ส่อง ‘สิทธิบัตรทองต้องรู้’ ยุคโควิด 19

ส่อง ‘สิทธิบัตรทองต้องรู้’ ยุคโควิด 19

“สิทธิบัตรทอง” ซึ่งเป็นสิทธิสำหรับประชาชนคนไทยที่ไม่มีสิทธิสวัสดิการของรัฐอื่นๆ ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา มีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมสิทธิต่างๆ กระทั่งมีโควิด 19 มีการเพิ่มสิทธิในการเข้าถึงยา และการดูแลในด้านต่างๆ เพิ่มเติม

“สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ บัตรทอง หรือที่เราคุ้นหูแต่เดิมในชื่อ โครงการ “30 บาท รักษาทุกโรค” เริ่มดำเนินการในระยะที่ 1 เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2544 ใน 6 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ ปทุมธานี สมุทรสาคร นครสวรรค์ ยโสธร พะเยา และยะลา ครอบคลุมประชาชนที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ โดยสถานพยาบาลที่เข้าร่วมให้บริการเป็นสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ในเดือนมิถุนายน 2544 และได้ขยายพื้นที่ดำเนินการจนสามารถครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา แต่ก็มีปรับเปลี่ยนจากจ่าย 30 บาท มาเป็นบัตรรักษาฟรี และให้ใช้บัตรประชาชนแทนบัตรทอง

  • ใครบ้างที่จะได้ "สิทธิบัตรทอง"

- บุคคลที่ถือสัญชาติไทย

- มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก

- ไม่มีสิทธิสวัสดิการที่รัฐจัดให้ เช่น สิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ เป็นต้น

  • “สิทธิบัตรทอง” ได้อะไร

สำหรับผู้ที่ถือบัตรทอง จะได้รับสิทธิในค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ได้แก่

1.การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

2.การตรวจ การวินิจฉัย การรักษาพยาบาล ตั้งแต่โรคทั่วไป เช่น ไข้หวัด จนถึงการรักษาโรคเรื้อรัง โรคเฉพาะทางที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง ไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจ เอกส์ วัณโรค

3.การคลอดบุตร ใช้สิทธิได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง

4.บริการทันตกรรม เช่น อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน การให้ฟลูออไรด์เสริมในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคฟันผุ การรักาาโพรงประสาทฟันน้ำนม การเคลือบหลุมร่องฟัน ผ่าฟันคุด ใส่เพดานเทียมเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ และการทำฟันปลอมฐานพลาสติก

5.ค่ายาและเวชภัณฑ์

6.ค่าอาหารและค่าคลอดสามัญ

7.การจัดส่งต่อ

8.บริการแพทย์แผนไทย

9.บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ ให้แก่คนพิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู เช่น กายภาพบำบัด จิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด กิจกรรมบำบัด ฟื้นฟูการได้ยิน ฟื้นฟูการมองเห็น และรับอุปกรณ์เครื่องช่วยตามประเภทความพิการได้ตามเกณฑ์ที่ สปสช.กำหนด

 

  • สิทธิประโยชน์อื่นๆ  

- เพิ่มสิทธิประโยชน์ยาออกทรีโอไทด์ แอซีแอต ในบัญชียา จ (2) สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคอะโครเมกาลี (Acromegaly) ที่ได้รับการผ่าตัดเนื้องอกหรือฉายแสง

- ขยายระบบดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง

- จัดระบบการรักษาโรคหายาก

- การให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี สำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อก่อนมีการสัมผัสเชื้อ หรือยาเพร็พ (Pre-Exposure Prophylaxis) ฯลฯ

เพิ่มยามะเร็ง 3 รายการ (ล่าสุด)

- ยาเคปไซตาบีน ชนิดเม็ด (Capecitabine /tab) ยารักษาโรคมะเร็งลำไส้ให้ผู้ป่วยรักษาที่บ้านแทนรับเคมีบำบัดที่รพ.

- ยาอ๊อกซาลิ พลาติน ชนิดฉีด (Oxaliplatin /injection) ยารักษาโรคมะเร็งลำไส้และมะเร็งกระเพาะอาหาร

- ยาอิริโนทีแคน HCL ชนิดฉีด (Irinotecan HCl /injection) ยารักษามะเร็งลำไส้ใหญ่

  • ตรวจโควิดฟรี

ในปี 2564 มีการเพิ่มเติมตรวจคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อ ยืนยันการติดเชื้อ COVID-19 ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งไม่ใช่แค่สิทธิบัตรทองเท่านั้น แต่ สำหรับประชาชน “กลุ่มเสี่ยง” คนไทยทุกคน (ครอบคลุมทั้งบัตรทอง ประกันสังคม ข้าราชการ ทุกคนที่เป็นคนไทยถือบัตรประชาชน) ด้วยวิธีดังนี้

1. การตรวจด้วยวิธี Realtime RT-PCR โดย nasopharyngeal and throat swab Sample

2. การตรวจด้วยวิธี Realtime RT-PCR โดยการทำ Pooled Sample

    2.1) ตัวอย่างน้ำลายแบบรวมตัวอย่าง (Pooled saliva samples)

    2.2) ตัวอย่างป้ายหลังโพรงจมูก และป้ายลำคอแบบรวมตัวอย่าง (Pooled nasopharyngeal and throat swab samples)

3. การตรวจภูมิคุ้มกัน (Antibody)

4. การตรวจเชื้อไวรัส (Antigen)

ทั้งนี้ การตรวจคัดกรอง และการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยันการติดเชื้อ COVID-19 ขึ้นอยู่กับแพทย์พิจารณาวิธีการตรวจที่หมาะสมสำหรับผู้มีสิทธิแต่ละราย และขอรับค่าใช้จ่ายตามเงื่อนไขในแต่ละวิธีที่ สปสช.กำหนด

 

  • รักษาโควิด ฟรี

สำหรับ การรักษาโรคโควิด 19 ก็เช่นกัน ไม่ใช่แค่สิทธิบัตรทองเท่านั้น แต่คนไทยทุกคนทุกสิทธิ หากจะต้องได้รับการตรวจคัดกรองเนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น มีประวัติสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง หรือแพทย์มีดุลพินิจให้ตรวจ สามารถเข้ารับการตรวจได้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย และถ้าติดเชื้อก็มีสิทธิได้รับการรักษาฟรีไม่ว่าจะเข้าโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน

ส่วนค่าใช้จ่าย โรงพยาบาลจะมาเรียกเก็บเอาจาก สปสช.ตามอัตราที่ประกาศกำหนด ซึ่งเป็นอัตราที่มีการตกลงกันกับทุกหน่วยบริการและผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ดังนั้น หากกลุ่มที่เสี่ยงที่ต้องได้รับการคัดกรอง สามารถตรวจฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย และถ้าผลตรวจพบว่าติดเชื้อ โรงพยาบาลจะให้การดูแลตามความรุนแรงของอาการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน

  • หนุ่มฟรีแลนซ์ติดโควิด-19 ใช้สิทธิบัตรทองรักษาฟรี

นายพัชร กุมภาพันธ์ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เปิดเผยว่า ตนเองเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากสัมผัสกับเพื่อนที่เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง โดยตนได้เข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รามคำแหง เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2564 และทราบผลการติดเชื้อว่าเป็นบวกในวันที่ 29 เม.ย. ก่อนจะได้เข้ารับการรักษาตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. - 10 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตลอดระยะเวลาไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ในวันที่ 30 เม.ย. ตนได้เดินทางไปรายงานตัวที่โรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการตรวจร่างกาย เอกซเรย์ปอด และเจาะเลือด เมื่อพบว่าไม่มีอาการรุนแรงจึงถูกส่งต่อไปรักษาตัวยังโรงแรม ฌ เฌอ ซึ่งเป็นหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) ของโรงพยาบาลดังกล่าว เป็นระยะเวลา 10 วัน โดยได้รักษาตามอาการ เช่น เมื่อท้องเสีย ถ่ายเหลว ก็ได้รับยาฆ่าเชื้อและเกลือแร่มารับประทาน

นายพัชร กล่าวว่า เนื่องจากตนเองนั้นประกอบอาชีพอิสระ จึงไม่มีสวัสดิการหรือสิทธิประกันสุขภาพใด นอกจากสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ตามที่อยู่ในทะเบียนบ้านที่ จ.นครสวรรค์ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาตนเองยังไม่เคยเจ็บป่วย หรือต้องเข้ารับการรักษาใดๆ จนกระทั่งมาติดโควิด-19 ในครั้งนี้ ซึ่งตลอดระยะเวลาของการรักษาตัวก็ไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

"ได้ทราบมาจากเพื่อนที่รักษาโดยเบิกจ่ายจากประกันสุขภาพ พบว่าค่าใช้จ่ายในการรักษานั้นตกคืนละ 2,000 บาท ซึ่งคิดรวม 14 วันก็เท่ากับ 28,000 บาท เฉพาะค่านอน ยังไม่นับรวมค่ายา ค่าอื่นๆ ดังนั้นหากจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้เอง ก็ย่อมเป็นภาระและส่งผลกระทบอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงเวลานี้" นายพัชร กล่าว

นายพัชร กล่าวอีกว่า ดังนั้นตนจึงอยากให้ความมั่นใจกับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ว่าได้รับการรักษาฟรี และไม่เสียค่าใช้จ่ายจริง เช่นเดียวกับอีกหลายคนที่เข้ารับการรักษาใน Hospitel เดียวกันกับตน ที่ล้วนได้รับการรักษากลับออกมาและไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด