สศอ.ดัน“โอเลโอเคมีคัล” พัฒนา 6 ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ

สศอ.ดัน“โอเลโอเคมีคัล” พัฒนา 6 ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ

ปัจจุบัยอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้านที่ต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะกระแส “Zero Palm Oil” ในภาคขนส่งของยุโรป ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม

ในขณะนี้อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มไทยส่วนใหญ่แปรรูปในขั้นต้น แบ่งเป็น การผลิตน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภค 39% ผลิตไบโอดีเซล 46% ส่งออก 6% และเก็บสต็อก 7% 

ทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ปัจจุบันจำเป็นต้องเร่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทยให้รองกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ โดยมี สศอ.เป็นฝ่ายเลขานุการ และนำเสนอเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ

ทั้งนี้ กปน.มีมติเห็นชอบร่างมาตรการดังกล่าว หลังจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะเลขานุการ กปน.จะนำข้อสรุปทั้งหมดเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)

สำหรับมาตรการขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ จะเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคัลของประเทศตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยจะยกระดับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มให้มีมูลค่าเพิ่ม และเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสอดรับกับการพัฒนาภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพของรัฐบาล อีกทั้งเป็นการดูดซับผลผลิตปาล์ม ซึ่งจะส่งผลให้ราคาปาล์มมีเสถียรภาพและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

สศอ.นำโจทย์ปริมาณความต้องการโอเลโอเคมีโลกมาพิจารณาทำยุทธศาสตร์ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์หล่อลื่นพื้นฐานปีละ 14 ล้านตัน ขยายตัว 3% น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพปีละ 2 ล้านตัน ขยายตัว 8.3% ผงซักฟอกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมปีละ 1 ล้านตัน ขยายตัว 9% และน้ำมันหล่อลื่นและจาระบีชีวภาพปีละ 36 ล้านตัน ขยายตัว 1% รวมตลาดโลกมีความต้องการปีละ 53 ล้านตัน

162057838353

ในขณะที่ไทยเป้าหมายที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมีคัล 6 ชนิด ได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์สารหล่อลื่นพื้นฐาน 2.น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ 3.ผลิตผงซักฟอกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 4.น้ำมันหล่อลื่นและจาระบีชีวภาพ 5.พาราฟิน 6.สารกำจัดศัตรูพืชและแมลง

สำหรับแผนการดำเนินงานจะแบ่งมาตรการส่งเสริมเป็น 5 ด้าน ได้แก่ 

1.ด้านกระบวนการผลิต เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยให้สินค้าทั้ง 6 ชนิดนี้ ขึ้นทะเบียนนวัตกรรมไทยเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ โดยการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้ขึ้นทะเบียนนวัตกรรม เพื่อนําผลงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมไทย มาใช่ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การขึ้นทะเบียนสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนรับรองสินค้า และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

2.ด้านมาตรฐาน โดยการจัดทํามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้าที่เกิดจากมาตรการด้านมาตรฐาน และจัดทำมาตรฐานการใช้ และมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาและยกระดับห้องปฏิบัติการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล

“อุตสาหกรรมทั้ง 6 ชนิดนี้ เป็นสิ่งที่ใหม่ของประเทศไทย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเร่งวิจัยพัฒนาสินค้าเหล่านี้ให้ไทยมีเทตโนโลยีของตัวเอง เช่น น้ำมันเครื่องชีวภาพ , น้ำมันหล่อลื่นจากปาล์มน้ำมัน , น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าจากปล์มน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งจะต้องได้มาตรฐานสากลที่ผู้ผลิตอุปกรณ์ เครื่องจักรทั่วโลกยอมรับ”

3.ด้านมาตรการส่งเสริมการลงทุน โดยการเพิ่มประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคัล เพิ่มกิจการหรือประเภทอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล ให้สอดคล้องกับสิทธิประโยชน์ของกิจการเคมีภัณฑ์หรือ พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมาตรการยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล มาตรการ Green Tax Expense เพื่อส่งเสริมการใช้ ผลิตภัณฑ์ชีวภาพของนิติบุคคล

4.ด้านอุปสงค์ โดยการออกมาตรการสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การกําหนดให้พิจารณาเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อมที่ได้รับการรับรองฉลากเขียว หรือตระกร้าเขียวเป็นลําดับแรก หากไม่มีสินค้าที่ได้รับการรับรองฉลากเขียว ให้เลือกซื้อสินค้าที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวตั้งแต่ระดับ 4 ขึ้นไป

5.มาตรการด้านอื่น เช่น การปรับปรุงกฎหมายผังเมืองให้เอื้อต่อการผลิต ปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงให้ใช้ผังเมืองรวมเพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคัล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย มาตรการส่งเสริม และสิทธิประโยชน์ภายใต้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) สิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี เพื่อสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคัลที่ กําหนดให้โรงงานต้องตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น การพิจารณาสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสําหรับการลงทุน ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ

“การผลิตในช่วงแรกจะผลิตทดแทนสารตั้งต้นจากปิโตรเลียมและจะส่งออกในอนาคต โดยความต้องการในผลิตภัณฑ์เป้าหมายมีปริมาณสูงถึง 53 ล้านตันต่อปี ตลาดที่มีศักยภาพ ได้แก่ เอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ โดยปี 2563 ไทยผลิตน้ำมันปาล์มดิบ 2.974 ล้านตัน มูลค่า 90,000 ล้านบาท”

ทั้งนี้ หากได้ดำเนินการขับเคลื่อนตามมาตรการและแนวทางดังกล่าวจะยกระดับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มให้มีมูลค่าสูงขึ้น ตอบสนองการดูแลสิ่งแวดล้อมอีกทั้งดูดซับผลผลิตปาล์ม ซึ่งจะส่งผลให้ราคาปาล์มมีเสถียรภาพและเกิดการพัฒนายั่งยืน