Aspen Coin โทเคนดิจิทัลอ้างอิงกับมูลค่ารีสอร์ท

Aspen Coin โทเคนดิจิทัลอ้างอิงกับมูลค่ารีสอร์ท

ทำความรู้จัก "Aspen Coin" โทเคนดิจิทัลของ The St.Regis Aspen Resort ที่มีการอ้างอิงจากการที่นำอสังหาริมทรัพย์มาแปลงทรัพย์สินที่มีอยู่ให้กลายเป็นโทเคนดิจิทัล มีลักษณะอย่างไร? จุดเด่นอย่างไร? แล้วส่งผลต่อนักลงทุนอย่างไรบ้าง?

ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยอธิบายถึงการระดมทุนแบบ “Asset Tokenization” ว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และเป็นช่องทางในการเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่มีทรัพย์สินหนุนหลังชัดเจน เช่น อสังหาริมทรัพย์ที่สามารถแปลงทรัพย์สินที่มีอยู่ให้กลายเป็นโทเคนดิจิทัล และนำเสนอขายต่อประชาชน ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ The St.Regis Aspen Resort ในรัฐโคโลราโด สหรัฐ ที่มีการออกโทเคน Aspen Coin โดยอ้างอิงจากทรัพย์สินของรีสอร์ท

  • การทำ Tokenization ของ Aspen Coin

การระดมทุนโดยการออกโทเคนดิจิทัล หรือ Tokenization ทำได้ใน 2 ลักษณะ คือ 1.การทำ Project Base ซึ่งเป็นการที่บริษัทผู้ระดมทุนอยากได้เงินทุนเพื่อทำโครงการ จึงหาเงินลงทุนด้วยวิธีการเสนอขายโทเคนที่ระบุสิทธิและเงื่อนไขของการร่วมลงทุนไว้

2.การทำ Asset Back ซึ่งเป็นการที่บริษัทผู้ระดมทุนไม่ได้ขอเงินผู้ลงทุนไปทำโปรเจคโดยตรง แต่เป็นการเสนอขายโทเคนในลักษณะที่มีทรัพย์สินที่มีมูลค่าหนุนหลัง เช่น โรงแรม ที่ดิน ภาพวาด หรือแม้แต่หลักทรัพย์ในแบบเดิม ไม่ว่าจะเป็น Stocks หรือ Bond ก็สามารถนำมาทำเป็น Underlying Asset ในการออกโทเคน

ในกรณีของ Aspen Coin นั้น St.Regis เลือกใช้วิธีการระดมทุนแบบที่สองโดยนำรีสอร์ทมาประเมินเพื่อตีราคาและกำหนดมูลค่า โดยการแตกหน่วยให้อยู่ในรูปแบบโทเคนดิจิทัลที่เรียกว่า Aspen Coin ซึ่งได้มีการแตกหน่วยลงทุนและออกขายต่อประชาชนมากถึง 18 ล้านโทเคน โดยกำหนดให้ 1 Aspen Coin มีราคาเท่ากับ 1 ดอลลาร์ และเสนอขายผ่านแพลตฟอร์มของ Indiegogo (listed ใน Templum Markets) โดยมีวัตถุประสงค์ในการขายให้กับนักลงทุนในสหรัฐเป็นหลัก ทั้งนี้ ขั้นตอนในการเสนอขาย รวมถึงการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเป็นไปตามกฎหมายหลักทรัพย์ของสหรัฐ

  • จุดเด่นคือคือการได้กรรมสิทธิ์

Aspen Coin ถือเป็นนวัตกรรมในการลงทุนที่สร้างสรรค์โดยการนำ “การถือครองกรรมสิทธิ์ใน Aspen Resort มาแตกเป็นหน่วยลงทุน” และเปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถร่วมลงทุนและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้ตามสัดส่วนที่กำหนด (แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงเพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานของบริษัท) ดังนั้น Aspen Coin จึงเป็นหลักทรัพย์ หรือ Financial Securities ประเภทหนึ่งที่มีมูลค่าและก่อให้เกิดสิทธิต่างๆ ทางกฎหมาย และผู้ที่ถือครองย่อมมีกรรมสิทธิ์ ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบการระดมทุนแบบ Project Base ที่ผู้ระดมทุนไม่ได้ประสงค์จะก่อนิติสัมพันธ์ในเชิงกรรมสิทธิ์กับผู้ลงทุน

  • การกำหนดสิทธิของ Aspen Coin

ในหลักการ เมื่อมีการออกโทเคนดิจิทัลแล้ว ผู้ออกจะกำหนดสิทธิในการถือครองโทเคนดังกล่าว ซึ่งอาจแบ่งได้ใน 2 ลักษณะ คือ “โทเคนเพื่อการลงทุน” ซึ่งเป็นการกำหนดสิทธิให้แก่ผู้ถือในการร่วมลงทุนในโครงการ หรือกิจการใดๆ ที่มีทรัพย์สินหนุนหลัง โดยอาจกำหนดให้มีสิทธิในการได้รับส่วนแบ่งรายได้หรือกำไรภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด อย่างที่สอง คือ “โทเคนเพื่อการใช้ประโยชน์” ซึ่งเป็นการกำหนดสิทธิในการเข้าถึงสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจง

กรณี Aspen Coin นั้น St. Regis ออกโทเคนที่มีลักษณะของการผสมผสานระหว่างผลประโยชน์ทั้งสองแบบ กล่าวคือผู้ถือครองอาจได้รับเป็นเงินปันผล หรือรับส่วนแบ่งจากกำไรจากกิจการของรีสอร์ท รวมไปถึงส่วนลดและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในการเข้าพัก ซึ่งลักษณะพิเศษนี้ทำให้ผู้ถือครองเปรียบเสมือนเป็นผู้ถือหุ้นที่อาจได้รับสิทธิประโยชน์อื่นๆ จากการบริการของรีสอร์ทเพิ่มเติมจากส่วนแบ่งกำไรตามปกติ ซึ่งแตกต่างจากการถือหุ้นทั่วไปที่จะได้เงินปันผลเป็นหลัก

  • St.Regis และ Investor ได้อะไร

การออก Aspen Coin มีประโยชน์ต่อกิจการของ St.Regis และมีข้อดีต่อนักลงทุนหลายประการ ประการแรก St.Regis ได้เงินจากการระดมทุนเพื่อมาหมุนเวียนในกิจการโดยไม่ผ่านตัวกลางทางการเงินอื่น เช่น ไม่จำเป็นต้องขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน (ซึ่งอาจมีต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงกว่า) ในขณะเดียวกันนักลงทุนที่เข้าซื้อ Aspen Coin ก็สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนเหรียญได้ตลอดเวลาผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเป็นการปลดล็อกการลงทุนใน “ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์” ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูงและเข้าถึงได้ยาก อันเป็นการลด Minimum investment threshold ในการลงทุน

ประการที่สอง การใช้เทคโนโลยีในการแตกหน่วยกรรมสิทธิ์ของรีสอร์ทตามหลักสัดส่วนนี้ อาจช่วยให้นักลงทุนรายต่างๆ ที่มีกรรมสิทธิ์จากการถือครองเหรียญ ไม่ต้องจดทะเบียนการโอนสิทธิหรือทำนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบเดิมที่อาจมีขั้นตอนที่ใช้เวลา และมีค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นต้นทุนประกอบด้วย

ประการที่สาม สำหรับนักลงทุนถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ หากเปรียบเทียบกับการซื้อคริปโตหรือโทเคนประเภทอื่นๆ ที่ไม่มีทรัพย์สินหนุนหลัง ซึ่งอาจไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินใดๆ ของผู้ออกเหรียญได้

ประการที่สี่ การใช้อีเธอเรียม (Ethereum) เป็น host currency ทำให้การทำธุรกรรมต่างๆ เกี่ยวกับเหรียญบนเครือข่ายอีเธอเรียมบล็อกเชน มีความโปร่งใสและปลอดภัยสูง ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเงื่อนไขโดย St.Regis เอง หรือการทำธุรกรรมในทอดถัดๆ มา จะถูกบันทึกไว้ในรูปแบบโค้ดผ่านสมาร์ทคอนแทรคและไม่อาจแก้ไข การบันทึกในลักษณะนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบการทำธุรกรรมต่างๆ ในภายหลัง

ท้ายที่สุด Aspen Coin ถือเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนหยิบยกมาเล่าให้ฟัง ซึ่งการทำ Asset Tokenization ในลักษณะนี้ ถือว่าเป็น Asset Class แบบใหม่ที่น่าสนใจ และผู้เขียนเชื่อว่าทิศทางของกฎหมายและการทำนโยบายด้านการลงทุนของหลายประเทศ เริ่มให้การยอมรับการแปลงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินผ่านโทเคนเพิ่มมากขึ้น

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน