “อยู่ยาก” ขึ้นทุกวัน แต่จะอย่างไร เราก็ต้องพยายามพัฒนากรุงเทพฯ ให้น่าอยู่สำหรับประชาชน (ไม่ใช่น่าอยู่เฉพาะคนมีเส้น มีเงิน มีอำนาจ)