‘คริปโตอสังหาฯ’แค่กิมมิคหรือของจริง?

‘คริปโตอสังหาฯ’แค่กิมมิคหรือของจริง?

สกุลเงินดิจิทัล เคยถูกมองว่าเป็นเพียงแค่การเก็งกำไร แต่หลาย 10 ปีแล้วที่ถูกนำมาใช้เป็น “สื่อกลาง” แลกเปลี่ยนสินค้าหรือใช้ชำระแทนเงินด้วย คริปโตเคอเรนซี ไม่ว่าจะเป็นโรงภาพยนต์ รองเท้า ร้านชาบูบุฟเฟต์ชาบูสไมล์ กระทั่งล่าสุด ค่ายอสังหาริมทรัพย์

สุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด กล่าวว่า 1-2 ปีที่ผ่านมากระแสการใช้ สกุลเงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency สกุลต่างๆ เพื่อซื้อสินค้าและบริการ รวมไปถึงอสังหาฯ นั้น มีให้เห็นต่อเนื่องเพียงแต่ในประเทศไทยอาจจะไม่ชัดเจนเท่านั้น จนเมื่อ “อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์” ร่วมกับ บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ตัวแทนในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลในการนำ “บิทคอยน์” ซึ่งเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ดิจิทัลยอดนิยมมาใช้ชำระแทนเงินสดในการซื้อคอนโดหรือบ้านในเครืออนันดาฯ ได้ทุกโครงการ เพียงแต่ต้องทำธุรกรรมผ่านแอพพลิเคชั่นของบิทคับเท่านั้น

“กลายเป็นเรื่องแปลกใหม่และสร้างความน่าสนใจให้กับวงการอสังหาริมทรัพย์พอสมควร เพราะเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ผู้ประกอบการออกมายอมรับว่าเงินคริปโต สามารถนำมาใช้แทนเงินสดได้ ”

ก่อนหน้านี้มีผู้ประกอบการอสังหาฯ ที่ประกาศรับเงินคริปโตเช่นกัน คือ “ยู พรอมท์” ’ผู้พัฒนาโครงการบ้านจัดสรรในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเปิดรับการชำระด้วยคริปโตแทนเงินสดเช่นกัน อย่างไรก็ตามในประเทศไทยมีการใช้สกุลเงินดิจิทัลเงินในการซื้อขายหรือเช่าอสังหาฯ มาก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่เป็นการซื้อขาย/เช่าของบริษัทตัวแทนนายหน้าเท่านั้น ยังไม่มีการซื้อ/ขายกับผู้ประกอบการโดยตรง อาทิ บริษัท ดีวัน พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด บริษัทที่เป็นตัวแทนนายหน้าขายอสังหาฯ บนเกาะช้าง เกาะกูด เกาะหมาก มีการรับบิทคอยน์เพื่อใช้ชำระแทนเงินสดเพียงแต่จำนวนอสังหาฯ ที่รับชำระด้วยบิทคอยน์นั้นอาจจะยังไม่มากนัก อาทิ บ้านขนาด 1,784 ตร.ม. 4 ห้องนอน 5 ห้องน้ำ ที่เกาะช้างบริษัทขายในราคา 22.449 บิทคอยน์ และล่าสุดบริษัท คอนโดไทย จำกัด ตัวแทนนายหน้าที่รับชำระค่าเช่าคอนโดด้วยคริปโตเช่นกัน

สุรเชษฐ มองว่า คริปโทเคอร์เรนซี กับตลาดอสังหาฯ นั้นมีความเป็นไปได้ที่จะมีความน่าสนใจมากขึ้น หรือได้รับการยอมรับมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีเศรษฐีหรือคนที่มีรายได้จากการถือคริปโตเคอเรนซี จำนวนเพิ่มขึ้น และคนกลุ่มนี้กลายเป็นเศรษฐีใหม่ที่อายุน้อยที่ต้องการแลกเปลี่ยนคริปโตมาเป็นอสังหาฯ หรือเงินจริงที่ "ไม่ใช่" สินทรัพย์ดิจิทัล เพราะสินทรัพย์ดิจิทัลในปัจจุบันยังมีความผันผวนที่รุนแรง และยังค่อนข้างอ่อนไหว

อนาคตเมื่อหลายประเทศในโลกมีการใช้คริปโตในการแลกเปลี่ยนสินค้ามากขึ้น ก็เป็นไปได้ที่ตลาดอสังหาฯ ในประเทศไทยจะใช้คริปโตเป็นหนึ่งในทางเลือกของการซื้อขายอสังหาฯ แต่คงเป็นแค่หนึ่งในทางเลือกเท่านั้น ไม่ได้เข้ามาทดแทนเงินที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ยกเว้นว่ามีการประกาศใช้เงินสกุลดิจิทัลกันทุกประเทศทั่วโลก อีกอย่างที่น่าสนใจสำหรับการใช้เงินคริปโตในการซื้ออสังหาฯ คือ ค่าธรรมเนียมในการโอนนั้นเท่ากันหมดทั้งโลกและต่ำมาก

สุรเชษฐ กล่าวว่า ในต่างประเทศอาจจะเห็นได้ว่ามีบริษัทตัวแทนนายหน้าหลายรายขายบ้านหรือคอนโดของตนเองโดยผู้ซื้อสามารถใช้เงินคริปโตมาชำระแทนเงินสดได้ แต่สกุลหลักที่มีการยอมรับในการแลกเปลี่ยน คือ บิทคอยน์ อีเธอร์เลียม เท็ตเธอร์ (USDT) โดยเจ้าแรกๆ ที่ประกาศว่ายินดีรับเงินคริปโต คือ Antalya Homes บริษัทนายหน้าในประเทศตุรกีที่หาโอกาสในช่วงวิกฤติโควิด-19 ซึ่งมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อ แต่ในเรื่องของเงินคริปโตนั้นกลับร้อนแรงไม่หยุด จึงได้ประกาศว่าผู้ซื้อทุกท่านสามารถนำบิทคอยน์มาชำระแทนเงินสดในการซื้ออสังหาฯ ของบริษัทโดยจะทำธุรกรรมผ่านตัวแทนเพื่อหาอัตราแลกเปลี่ยน และยังยินดีรับเงินคริปโตสกุลอื่นๆ อีกด้วย เช่น BCH, ETH, LTC ,USDT และ XRP ด้วย

ที่ผ่านมามีผู้ชำระด้วยบิทคอยน์ราว 60% USDT หรือ USDC 20% และอีกประมาณ 10% เป็น อีเธอร์เลียม หรืออีก 1 ตัวอย่างในต่างประเทศที่เป็นบริษัทนายหน้าอสังหาฯ ที่ยินดีรับเงินคริปโตหลายสกุลในการชำระแทนเงินสดในการซื้ออสังหาฯ คือ “Bithome” ซึ่งผู้ซื้อสามารถเลือกซื้ออสังหาฯ ได้หลายประเทศในสหภาพยุโรป เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี โปแลนด์ โรมาเนีย ไซปรัส รวมถึงประเทศในทวีปอเมริกา เช่น สหรัฐ คอสตาริกา และเม็กซิโก

ในเว็บไซต์จะบอกราคาอสังหาฯ เป็นบิทคอยน์ เช่น อพาร์ทเม้นต์ขนาด 11 ห้องนอน 11 ห้องน้ำขนาดพื้นที่มากกว่า 1,000 ตารางเมตร ในไซปรัสบอกราคาขายเท่ากับ 39 บิทคอยน์ หรือบ้านขนาด 200 ตารางเมตรในเมืองฮุสตัน สหรัฐ บอกขายในราคา 12 บิทคอยน์ เป็นต้น

แม้ว่ากระแสของคริปโตในต่างประเทศจะรุนแรง โดยเฉพาะเรื่องของบิทคอยน์ ณ วันที่ 6 พ.ค.2564 มีมูลค่า 56,900 ดอลลาร์ หรือประมาณ 1.8 ล้านบาท! แต่ในประเทศไทยอาจจะยังไม่มีมาตรฐานหรือหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโตเคอเรนซี ซึ่งยังคงเป็นเรื่องที่ต้องตกลงกันระหว่าง “ผู้ที่รับ” และ “ผู้ที่ใช้” โดยมีตัวกลางเพื่อเป็นผู้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยน