สธ.ย้ำ 'วัคซีนโควิด-19' ลดป่วยหนัก-ตาย-แพร่โรคในครอบครัว

สธ.ย้ำ 'วัคซีนโควิด-19' ลดป่วยหนัก-ตาย-แพร่โรคในครอบครัว

ยอดจองฉีดวัคซีนโควิด19 ยังต่ำกว่าเป้าถึง 90% สธ.ยันไม่มีคนไทยเสียชีวิตหลังฉีดแล้วกว่า 1.8 ล้านโดส ย้ำประโยชน์มากกว่าผลข้างเคียงมาก ลดป่วยหนัก-ตาย แอสตร้าฯลดแพร่เชื้อในครอบครัวถึง 50% คิวจองฉีดวัคซีนในกทม.มีว่างอีกกว่า 7-8 แสนคิว

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 11 พ.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวพิเศษสถานการณ์โควิด19 นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.)กล่าวว่า การลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด 19 ผ่านหมอพร้อม ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ซึ่งมี 16 ล้านคน ขณะนี้ตัวเลขของทั้งสองกลุ่มจริงๆ มี 16 ล้านคน แบ่งเป้นผู้สูอายุ 60 ปีขึ้นไป 11.7 ล้านคน และกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง 4.3 ล้านคน แต่การลงทะเบียนเพื่อรับการฉีดวัคซีนยังน้อยอยู่ 1.7 ล้านคน หรือประมาณ 10% ของจำนวนคนทั้งหมด เหตุผลอาจเพราะความกังวลในอาการไม่พึงประสงค์ของการฉีดวัคซีน และการเข้าถึงระบบหมอพร้อมผ่านไลน์และแอปพลิเคชันหมอพร้อม ซึ่งผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังอาจยังกระตือรือร้นช้าอยู่

ทั้งนี้ การให้วัคซีนแก่สองกลุ่มนี้ก่อน เพื่อรักษาและคุ้มครองชีวิต ยืนยันว่าไม่ได้ละเลยคนกลุ่มอื่น ไม่ว่ากลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยง หรือกลุ่มที่ทำงานด่านหน้า หรือกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดที่จำเป็นด้านเศรษฐกิจที่จัดลำดับไว้ แต่ที่เราเปิดลงทะเบียนหมอพร้อมในสองกลุ่มนี้ ก็สัมพันธ์กับจำนวนวัคซีนล็อตใหญ่ที่จะได้รับช่วงแรก มิ.ย. และ ก.ค.

"อยากกระตุ้นคนไทยทั้งประเทศว่า ในช่วง 2 สัปดาห์นี้ ขอให้คนไทยทุกคนช่วยผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรังที่หากติดเชื้อมีความเสี่ยงสูงในการเสียชีวิต ขอให้ทุกคนช่วยพา 2 กลุ่มนี้เข้าถึงระบบหมอพร้อมให้เร็วและมากที่สุด โดยลูกหลานอาจช่วยลงทะเบียนให้ผ่านหมอพร้อม หรือพาไปลงทะเบียนที่ รพ.ใกล้บ้าน รพ.สต. เพื่อฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด ขอให้ช่วยกันเพื่อรักษาคุ้มครองชีวิตคนสองกลุ่มนี้ ส่วนการฉีดกลุ่มอื่นก็เตรียมงานคู่ขนานไป และอาจจะฉีดได้เร็วตามการจัดหาวัคซีนที่ได้มา ทั้งนี้ การมีวัคซีนไม่สำคัญเท่าการได้ฉีด เพราะถ้ามีแต่ไม่ได้ฉีดก็ไม่มีประโยชน์ เราต้องช่วยคนในบ้าน พาไปรับลงทะเบียนเพื่อให้ได้รับการฉีดเร็วที่สุด" นายสาธิตกล่าว

ย้ำวัคซีนโควิดลดป่วยหนัก-ตาย

ด้านนพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข  ในฐานะประธานอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 กล่าวว่า จากข้อมูลโรคโควิด19 ผู้ที่อาการหนักและเสียชีวิตส่วนใหญ่คือ กลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง จึงเป็นเหตุผลที่ต้องให้วัคซีนป้องกันโควิด18ในกลุ่มเสี่ยงนี้ก่อน เพราะประโยชน์จากวัคซีนโดยตรงที่มีการศึกษาในทุกยี่ห้อ คือ ลดอาการรุนแรง ลดการเสียชีวิตได้

ข้อมูลในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดของประเทศไทย ขณะนี้มีการใช้เตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก 956 เตียง โดยใช้ไปทั้งหมด 85% มีเตียงว่างในภาครัฐ 44 เตียง และเอกชน 95 เตียง จึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้คนกลุ่มนี้ เพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรคจนต้องเข้าไอซียู ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้น ซึ่งกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคให้ข้อมูลว่า ปัจจัยเสี่ยงคือมีโรคประจำตัว 86% และอายุมัธยฐานอยู่ที่ 65 ปี นี่ก็เป็นเหตุผลที่ควรให้วัคซีนกลุ่มนี้ก่อน โดยสาเหตุการติดเชื้อของผู้เสียชีวิต พบว่า 58% ติดจากคนในครอบครัว หรือญาติมาเยี่ยม หรือจากเพื่อน และอีก 18% ไปในแหล่งชุมชน 5% อาชีพเสี่ยง และอื่นๆ

"ปัจจัยที่จะทำให้เตียงรพ.ไม่ต้องรับผู้ป่วยหนักมากขนาดนี้ และป้องกันชีวิตคนในครอบครัว คนที่เรารัก คือ วัคซีน จะลดความสูญเสีย ลดการมานอนใน รพ.ได้อย่างดี ขณะที่ประสบการณ์ต่างประเทศ อย่างอังกฤษ สหรัฐ เห็นได้ชัดว่าหลังการฉีดวัคซีน ตัวเลขการป่วยลดลง นี่คือ จุดที่กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดการฉีดวัคซีน”นพ.โสภณกล่าว

นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่า วัคซีนแอสตราเซเนกา จะเป็นวัคซีนหลักในการฉีดให้พี่น้องประชาชนที่จองผ่าน “หมอพร้อม” ที่จะเริ่มฉีดในวันที่ 7 มื.ย.นี้ โดยข้อมูลการศึกษาพบว่า ป้องกันการป่วยได้ถึง 76% เพียงฉีดเข็มเดียว และยังลดความเสี่ยงการเสียชีวิตได้ถึง 80% จึงต้องเร่งรัดให้มีการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ได้มากที่สุดโดยเร็า ทั้งนี้ แม้วัคซีนจะมีผลข้างเคียง แต่เมื่อเทียบกันแล้วผลข้างเคียงน้อยมาก ประโยชน์มากกว่า แต่เพราะมีการออกสื่อ ออกโซเชียลมีเดียมาก พี่น้องประชาชนได้รับข้อมูลผลข้างเคียงมากกว่าประโยชน์ จึงทำให้กังวล

วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าลดแพร่ในครอบครัว 50%

"ขอย้ำว่า วัคซีนจะลดความรุนแรงของโรค ลดการเสียเสียชีวิต ไม่ว่าจะวัคซีนแอสตร้าฯ หรือซิโนแวค ที่สำคัญยังลดการแพร่โรคได้ด้วย โดยเฉพาะแอสตร้าฯ พบว่าสามารถลดการแพร่โรคในครอบครัวได้ถึง 50% จึงเป็นประโยชน์มากในครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ พ่อแม่ปู่ย่าตายาย อย่างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ยังรับวัคซีนแอสตร้าฯไม่ได้ หากฉีดในปู่ย่า พ่อแม่ ก็จะช่วยลดการแพร่โรคต่อในครอบครัวได้" นพ.โสภณกล่าว

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า หลังฉีดวัคซีนยังสามารถช่วยให้พวกเรากลับมาใช้ชีวิตแบบนิวนอร์มัลวิถีใหม่ และทำให้ประเทศขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ซึ่งจังหวัดที่ให้ความสนใจและเร่งรัดให้พี่น้องประชาชนมาฉีดวัคซีน อย่างภูเก็ต คิดว่าจะเดินหน้าเศรษฐกิจได้รวดเร็ว หรืออ.แม่สอด จ.ตาก หรือสมุทรสาคร อัตราเกิดโรคลดลง ดังนั้น จังหวัดที่เร่งรัดฉีดวัคซีนได้มากก็จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติวิถีใหม่ได้เร็วขึ้น ส่วนผลข้างเคียงมีน้อยมาก และมีระบบการดูแลความปลอดภัยหลังการฉีด ซึ่งมีการสังเกตอาการหลังฉีด 30 นาที แต่ปัจจุบันยังไม่มีใครเสียชีวิตหลังจากการฉีดวัคซีนในประเทศไทย ที่ฉีดไปแล้วกว่า 1.8 ล้านโดส อีกทั้ง เรามีระบบการเยียวยาหากเกิดผลข้างเคียงจากวัคซีน ดังนั้น ขอให้พวกท่านมั่นใจ และชั่งน้ำหนักว่า ประโยชน์มีมากกว่าผลข้างเคียง สิ่งสำคัญเพื่อป้องกันตัวเอง และคนในครอบครัว" นพ.โสภณกล่าว

รพ.เอกชนล็อกฉีดไว้เฉพาะผู้ป่วยประจำ

ด้าน นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นายแพทย์ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาระดับกระทรวง กล่าวว่า วขอนำเรียน 3 เรื่อง คือ 1. ช่องทางการเข้าระบบ “หมอพร้อม” ซึ่งออกแบบ 2 ช่องทางสำหรับ 2 กลุ่มคน โดยช่องทางแรกสำหรับคนกรุงเทพฯ หรือในเขตเมือง โดยออกแบบหมอพร้อมที่เป็น LINE OA และ แอปพลิเคชัน ส่วนประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัด จะใช้ระบบอะนาล็อก โดยอสม. หรือรพ.สต. ในการคีย์ข้อมูลจองฉีดวัคซีนโควิด ซึ่งข้อมูลจะมาถึงส่วนกลางทั้งหมด อย่างเขตกรุงเทพฯ จากเป้าหมาย 1.2 ล้านคน มีจองเข้ามาประมาณ 6 แสนคน ส่วนต่างจังหวัดมีตัวอย่างลำปางโมเดล อาศัย อสม. และรพ.สต. คีย์เข้ามาในระบบ ในช่วงสัปดาห์แรกแต่ละจังหวัด โดยอยู่ในช่วง อสม.ออกไปสำรวจ และระหว่างนี้กำลังคีย์ข้อมูลเข้ามาในส่วนกลาง 2. องค์ประกอบของการจองฉีดวัคซีน มี 3 ส่วน คือ ไลน์ หรือแอปพลิเคชัน และระบบจะทำงานก็ต่อเมื่อ รพ. เปิดให้จอง และรพ.ต้องเอาชื่อผู้ป่วยขึ้นด้วย
และ3.ปัญหาที่พบบ่อยกรณีเลือก รพ.แล้ว แต่จองไม่ได้ สาเหตุหลักคือ กรณีรพ.เอกชน จะให้บริการฉีดวัคซีนให้เฉพาะผู้ป่วยที่เคยรับบริการของรพ.นั้นๆ อาจมีบางแห่งที่อนุญาต อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ กทม. ยังมีคิวว่างให้ฉีดวัคซีนอีก 7-8 แสนคิว

“สำหรับปัญหาที่พบบ่อย คือ บุคลากรที่อยู่ในคลินิกเอกชน ทันตแพทย์ ฯลฯ ในพื้นที่กทม.จะทำอย่างไร ซึ่งให้ติดต่อสำนักอนามัย กทม. ส่วนต่างจังหวัดให้ติดต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และในกรณีบางท่านเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง แต่ไม่สามารถเข้าได้ สามารถให้ทางรพ.ที่ท่านรักษาประจำเพิ่มรายชื่อเข้ามาได้ ส่วนคอลเซนเตอร์ของหมอพร้อม ติดต่อ 02 792 2333 โดยวันพรุ่งนี้ (12 พ.ค.) เราจะเพิ่มเป็น 100 คู่สาย และตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.จะสามารถติดต่อได้ 24 ชั่วโมงและจะเพิ่มเป็น 160 คู่สาย” นพ.พงศธร กล่าว