ทางออกจาก 'วิกฤติโควิดรอบสาม'

ทางออกจาก 'วิกฤติโควิดรอบสาม'

"วิกฤติโควิดรอบสาม" เป็นวิกฤติสาธารณสุขล้วนๆ และนโยบายเศรษฐกิจทั้งด้านการเงินและการคลังคือการเยียวยา ซึ่งทำได้เพียงประคับประคองผลกระทบที่จะมีต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนเท่านั้น แล้วทางออกของไทยจากวิกฤติครั้งนี้จะเป็นอย่างไร?

การระบาดของโควิดรอบสามยังไม่มีทีท่าว่าจะจบง่ายๆ ดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ยังสูงและความเสี่ยงที่ยังมีมาก ทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะยืดเยื้อและมีมาก ล่าสุดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสัปดาห์ที่แล้ว สรุปภาพเศรษฐกิจขณะนี้ค่อนข้างครบถ้วน รวมถึงแนวโน้มจากนี้ไป วันนี้จึงอยากเขียนเรื่องนี้ พร้อมให้ความเห็นผมเองเกี่ยวกับเศรษฐกิจและนโยบายที่เราควรให้ความสำคัญ

แถลงข่าวของคณะกรรมการนโยบายการเงิน เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ให้ภาพเศรษฐกิจอย่างชัดเจนใน 5 ประเด็น

1.เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากผลการระบาดของโควิดรอบสาม นั่นคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจถูกกระทบจากการใช้จ่ายในประเทศที่ชะลอลง และการท่องเที่ยวที่จะไม่ฟื้นตัวตามที่เคยประเมินกัน ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้จะต่ำกว่าที่ประมาณการไว้เดิม คือขยายตัวประมาณร้อยละ 1-2 ขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการจัดหาวัคซีนเป็นหลัก

2.ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจตอนนี้คือ การส่งออกที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและการใช้จ่ายภาครัฐผ่านมาตรการเยียวยา แต่แรงกระตุ้นจากสองปัจจัยนี้มีข้อจำกัด กล่าวคือการส่งออกที่ฟื้นตัวให้ผลต่อการจ้างงานในตลาดแรงงานค่อนข้างต่ำ ขณะที่มาตรการเยียวยาภาครัฐก็เป็นแรงกระตุ้นระยะสั้น ให้ผลชั่วคราว และมีผลต่อเศรษฐกิจไม่มาก อย่างที่เคยเขียนไว้ เพราะเป็นการใช้จ่ายจากการกู้เงินในประเทศที่มาทดแทนการใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นโดยครัวเรือนในส่วนอื่น

3.จากที่เศรษฐกิจตอนนี้ขับเคลื่อนด้วยการส่งออกเป็นหลัก การฟื้นตัวจึงค่อนข้างกระจุก ไม่กระจายตัว ส่งผลไม่ทั่วถึง ทำให้ตลาดแรงงานยังไม่ได้ประโยชน์และยังคงเปราะบางจากปัญหาการว่างงาน แบงก์ชาติประเมินว่าสิ้นปีหน้าจำนวนคนตกงานอาจอยู่ระหว่าง 2.7-2.9 ล้านคน ขึ้นอยู่กับความสำเร็จของการจัดหาและกระจายวัคซีนเพิ่มเติม 

นอกจากนี้ตัวเลขคนว่างงานอาจเพิ่มขึ้นอีกจากความเสี่ยงที่แรงงานบางกลุ่มจะว่างงานนานขึ้นจนเข้าเกณฑ์ตกงาน ขณะที่บางส่วนอาจหยุดหางานและตัดสินใจออกจากกำลังแรงงานเพราะหางานทำไม่ได้ และที่น่าเป็นห่วงคือ คนที่ไม่ได้ทำงานนานจะสูญเสียทักษะไม่กล้ากลับไปทำงาน หรือกลับสู่ตลาดแรงงานได้ยากขึ้น ซึ่งจะมีผลระยะยาวต่อเศรษฐกิจ

4.ฐานะการเงินของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็กทรุดลงมากขึ้นจากผลของวิกฤติ กระทบความสามารถในการชำระหนี้ทั้งในระดับบริษัทและในระดับบุคคล ทำให้มาตรการที่สามารถกระจายสภาพคล่องไปยังธุรกิจเหล่านี้จึงสำคัญมาก เช่น มาตรการสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน การพักหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยประคับประคองฐานะทางการเงินของกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ ไม่ให้ธุรกิจต้องหยุด เพราะจะทำให้ปัญหาว่างงานยิ่งมีมากขึ้น

5.คณะกรรมการนโยบายการเงิน มองว่าโจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจขณะนี้คือการจัดหาและกระจายวัคซีนให้เพียงพอและทันการณ์ ซึ่งผมเห็นด้วยและเคยเขียนไว้เมื่อสองสัปดาห์ก่อนว่าเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด เพราะจะช่วยปกป้องเศรษฐกิจให้มีภูมิคุ้มกันจากการระบาด ซึ่งสำคัญมากต่อการฟื้นตัว

นี่คือ 5 ประเด็นที่สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจเราขณะนี้ เห็นชัดเจนว่าวิกฤติรอบสามนี้เป็นวิกฤติสาธารณสุขล้วนๆ และนโยบายเศรษฐกิจทั้งด้านการเงินและการคลังคือการเยียวยา ทำได้เพียงประคับประคองผลกระทบที่จะมีต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนเท่านั้น แต่แก้วิกฤติไม่ได้ การแก้ไขวิกฤติต้องอยู่ที่สาธารณสุข คือ หยุดการระบาดที่รัฐต้องทุ่มทรัพยากรเต็มที่ไปที่การหยุดการระบาดทั้งรอบนี้และรอบต่อไปด้วยมาตรการทั้งระยะสั้นและยาว

มาตรการระยะสั้น คือ 1.เสริมสร้างระบบสาธารณสุขของเราให้เข้มแข็ง มีบุคลากร อุปกรณ์ ยาและเครื่องมือครบถ้วน ไม่ขาดแคลนเพื่อดูแลชีวิตประชาชน 2.ใช้ยาแรงหยุดการระบาดด้วยการล็อกดาวน์จริงจังในพื้นที่ที่เป็นจุดระบาดรุนแรง 3.เน้นให้ประชาชนดูแลตัวเองด้วยการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ และรักษาระยะห่าง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อหยุดหรือลดการระบาดให้อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขสามารถดูแลได้

สำหรับระยะยาว การแก้ปัญหาการระบาดคือ การเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนโดยเฉพาะบุคลากรที่ทำงานภาคสนามที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดการระบาดรอบสามและป้องกันการระบาดรอบต่อไปหรือรอบสี่ที่อาจมีในอนาคต ซึ่งวิธีที่จะช่วยภาครัฐได้ดีที่สุดในเรื่องนี้คือ การเปิดเสรีการนำเข้าวัคซีนที่ได้มาตรฐานตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และใช้กลไกตลาดในการกระจายวัคซีน

ประเด็นนี้ผมได้เขียนถึงหลายครั้ง เพราะมองว่าการจัดสรรวัคซีนโดยเร็วเป็นเรื่องจำเป็น และกลไกตลาดสามารถช่วยการจัดสรรได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงลดภาระทางการเงินของภาครัฐ ประเทศอินโดนีเซียก็ใช้แนวทางนี้ โดยเมื่อเดือน ก.พ.มีข่าวว่าประธานาธิบดีโจโควี ประกาศให้ภาคเอกชนสามารถจัดซื้อวัคซีนเพื่อฉีดให้กับบุคลากรและลูกจ้างในภาคธุรกิจได้ ขนานไปกับโปรแกรมภาครัฐ โดยใช้วัคซีนที่แตกต่างไปจากที่ภาครัฐจัดซื้อ

แต่ที่น่ากลัวและต้องไม่ประมาทในสถานการณ์การระบาดขณะนี้คือ ความเสี่ยงที่สถานการณ์ระบาดทั่วโลกโดยเฉพาะในเอเชีย อาจรุนแรงขึ้นจากการระบาดในอินเดียที่ได้กลายเป็นวิกฤติของมนุษยชาติไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในอินเดียเป็นบทเรียนที่ดีของความประมาทในการทำนโยบาย ทำให้ไม่ได้มองไปข้างหน้าอย่างระมัดระวังด้วยเหตุผลทางสาธารณสุข ผลคือภายในเวลาเพียงแปดสัปดาห์ สถานการณ์โควิดพลิกกลับอย่างน่าตกใจ อินเดียกลายเป็นประเทศที่มีการระบาดรุนแรงอันดับต้นๆ ของโลก และส่งผลกระทบมากต่อเศรษฐกิจโลก

จากที่ หนึ่ง อินเดียเป็นเศรษฐกิจใหญ่เป็นห่วงโซ่อุปทานสำคัญของโลก จึงสามารถดึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกให้ทรุดลงตาม สอง ผลกระทบที่มีต่อการผลิตวัคซีนโควิด-19 ที่อินเดียเป็นฐานการผลิตใหญ่ในภูมิภาคที่จะส่งผลกระทบถึงอุปทานของวัคซีนทั่วโลก และ สาม ความเสี่ยงที่การระบาดในอินเดีย ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่จะแพร่กระจายไปในประเทศอื่นๆ ในเอเชีย

ประเด็นหลังนี้ทำให้นโยบายด้านสาธารณสุขของเรายิ่งต้องมองไปข้างหน้าด้วยความไม่ประมาท เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดการระบาดรอบใหม่ ทำให้มาตรการด้านนโยบายต้องทุ่มทรัพยากรเต็มที่ไปที่การเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข เพื่อให้ระบบสาธารณสุขของเรามีความสามารถที่จะดูแลปกป้องชีวิตคนในประเทศได้อย่างเต็มที่

ผมเขียนไว้หลายครั้งว่าระหว่างการระบาดและเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ไม่มีทางเลือก คือ ต้องเลือกสาธารณสุขหรือรักษาชีวิตก่อน โดยต้องทำทุกอย่างที่จะลดหรือควบคุมการระบาด เพราะถ้าการระบาดไม่หยุด เศรษฐกิจก็จะฟื้นไม่ได้

ดังนั้น สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากในแง่นโยบายคือ หนึ่ง สร้างความพร้อมให้กับระบบสาธารณสุขในแง่ความเพียงพอของบุคลากรและอุปกรณ์ โดยทำมากไว้ก่อนดีกว่าทำน้อย เพราะความไม่แน่นอนของสถานการณ์ สอง ปิดหรือล็อกดาวน์บางพื้นที่อย่างจริงจังเพื่อลดการระบาด เช่นกัน ทำมากดีกว่าทำน้อย เพราะความไม่แน่นอนมีมาก สาม เน้นให้ประชาชนช่วยกันระมัดระวังลดการระบาดด้วยการใส่หน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง และลดกิจกรรมสังคมต่างๆ ที่ไม่จำเป็น

สี่ เร่งการฉีดวัคซีนและการจัดหาวัคซีนโดยเปิดให้ภาคเอกชนสามารถมีบทบาทร่วมขับเคลื่อนตามกลไกตลาด และ ห้า รัฐต้องไม่หละหลวมในการควบคุมการข้ามพรมแดนอย่างไม่ถูกกฎหมาย อย่าให้ช่องโหว่อย่างในรอบสองและรอบสามเกิดขึ้นอีก เพราะเป็นรูรั่วที่เจ้าหน้าที่รัฐทำขึ้นที่สร้างความลำบากให้กับเศรษฐกิจ และนำมาสู่การสูญเสียชีวิตของคนในประเทศ