'ซูเปอร์โพล' พบคนส่วนใหญ่ต้องการฉีดวัคซีนป้องกัน 'โควิด'

'ซูเปอร์โพล' พบคนส่วนใหญ่ต้องการฉีดวัคซีนป้องกัน 'โควิด'

"ซูเปอร์โพล" พบคนส่วนใหญ่ต้องการรับการฉีดวัคซีนป้องกัน "โควิด" ชี้เฟคนิวส์คือปัญหาหลักสร้างความกลัวให้ประชาชน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง วัคซีน กับ ความต้องการของประชาชน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,268 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 9 14 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.5 ระบุจำเป็นและต้องการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดระดับค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 23.3 ระบุปานกลาง และร้อยละ 9.2 ระบุค่อนข้างน้อยถึงไม่เลย

ทั้งนี้สิ่งที่น่าพิจารณาคือ คนสูงอายุส่วนใหญ่กลับมีทัศนคติที่ดีต่อการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดมากกว่า คนอายุน้อย โดยพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.5 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไปและร้อยละ 64.4 ของคนอายุ 40 59 ปีและร้อยละ 48.5 ของคนอายุ 18 39 ปี เชื่อมั่นวางใจบุคลากรแพทย์ในชุมชนที่เป็น อสม. มาช่วยเรื่องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.9 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 78.6 ของคนอายุ 40 59 ปี และร้อยละ 65.0 ของคนอายุ 18 39 ปีเชื่อมั่นวางใจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล/สถานพยาบาลใกล้ชุมชน มาฉีดวัคซีนโควิดให้

นายนพดล กล่าวอีกว่า ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.5 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 70.3 ของคนอายุ 40 59 ปี และร้อยละ 66.4 ของคนอายุ 18 39 ปีเชื่อว่าถ้าได้รับวัคซีนโควิดจะช่วยลดอาการหนักเป็นเบา ในขณะที่ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.9 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 69.3 ของคนอายุ 40 59 ปี และร้อยละ 65.8 ของคนอายุ 18 39 ปีกลัวตายเพราะโควิดมากกว่า กลัวตายเพราะฉีดวัคซีน นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.0 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 76.6 ของคนอายุ 40 59 ปี และร้อยละ 71.6 ของคนอายุ 18 39 ปีรู้ว่าถ้าฉีดวัคซีนโควิด ช่วยสร้างภูมิต้านทานโรคได้มากขึ้น 

\'ซูเปอร์โพล\' พบคนส่วนใหญ่ต้องการฉีดวัคซีนป้องกัน \'โควิด\'

ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.3 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 74.8 ของคนอายุ 40 59 ปี และร้อยละ 66.5 ของคนอายุ 18 39 ปีวิกฤตชาติโควิดครั้งนี้จะแก้ได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกัน นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.3 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 75.8 ของคนอายุ 40 59 ปี และร้อยละ 63.7 ของคนอายุ 18 39 ปีคนที่ติดโควิดมีโอกาสตาย มากกว่า คนที่ฉีดวัคซีนตาย ในขณะที่ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.9 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 77.0 ของคนอายุ 40 59 ปี และร้อยละ 65.5 ของคนอายุ 18 39 ปีคนที่ติดโควิดจะทรมาน มากกว่า การฉีดวัคซีน 

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.2 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 76.9 ของคนอายุ 40 59 ปี และร้อยละ 69.4 ของคนอายุ 18 39 ปีระบุการฉีดวัคซีนจะช่วยทำให้เราเปิดประเทศได้เร็วขึ้น การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตปกติจะกลับมา

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เป็นอุปสรรคการฉีดวัคซีนของคนไทย พบว่า การสร้างข่าวปลอม ข่าวเท็จ เฟกนิวส์ สร้างความกลัวในคนที่ไม่รู้จริง ร้อยละ 93.2 รองลงมาคือ การปล่อยข้อมูลผลข้างเคียงการฉีดวัคซีนที่ไม่เป็นจริง ร้อยละ 93.1 การปล่อยข้อมูลทำให้คนรอยี่ห้อวัคซีน ร้อยละ 91.0 และ การใช้ประเด็นวัคซีนการเมืองปั่นกระแสสร้างความสับสนในหมู่ประชาชน ร้อยละ 90.8 ตามลำดับ

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ได้ชัดเจนอย่างน่าทึ่งว่า คนสูงอายุส่วนใหญ่กลับมีทัศนคติที่ดีต่อการฉีดวัคซีนสูงกว่าคนอายุน้อย แต่ปัญหาข้อมูลข่าวสารที่ไม่ชัดเจน ได้สร้างความสับสนและความกลัวต่อการฉีดวัคซีน ทำให้คนจำนวนมากไม่กล้าฉีดวัคซีนและต้องการวัคซีนที่ดีที่สุด ผลที่ตามมาคือ การเผยแพร่บอกต่อข้อมูลข่าวสารในทางลบต่อวัคซีน ได้ลดทอนความเชื่อมั่น ทำให้ชีวิตของประชาชนตกอยู่ในความเสี่ยงสูงและทำให้เกิดความเสียหายกับประเทศโดยรวม การได้รับวัคซีนของประชาชนจำนวนมากที่มีผลต่อการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ จะเป็นทางออกให้เราสามารถเปิดและฟื้นประเทศได้เร็วขึ้น เพื่อให้เราทุกคนสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติและลดความเสี่ยงต่อชีวิตของทุกคนในครอบครัว

ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวต่อว่า ที่น่าห่วงคือคนประมาณร้อยละ 10 อาจจะกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อตัวเองและผู้อื่น เพราะเห็นถึงความจำเป็นของวัคซีนน้อยถึงไม่เห็นความจำเป็นเลย อย่างไรก็ตาม ตัวเลขของคนที่ตอบแบบสอบถามความคิดเห็นความต้องการความเชื่อมั่นวางใจของประชาชนต่อการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดออกมาสอดคล้องตรงกับเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์แก้วิกฤตโควิดของประเทศอย่างลงตัว ในทุกกลุ่มช่วงอายุเพราะเกินกว่าร้อยละ 60 ขึ้นไปที่ระบุความต้องการจำเป็นในการฉีดวัคซีนและยังตระหนักถึงความสำคัญของวัคซีนว่าจะช่วยแก้วิกฤตชาติได้ ถึงแม้จะมีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุบ้างแต่สัดส่วนของคนที่เห็นถึงความจำเป็นต้องฉีดและต้องการเป็นไปตามเป้าหมายของการรณรงค์ฉีดวัคซีน

"แต่ประเด็นท้าทายอยู่ที่การบริหารจัดการวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะยังไม่สามารถตอบสนองปริมาณและความต้องการของประชาชนที่ต้องการจะฉีดวัคซีนป้องกันโควิดซึ่งมีจำนวนมากขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และที่สำคัญคือ การนำประเด็นวัคซีนมาเล่นการเมือง ทั้งการสร้างความสับสนหวาดระแวงโกรธเกลียดกัน การสร้างความนิยมชมชอบกัน หรือเอาชนะคะคานกันทางการเมืองไม่คำนึงถึงความอยู่รอดของประเทศ จนประชาชนสับสนข้อมูล ต้องการสิ่งที่ดีกว่าจนเกิดเป็นวัคซีนทางเลือกในอนาคตที่ยังเลือนลาง อาจไม่ทันกับเวลาที่ทำให้เราต้องสูญเสียโอกาส ตามมาด้วยการสูญเสียคนที่เรารักและแม้กระทั่งตัวเองอย่างเดียวดายในภาวะโรคระบาดร้ายแรงที่กำลังเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องสร้างความชัดเจน ความเข้าใจและเชื่อมั่นให้มากขึ้น เพื่อให้ "วัคซีน" ได้ทำหน้าที่ของ มันเพื่อปกป้องเราทุกคน" ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าว