'กมธ.ปราบโกง' จี้ 'เรือนจำ' ให้สิทธิ 'ผู้ต้องขังคดีการเมือง' ตามมาตรฐานสากล

'กมธ.ปราบโกง' จี้ 'เรือนจำ' ให้สิทธิ 'ผู้ต้องขังคดีการเมือง' ตามมาตรฐานสากล

โฆษกกมธ.ปราบโกง แถลงจี้ เรือนจำให้สิทธิและความเป็นธรรม ผู้ต้องขังคดีการเมือง หลังทราบข้อมูลถูกรอนสิทธิ มากกว่า นักโทษที่ศาลพิพากษา

       นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ฐานะโฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร แถลงถึงผลการประชุมของกมธ.ฯ ซึ่งมีวาระตรวจสอบข้อร้องเรียน กรณีมีผู้ขอให้สอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความปลอดภัยในเรือนจําของผู้ต้องขังในคดี การเมือง ว่า ที่ประชุมได้เชิญนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ผู้ต้องหาคดีการเมือง มาให้ข้อมูลถึงสภาพชีวิตช่วงที่ถูกคุมขังในเรือนจำ หลังมีการร้องเรียนเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ไปตรวจผู้ต้องหาคดีการเมือง 7คน ยามวิกาล พบข้อมูลที่ได้แตกต่างจากการเชิญฝ่ายกรมราชทัณฑ์มาชี้แจง โดยผู้ชี้แจงระบุข้อมูลว่า ผู้คุมขังคดีการเมืองได้รับสิทธิน้อยกว่าคนที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดเด็ดขาดตามคำพิพากษา อาทิ การออกจากเรือนจำไปศาลถูกตรวจสอบร่างกายมากกว่าปกติ ห้ามใส่กางเกงชั้นใน และไม่ให้นำปากกาดินสอไปจดบันทึกระหว่างไปฟังการพิจารณาคดีในศาล มีเจ้าหน้าที่เรือนจำที่ให้ปากกานายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิ้น ในการไปศาล ถูกสั่งย้ายไปแล้ว 3คน

        "ผู้ต้องขังคดีการเมืองได้รับความเป็นธรรมน้อยกว่ามาตรฐานสากลอยู่มาก อยากให้กรมราชทัณฑ์ตรวจสอบกรณีที่เกิดขึ้นให้มีมาตรฐาน หลังจากนี้กมธ.ฯ จะไปสอบถามผู้ต้องขังคดีการเมืองคนอื่นเพิ่มเติม เช่น นายอานนท์ นําภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก ส่วนใครที่ยังไม่ได้รับการประกันตัว  กมธ.จะเข้าไปสอบถามถึงในเรือนจำ"นายธีรัจชัย แถลง

       นายธีรัจชัย ยังแถลงต่อประเด็นการตรวจสอบบ้านพักของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่กองทัพบกให้พักอาศัย ในกรมทหารราบที่1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ แม้พ้นจากราชการ ว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า กองทัพบกคือ ผู้ที่ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในราชการของกองทัพบก ไม่ใช่เขตของกรมทหารราบที่1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์  ดังนั้นการลงพื้นที่ตรวจสอบต้องขออนุญาตจากกองทัพบก นอกจากนั้น กมธ.อยู่ระหว่างตรวจสอบคือ ระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ.2548 ไม่มีกฎหมายใดรองรับและไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะถือเป็นระเบียบที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เรื่องนี้กมธ.จะหยิบยกมาตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง กฎหมายใดถ้าใช้แบบมีข้อกังขา ถ้าเวลาแปรเปลี่ยนไป อาจถูกนำมาตรวจสอบได้.