‘หุ้นส่งออก’ เด้งรับเศรษฐกิจโลกฟื้น โบรกจ่อเพิ่มเป้ากำไรปี 64

‘หุ้นส่งออก’ เด้งรับเศรษฐกิจโลกฟื้น โบรกจ่อเพิ่มเป้ากำไรปี 64

โบรกฯ เล็งเพิ่มเป้ากำไรหุ้นส่งออกปีนี้ หลังประกาศงบไตรมาส 1/64 รับอานิสงส์เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว "บล.เอเซีย พลัส" แนะลงทุนรายบริษัท หลังราคาหุ้นพุ่งแรก "บล.ฟินันเซีย ไซรัส" เชื่อยอดส่งออกเดือน เม.ย.ดีต่อเนื่อง ทยอยเพิ่มคาดการณ์กำไรหุ้นตัวอื่นในกลุ่ม

ความเคลื่อนไหวของดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกช่วงวันที่ 1-10 พ.ค.2564 ปรับขึ้นแรง นำโดยกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ปรับขึ้น 21.9% และกลุ่มสินค้าเกษตร 1.5% เทียบกับดัชนีหุ้น SET ที่ปรับขึ้นเพียง 0.3%

นายชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัยเตรียมที่ปรับเพิ่มเป้ากำไรหุ้นกลุ่มส่งออกปีนี้ขึ้น หลังจากการแจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2564 จากเดิมที่คาดว่ากำไรกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จะอยู่ที่ 13,226 ล้านบาท เติบโต 22% กลุ่มเกษตร-อาหาร 86,283 ล้านบาท เติบโต 42% และ กลุ่มยานยนต์ 2,923 ล้านบาท เติบโต 94%

162075458334

ทั้งนี้ กลุ่มส่งออกได้แรงหนุนจากตัวเลขส่งออกของไทยที่ปรับขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เพราะได้รับปัจจัยบวกจากประเทศเศรษฐกิจใหญ่ของโลก เช่น สหรัฐ ยุโรป และจีน ทยอยฟื้นตัวภายหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 การลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อ และการทยอยเปิดประเทศในไตรมาส 2 ปี 2564 สะท้อนจากราคาหุ้นในกลุ่มที่ปรับขึ้นนำตลาดในช่วง 6 วันทำการแรกของเดือนนี้

อย่างไรก็ดี ราคาหุ้นในกลุ่มปรับขึ้นเกินราคาเหมาะสมที่นักวิเคราะห์ประเมินไปมาก จึงแนะนำซื้อหุ้นที่แนวโน้มกำไรฟื้นตัว และราคาหุ้นยังมีโอกาสปรับขึ้น (อัพไซด์) เช่น บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ราคาเหมาะสม 20 บาทต่อหุ้น, บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER) 7.50 บาทต่อหุ้น และ บมจ.สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี (SAT) 19.60 บาทต่อหุ้น

“กลุ่มส่งออกได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเป็นหนึ่งในกลุ่มหุ้นที่ปรับขึ้นนำตลาดหุ้นไทย เทียบกับกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในประเทศยังปรับขึ้นได้ไม่ดีนัก เพราะเผชิญกับแรงกดดันจากโควิด-19 ในประเทศ ล่าสุด พบสายพันธุ์อินเดียเข้ามา”

นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด กล่าวว่า ราคาหุ้นในกลุ่มส่งออกปรับขึ้นตอบรับปัจจัยบวกจากตัวเลขส่งออกของไทยเดือน มี.ค.ที่ปรับขึ้น 8.47% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ (นิวไฮ) มูลค่า 24,222.45 ล้านดอลลาร์ ดีกว่าที่นักวิเคราะห์ในตลาดคาดเอาไว้ โดยเฉพาะหุ้นถุงมือยาง ยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่คาดว่าตัวเลขการส่งออกเดือน เม.ย.จะยังปรับขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้การฟื้นตัวของภาคการส่งออกจะเป็นปัจจัยหนุนต่อประมาณการกำไรของกลุ่มในปีนี้ ล่าสุด ฝ่ายวิจัยปรับเพิ่มคาดการณ์กำไรของ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) มาอยู่ที่ 6,521 ล้านบาท เติบโต 4.4% จากเดิมคาดว่าจะมีกำไร 6,035 ล้านบาท ลดลง 8% โดยจะทยอยปรับเพิ่มประมาณการกำไรของหุ้นในกลุ่มตัวอื่นๆ ต่อไป