รู้หรือไม่? 'วัคซีนโควิด' สร้างภูมิต้านทานกี่เปอร์เซนต์

รู้หรือไม่? 'วัคซีนโควิด' สร้างภูมิต้านทานกี่เปอร์เซนต์

"หมอยง" เผยผลศึกษาภูมิต้านทาน พบ"วัคซีนโควิด" ซิโนแวค และแอสตร้าเซเนก้า สร้างภูมิต้านทาน ลดความรุนแรง-เสียชีวิตจากโรคโควิดได้ ขณะที่นักวิชาการ เปิดกรณีศึกษาตรุกี และวัคซีนซิโนแวค

ตามที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายภายในสิ้นปีนี้ประชากรของประเทศไทยต้องได้รับ "วัคซีน"อย่างน้อย 70% หรือคิดเป็น 50 ล้านคน โดยใช้"วัคซีน"จำนวน 100 ล้านโดส แบ่งเป็น"วัคซีน"ซิโนแวคจากจีนที่สั่งเพิ่มอีก 3.5 ล้านโดส จะส่งมอบภายใน พ.ค. นี้  "วัคซีน"แอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส จะส่งมอบในเดือน มิ.ย.วัคซีนเพิ่มเติมจากบริษัทไฟเซอร์ 5-20 ล้านโดส"วัคซีน"สปุตนิกจากรัสเซีย จอห์นสันแอนด์จอห์นสันของสหรัฐฯ และสั่ง"วัคซีน"ซิโนแวคเพิ่ม อีกยี่ห้อละ 5-10 ล้านโดส รวมทั้งวัคซีนอื่น ๆ อีกในอนาคต

รวมทั้งได้มีการเปิดแอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม” และเปิดพื้นที่โรงพยาบาล รพ.สต.และอสม. เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง อย่าง ผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้น ซึ่งมี 11.7 ล้านคน และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง 4.3 ล้านคน เป็นสองกลุ่มแรกที่ได้มีโอกาสจองฉีด"วัคซีน"ก่อนกลุ่มอื่นๆ พบว่า ขณะนี้ (ข้อมูลเมื่อวันที่ 10 พ.ค.2564) มีผู้จองฉีด"วัคซีน"แล้ว จำนวน 1,574,954 ราย แบ่งเป็นการฉีด"วัคซีน"ในกรุงเทพฯ 514,411 ราย และฉีดวัคซีนในต่างจังหวัด 1,060,543 ราย

162062978695

  • "วัคซีนโควิด" ฉีดในไทยสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan) การศึกษาภูมิต้านทานที่เกิดจากการฉีดวัคซีนในประเทศไทย เมื่อฉีดวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มแล้วเป็นระยะเวลา 1 เดือน กับการตรวจ "ภูมิต้านทาน"หลังฉีดวัคซีน AstraZeneca  1 เข็มเป็นเวลา 1 เดือน เปรียบเทียบกับการตรวจภูมิต้านทานในผู้ที่หายจากการติดเชื้อ "โรคโควิด 19"  ในช่วงระยะเวลา 4 ถึง 8 สัปดาห์หลังจากที่มีการติดเชื้อ จะเห็นว่าระดับภูมิต้านทานของวัคซีน Sinovac เมื่อฉีดครบแล้ว 2 ครั้ง มีค่าระดับภูมิต้านทานเฉลี่ย 85.9 unit/ml

ส่วน"ภูมิต้านทาน"หลังฉีด AstraZeneca เพียงเข็มเดียวมีค่าเฉลี่ย 47.5 เมื่อเทียบกับ"ภูมิต้านทาน"หลังติดเชื้อ 60.9 unit/ml และยังแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนส่วนใหญ่จะตรวจพบ"ภูมิต้านทาน"ได้  98-99 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ผู้ติดเชื้อ ตรวจพบ"ภูมิต้านทาน"ได้ร้อยละ 92.4

  • มั่นใจ "วัคซีนโควิด" ลดความรุนแรง การเสียชีวิต

จากข้อมูลนี้ไม่ได้บอกประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ได้มากน้อยแค่ไหน แต่ที่รู้แน่ว่าถึงแม้ว่าจะเป็นโรคแล้ว ระดับภูมิต้านทานก็ยังแตกต่างกันมากและบางคนก็ตรวจไม่พบ แสดงให้เห็นว่าโรคนี้มีโอกาสเป็นแล้วเป็นอีกได้ ทำนองเดียวกันการฉีดวัคซีนในปัจจุบัน ยังไม่ทราบว่าจะต้องใช้ระดับ"ภูมิต้านทาน"เท่าใด จึงจะสามารถป้องกันการติดเชื้อ แต่ที่รู้แน่ๆก็คือว่าถ้าเรามีภูมิต้านทาน ก็จะสามารถลดความรุนแรงของโรคได้

การศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนโดยทั่วไปจะทำการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ให้วัคซีนกับกลุ่มที่ให้วัคซีนหลอกหรือไม่ได้ให้วัคซีน แล้วติดตามไปดูว่ากลุ่มไหนจะมีการเกิดโรค covid-19 มากน้อยแค่ไหนแล้วจึงนำมาเปรียบเทียบเป็นประสิทธิภาพที่ออกมาเป็นรูปเปอร์เซ็นต์

ระดับภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นนี้ก็แสดงให้เห็นว่าวัคซีนทั้งสองชนิดที่ฉีดในประเทศไทย กระตุ้นให้สร้างภูมิต้านทานได้ดีในประชากรไทย ทั้งวัคซีน Sinovac และ AstraZeneca

ระดับ"ภูมิต้านทาน"นจะอยู่ไปได้นานแค่ไหน ขณะนี้กำลังติดตามระยะยาว โดยเฉพาะถ้าภูมิต้านทานลดลงมาก ก็อาจจะต้องมีการกระตุ้นด้วยวัคซีนให้ภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นได้สูงอยู่ตลอดเวลา เพราะโรคโควิด 19 มีระยะฟักตัวสั้น จึงต้องอาศัยภูมิต้านทานที่สูงอยู่ตลอดรายการป้องกันการติดเชื้อ

162062981250

ดร.ภก.นรภัทร ปีสิริกานต์ รกน.ผอก.ผลิตวัคซีนจากไวรัส องค์การเภสัชกรรม โพสต์เฟสบุ๊ก “Norapath Tong Pesirikan ระบุถึงกรณีศึกษา: ตุรกีกับวัคซีนซิโนแวค  ว่าตุรกีเป็น 1ใน 3 ประเทศหลักที่ทดสอบวัคซีนซิโนแวคเฟส 3 ตั้งแต่กลางปีที่แล้วจนเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2020 ตุรกีได้เปิดเผยว่าวัคซีนมีประสิทธิผลอยู่ที่ 91.25 เปอร์เซ็นต์ (แต่เปเปอร์ฉบับเต็มก็ยังไม่ออก) จนกระทั้ง 29 เมษายน WHO ได้ประกาศประสิทธิผลป้องกันโควิดแบบมีอาการในตุรกี ที่ 84% และป้องกันการเข้ารพ สูงถึง 100%

นับว่าเป็นตัวเลขที่ดีที่สุดในบรรดา 3 site ที่ทดสอบ efficacy และอีก 2 site ที่ทดสอบในชีวิตจริงที่เรียกว่า effectiveness กลางม.ค.2564 ตุรกีเริ่มปูพรมซิโนแวค กับกลุ่มเสี่ยงที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์และผู้สูงอายุ 65 ปี 13 เม.ย.2564 รมต.กระทรวงสาธารสุขของตุรกีแถลงการณ์ว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เป็นผู้สูงอายุลดจาก 17.7% มาเป็น 8.2% และบุคลากรการแพทย์ลดจาก 5.3% เหลือ 1.3% รวมทั้งอัตราการนอนรพ. ลดลงจาก 57.4% มาเป็น 31%

  • บทเรียนในตรุกีกับการฉีดวัคซีนให้อะไร?แก่ไท

รวมๆแล้วตุรกีปูพรม"วัคซีน"ไปเกือบๆจะ 20 ล้านโดส (ประชากร82 ล้านคน)

2 เม.ย.2564 ตุรกีเริ่มมี"วัคซีน"ไฟเซอร์มาใช้จำนวนน้อยๆ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตุรกีเจออยู่ไม่ได้สวยงามเหมือนกับเลขประสิทธิผล 84% ในการศึกษากับซิโนแวคปีที่แล้ว เช่นเดียวกับบราซิลที่โดนถล่มด้วยไวรัสสายพันธุ์บ้านเกิดตัวเองฉันใด ตุรกีก็กำลังเผชิญกับสายพันธุ์อังกฤษ (Kent) เช่นกัน ถึงขนาดที่เรียกว่า 10 เคสใหม่ที่ตุรกีพบเป็นสายพันธุ์นี้ถึง 8.5 คน

29 เม.ย.2564 ตุรกีประกาศ Lockdown เต็มรูปแบบ เบื้องต้นจนถึง 17 พ.ค. 2564 หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ทำลายสถิติใหม่ 60,260 เคสต่อวัน และเสียชีวิตไปกว่า 300 คน (ในวันที่ 20 เม.ย.2564 )

3 พ.ค.2564รัฐบาลประกาศทยอยนำเข้าวัคซีน Sputnik V จากรัสเซียมาเสริมทัพเพิ่ม 50 ล้านโดส ภายในเดือนนี้ และไฟเซอร์อีกกว่า 90 ล้านโดสตามมาภายหลัง

9 พ.ค.2564  ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่หลัง lockdown ได้ 10 วัน เหลือต่ำกว่า 20,000 คนและเสียชีวิต 281 คน แม้ภาพรวมจะดีขึ้น แต่ก็ถือว่ายังไม่น่าไว้วางใจ จึงยังต้องติดตามกันต่อไป (ขณะที่ตัวเลขผู้ฉีดวัคซีนซิโนแวค ครบ 2 เข็มวันนี้ 10.3 ล้านคน เทียบเท่า 12% ของปชก ทั้งประเทศ 83 ล้านคน)

162062990989

บทเรียนในตุรกีสอนอะไรเราบ้าง?

1.แม้ไทยจะยังไม่โดนโจมตีด้วยสายพันธุ์อังกฤษอย่างรุนแรงเท่าตุรกี ณ ขณะนี้ แต่การฉีดซิโนแวคยัง "นั่งยัน ยืนยัน นอนยัน" อย่างชัดเจนว่ามีข้อดี เรื่องลดอัตราการนอนรพ และการเสียชีวิตสูงใกล้ 100% เช่นเดียวกับประกาศขององค์การอนามัยโลก ซึ่งอ้างอิงเคสบราซิลและชิลี ที่เป็นอีก

2 ประเทศที่ใช้ซิโนแวคเช่นกันซิโนแวค generation 1 ที่ผลิตจากสายพันธุ์อู่ฮั่น ภาพรวมไม่น่าจะดีพอในการรับมือกับสายพันธุ์อังกฤษ หรือ variants ตัวอื่นๆ ที่เป็นปัญหาขณะนี้ การระดมฉีดคนทำงานภาคบริการในภูเก็ตเพื่อเตรียม Sandbox model ควรเปลี่ยนเป็นวัคซีนอื่นที่รับมือการกลายพันธุ์ได้ อย่างน้อย แอสตราเซเนกา ก็ยังสามารถรับมือกับสายพันธุ์อังกฤษได้ดี

3.ด้วยตัวเทคโนโลยีเชื้อตายที่กว่าภูมิคุ้มกันจะขึ้นสูงพอจะเห็นผลนั้นใช้เวลา 3 สัปดาห์ขึ้นไป และกว่าจะพีกหลังฉีด 0,21 + 14 วันไปแล้ว ดังนั้นซิโนแวคจึงอาจไม่เหมาะจะเป็นเกราะป้องกันคลัสเตอร์ระบาดใหม่ที่มาเร็วเคลมไว แอสตร้าเซเนก้าเข็มเดียว ให้ผลป้องกันในอีก 14 วันให้หลังยังดีกว่าเยอะ

4.และสุดท้าย "วัคซีน"ที่ดีที่สุดยังคงเป็นวัคซีนที่มีในมือ- ไม่ใช่"วัคซีน"ทิพย์ ดังนั้นถ้าตอนนี้มีอะไรให้ฉีดก็ควรฉีดไปก่อน ต้นปีหน้าค่อยมาซ้ำเข็มสามยี่ห้ออื่นก็ยังทัน

หากผลข้างเคียงใดๆจากสื่อโซเชียลทำให้คุณรู้สึกลังเลไม่อยากฉีด โปรดนึกเสมอว่าการติดโควิดแล้วลามไปผู้สูงวัยและคนในครอบครัวจะยิ่งสร้างความสูญเสีย เพราะกว่าคุณจะรู้ตัวอีกที วัคซีนอะไรก็ช่วยไม่ได้แล้ว

Reference :

https://cdn.who.int/media/docs/default-source/immunization/sage/2021/april/5_sage29apr2021_critical-evidence_sinovac.pdf

https://asia.nikkei.com/Spotlight/Coronavirus/COVID-vaccines/Turkey-says-China-s-Sinovac-vaccine-is-significantly-effective

https://www.bbc.com/news/world-europe-56912668

https://www.dailysabah.com/turkey/turkey-to-procure-millions-more-vaccines-from-russia-biontech/news