คลังยันไม่เพิ่มทุนการบินไทย

คลังยันไม่เพิ่มทุนการบินไทย

คลังยืนยันไม่ใส่เงินเพิ่มทุนการบินไทยในฐานะผู้ถือหุ้น โดยยอมให้สัดส่วนหุ้นไดรูทลง ชี้ส่วนทุนติดลบนับแสน หากใส่เงินลงไปเท่ากับเป็นการถมทะเล ระบุ การคงสภาพเป็นบริษัทเอกชน ทำให้รัฐไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้

นางปานทิพย์ ศรีวิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน)จะไม่เข้าไปใส่เงินเพิ่มทุนให้แก่บริษัทตามที่ได้ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ เนื่องจาก ขณะนี้ ส่วนทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่ติดลบนับแสนล้านบาท หากกระทรวงการคลังใส่เงินเข้าไป จะถือว่า ใส่เงินเข้าไปถมทะเล

“ส่วนของทุนเขาติดลบเป็นแสน ถ้าเพิ่มทุน ก็เท่ากับว่า เอาเงินไปถมทะเล เพิ่มไม่ได้ เราทำอะไรไม่ได้ และตอบคำถามประชาชนไม่ได้ว่า เอาเงินไปใส่ทำไม และ จะเอาเงินจากไหน ทั้งนี้ เมื่อกระทรวงการคลังไม่เพิ่มทุน ขณะที่ ผู้ถือหุ้นอื่นยอมใส่เงินเพิ่มทุน สัดส่วนหุ้นเราก็จะไดรูทลงเป็นธรรมชาติ”

เมื่อถามว่า ถ้าจะต้องกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลังจะต้องซื้อหุ้นคืนไหม ผอ.สคร.กล่าวว่า ตอนนี้ รัฐถือหุ้นในการบินไทยในสัดส่วนใหญ่สุดที่ 49.99% ถ้าจะเป็นรัฐวิสาหกิจรัฐต้องถือหุ้นเกิน 50% ฉะนั้น ต้องซื้อคืน หรือ แค่ 0.02% ก็เป็นแล้ว ซึ่งหุ้นก็มีขายในตลาดใครก็เข้าไปซื้อได้ แต่ขณะนี้ คลังซื้อไม่ได้ เพราะถ้าคลังซื้อก็เท่ากับว่า จะถือหุ้นเกิน 50%

ส่วนความช่วยเหลือด้านอื่นๆนั้น ผอ.สคร.กล่าวว่า ต้องไปดูที่รูปแบบความช่วยเหลือว่า รัฐจะช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง เพราะมีหลายมิติ และพันกันหลายเรื่อง แต่ที่พูดๆกันเป็นส่วนๆมันไม่ตอบโจทย์ ต้องดูว่า ทางไหนที่ทำได้ และ ทางไหนไม่ตัน ถึงแม้เราอยากจะทำ แต่กฎหมายบอกทำไม่ได้ ก็เป็นทางตัน ฉะนั้น ก็ต้องหาแนวทางอื่นที่เป็นไปได้ ซึ่งแต่ละทางก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

เมื่อถามว่า ในมุมสคร.มองว่า รัฐควรเข้าไปช่วยเหลือบริษัทในทางใดได้บ้าง ผอ.สคร.ตอบว่า ตอนนี้ เราเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เขา ซึ่งเขาคงสถานะการเป็นบริษัทเอกชน การให้ความช่วยเหลือใดๆจากภาครัฐนั้น ถือว่า เราไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ถ้าเข้าไปช่วยเหลือ จะถือว่า เราเลือกปฏิบัติ

“เนื่องจาก เขาไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นบริษัทเอกชนที่กำลังล้มละลาย การที่รัฐบาลจะเอาเงินเข้าไปช่วย จะเข้าข่ายอะไร จะใช้อำนาจอะไร ความเป็นรัฐมันมีหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ใช่ใครขาดทุนอยู่ เช่น บริษัทหนึ่งขาดทุนแล้วให้รัฐไปช่วย ก็เท่ากับเราไปเลือกปฎิบัติ เช่น นกแอร์จะล้มละลาย หรือ ไลออนแอร์ ขาดทุน ขอให้รัฐไปช่วยเหลือ ก็ทำไม่ได้ เพราะเราเป็นแค่ผู้ถือหุ้น อยู่ๆจะเข้าไปช่วยโดยไม่มีสถานะอะไร มันทำไม่ได้”

เมื่อถามต่อว่า จำเป็นต้องคุยกับกระทรวงคมนาคมในประเด็นที่จะให้การบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ เธอกล่าวว่า บทบาทของกระทรวงคมนาคม คืออะไร และจะให้ไปคุยกับเขาในฐานะอะไร เพราะการบินไทยเขาเป็นเอกชน ซึ่งตามกฎหมายล้มละลายอำนาจเป็นของผู้จัดทำแผนฟื้นฟู ขณะที่ กระทรวงการคลังเองก็อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ กับ ผู้ถือหุ้น เท่านั้น

ผอ.สคร.กล่าวด้วยว่า ในมุมมองของสคร.ในเรื่องที่จะเอาการบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจในขณะนี้นั้น เรายังไม่มีความเห็น และขอให้เป็นเรื่องของนโยบาย ทั้งนี้ ตามแผนฟื้นฟูเดิมนั้น ไม่ได้เขียนเรื่องการกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจของการบินไทย ส่วนในแผนใหม่จะมีใครเสนอนั้น ยังไม่รู้ ขึ้นอยู่กับผู้มีสิทธิในแผนฟื้นฟู

“เท่าที่เข้าใจ ก่อนหน้านี้ คมนาคมเป็นคนเสนอให้การบินไทยพ้นสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ พอเป็นเอกชน รัฐจะทำอะไรไม่ได้ จะไปช่วยเหลือ หรือให้สิทธิอะไรไม่ได้ ถ้ารัฐจะให้สิทธิอะไร ก็ต้องเป็นของรัฐ ถึงจะทำได้ เหมือนคุณไม่เป็นข้าราชการ รัฐจะไปจ่ายเงินเดือนให้คุณได้ไหม ก็ไม่ได้ มันต้องไปดูหลักกฎหมาย”

สำหรับท่าทีของกระทรวงการคลังในการโหวตหรือไม่โหวตรับแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยในวันที่ 12 พ.ค.นี้นั้น ขณะนี้ ยังตอบไม่ได้ และ ยังไม่ทราบว่า ระดับนโยบายจะมอบให้หน่วยงานใดไปเป็นผู้โหวต โดยสคร.เองเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องหลักทรัพย์เท่านั้น