จับตาโหวตแผนฟื้นฟูบินไทย เคาะคืนค่าตั๋วภายในปี 67

จับตาโหวตแผนฟื้นฟูบินไทย เคาะคืนค่าตั๋วภายในปี 67

"การบินไทย" โหวตแผนฟื้นฟู 19 พ.ค.นี้ ชี้หากมติอนุมัติ เคาะจ่ายหนี้บัตรโดยสาร 6.6 พันราย ครบภายใน 31 มี.ค.2567

จับตาการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่จะมีประชุมเจ้าหนี้เพื่อลงคะแนนโหวตในวันที่ 19 พ.ค.นี้ ประเด็นสำคัญที่ระบุในแผนฟื้นฟูฉบับนี้ ไม่เพียงแนวทางบริหารกิจการการบินไทยให้กลับมาสร้างรายได้ มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เป็นบวกภายใน 3-5 ปี

รายละเอียดของแผนฟื้นฟูฉบับนี้ ยังระบุถึงการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ที่กำหนดให้ได้รับการชำระ แม้ว่าเจ้าหนี้จะไม่ได้ยื่นคำขอชำระหนี้ก็ตาม โดยเป็นการจ่ายหนี้ชำระตามแผน ตามมาตรา 90/61 (1) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย

โดยเจ้าหนี้ที่จะได้รับการชำระหนี้ตามข้อกำหนดดังกล่าว หนึ่งในนั้นมีเจ้าหนี้ “เงินคืนค่าบัตรโดยสาร (Refund)” ได้แก่ ผู้โดยสารและ/หรือเจ้าหนี้ที่ซื้อบัตรโดยสารของการบินไทย สำหรับบัตรโดยสารที่ได้ขอคืนเงินค่าบัตรโดยสาร (Refund) ผ่านช่องทางต่างๆ แล้ว ก่อนวันที่ 14 ก.ย.2563 รวมถึงค่าบริการเสริมต่างๆ ของการบินไทย

ทั้งนี้ ในกรณีที่ตัวแทนขายหรือบุคคลที่ได้ชำระเงินคำบัตรโดยสารคืนให้แก่ลูกค้าแทนการบินไทย โดยชอบแล้วมีสิทธิรับช่วงสิทธิในการเรียกร้องมูลหนี้เงินคืนค่าบัตรโดยสารและค่าบริการเสริมอื่นๆ ดังกล่าวจากการบินไทยแทนผู้โดยสารและ/หรือเจ้าหนี้ที่ซื้อบัตรโดยสาร

โดยแผนฟื้นฟูกำหนดให้ผู้บริหารแผนมีอำนาจชำระหนี้เงินต้นให้แก่บุคคลผู้มีสิทธิดังกล่าวตามมูลค่าที่บันทึกในระบบของการบินไทย และตามเงื่อนไขอันเกี่ยวกับบัตรโดยสารแต่ละใบและนโยบายที่การบินไทยประกาศเพิ่มเติม ด้วยวิธีการคืนเงิน ค่าบัตรโดยสารตามวิธีปกติที่การบินไทยปฏิบัติ ภายในวันที่ 31 มี.ค.2567 สำหรับบุคคลที่มีสิทธิดังกล่าวสามารถตรวจสอบมูลค่าเงินคืนคำบัตรโดยสารได้บนเว็บไชด์ของการบินไทยหรือวิธีการตรวจสอบอื่นตามที่การบินไทยจะประกาศกำหนด

ทั้งนี้ ในกรณีที่บุคคลที่มีสิทธิดังกล่าวได้รับบัตรกำนัลเดินทาง (Travel Voucher) ด้วย มูลค่าที่จะได้รับเงินคืนจะเท่ากับมูลค่าหลังหักมูลค่าของบัตรกำนัลเดินทาง (Travel Voucher) ที่ได้นำมาใช้แทนเงินสดในการซื้อสินค้าและบริการตามเงื่อนไขของบัตรกำนันเดินทาง (Travel Voucher) ดังกล่าวแล้ว ภาระหนี้ส่วนที่เหลือจากเงื่อนไขที่กำหนดข้างต้นให้ระงับสิ้นไป

ขณะที่ “เจ้าหนี้ไมล์สะสม” ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ผู้ทำแผนฟื้นฟู เห็นว่ามูลหนี้ของเจ้าหนี้ในกลุ่มนี้ไม่ใช่หนี้เงินอันจะขอรับชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แต่เป็นหนี้กระทำการที่การบินไทยมีภาระให้ใช้ไมล์สะสมแลกสินค้าหรือบริการ โดยผู้ถือไมล์สะสมยังสามารถใช้สิทธิแลกไมล์สะสมเพื่อแลกสินค้าหรือบริการได้ตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของโปรแกรมรอยัลออร์คิดพลัสหรือตามที่การบินไทยประกาศสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม

ดังนั้น แผนฟื้นฟูจึงกำหนดให้เจ้าหนี้ในกลุ่มนี้มีสิทธิใช้ไมล์สะสมตามสิทธิของตนตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของโปรแกรมรอยัลออร์คิดพลัส หรือตามที่การบินไทยประกาศสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม โดยให้ขยายระยะเวลาการใช้ไมล์สะสมให้แก่สมาชิกของโปรแกรมไมล์สะสมหรือคู่ค้าสำหรับไมล์สะสมที่จะหมดอายุในปี 2565 หรือก่อนหน้านั้น ออกไปจนถึงสิ้นปี 2566

โดยหากในปี 2565 การบินไทยยังไม่สามารถกลับมาให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ ให้ผู้บริหารฟื้นฟูกิจการแผนขยายระยะเวลาการใช้ไมล์สะสมให้แก่สมาชิกของโปรแกรมไมล์สะสมหรือคู่ค้าสำหรับไมล์สะสมออกไปอีกตามความเหมาะสมแต่ไม่น้อยกว่า 1 ปี

 

แหล่งข่าวจากการบินไทย เผยว่า เงื่อนไขที่กำหนดชำระหนี้ส่วนของบัตรโดยสารนั้น การบินไทยไม่ถือว่าเป็น “เจ้าหนี้” แต่เรียกกลุ่มเหล่านี้ว่าเป็น “ลูกค้า” โดยการบินไทยยืนยันว่าจะประสานชำระคืนค่าบัตรโดยสารแก่ลูกค้า และดูแลผลประโยชน์ลูกค้าอย่างดีที่สุด ซึ่งจะมีการกำหนดแนวทางรีฟันด์อย่างไร จะต้องรอให้แผนฟื้นฟูกิจการผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้ 19 พ.ค.นี้

ทั้งนี้ เจ้าหนี้ผู้โดยสารที่ขอคืนค่าบัตรโดยสาร (Refund) มีจำนวน 6,655 ราย รวมมูลค่าหนี้ 1,423 ล้านบาท