'สุกิจ' ยก 'รัฐธรรมนูญ' ระบุ ต้องเปิดสภาฯ ตามเงื่อนไข-พิจารณา 'พ.ร.ก.' สำคัญ

'สุกิจ' ยก 'รัฐธรรมนูญ'  ระบุ ต้องเปิดสภาฯ ตามเงื่อนไข-พิจารณา 'พ.ร.ก.' สำคัญ

ประธานรัฐสภา นัดวิป3 ฝ่าย และตัวแทนครม. หารือการเปิดประชุมสภาฯ กำหนด 27 พฤษภาคม ต้องพิจารณาพ.ร.ก.สำคัญ ยกรัฐธรรมนูญ บัญญัติต้องทำทันที

       นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงว่าวันที่ 14 พฤษภาคม เวลา 11.00 น. นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง และนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ได้เชิญวิป 3 ฝ่าย  คือ ฝ่ายรัฐบาล, ฝ่ายค้านและ วุฒิสภา พร้อมด้วยตัวแทนคณะรัฐมนตรี มาประชุมหารือร่วมกันเกี่ยวกับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและการประชุมร่วมกันของรัฐสภา หลังจากที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2564 ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 64 เป็นต้นไป ซึ่งสภามีภารกิจเร่งด่วน 2 เรื่อง คือ

          1. พิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 2 ฉบับ   ได้แก่ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 และ พ.รงก.การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564  ซึ่งประกาศใช้แล้ว เมื่อ 9 เมษายน ที่ผ่านมา และรัฐบาลได้ส่งมายังสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 19 เมษายน โดยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรคสาม กำหนดว่า ในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไปให้คณะรัฐมนตรีเสนอพระราชกำหนดนั้นต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาโดยไม่ชักช้า ดังนั้น หากเปิดประชุมสภาเมื่อใดจะต้องทำทันที ทั้งนี้กำหนดให้สภาฯ  ในวันที่ 27 พฤษภาคม

           2. ร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ คณะรัฐมนตรีจะส่งเนื้อหามายัง สภาฯ วันที่ 17 พฤษภาคมนี้ ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้สภาฯ พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน นับตั้งแต่ได้รับร่างพ.ร.บ.ฯ และจะครบกำหนดวันที่ 29 สิงหาคม 2564 จากนั้นจะต้องส่งให้วุฒิสภา พิจารณาเห็นชอบภายใน 20 วัน ซึ่งครบกำหนดวันที่ 18 กันยายน 2564   ดังนั้นจึงวางกำหนดเบื้องต้นว่า สภาฯ​จะพิจารณาวาระแรก วันที่ 31 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน นี้

       นพ.สุกิจ แถลงด้วยว่าทั้งนี้ที่ประชุมต้องหารือถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มข้น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดขณะนี้รุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้มีมาตรการที่เตรียมไว้เบื้องต้นแล้วและจะเสมอให้ที่ประชุมร่วม พิจารณาต่อไป.