‘เปิดเสรี’ สิทธิบัตรวัคซีนโควิด เขย่า บ.ยายักษ์ใหญ่โลก

‘เปิดเสรี’ สิทธิบัตรวัคซีนโควิด เขย่า บ.ยายักษ์ใหญ่โลก

"สหรัฐ" ออกโรงสนับสนุนเปิดเสรีสิทธิบัตรวัคซีนโควิด-19 สร้างแรงกระเพื่อมต่อบริษัทยายักษ์ใหญ่โลก ขณะเดียวกัน ก็เป็นความหวังให้คนทั่วโลกเข้าถึงวัคซีนป้องกันไวรัสชนิดนี้

วอลล์สตรีทสหรัฐ อาจมีปฏิกิริยามากไปต่อคำประกาศของคณะผู้บริหารประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่สนับสนุนการเปิดเสรีสิทธิบัตรวัคซีนโควิด-19 

มีรายงาน บรรดานักลงทุนเกรงว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าว จะทำให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 มีจำหน่ายทั่วโลกมากขึ้น ซึ่งส่งกระทบต่อผู้ผลิตวัคซีนโมเดอร์นา และวัคซีนไบออนเทค - ไฟเซอร์ ที่คิดค้นเทคโนโลยีวัคซีนแบบ mRNA ถือเป็นจุดเด่น และสร้างความได้เปรียบให้วัคซีนชนิดนี้

ขณะที่ความเชี่ยวชาญในการผลิต กักตุนวัตถุดิบที่หายาก และนวัตกรรมการพัฒนาวัคซีนได้กระจุกตัวอยู่แค่บริษัทเภสัชกรรมไม่กี่แห่ง 

หุ้นของโมเดอร์นา และไบออนเทค ร่วงลงอย่างรวดเร็วในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากคำประกาศของสหรัฐ จากนั้นก็ฟื้นตัวขึ้นบางส่วน ปิดลงอยู่ที่ 8.8% และ 2.4% ตามลำดับ ขณะที่โนวาแวกซ์ มีวัคซีนอยู่ในระหว่างการทดลอง หุ้นปิดอยู่ที่ 25.7% 

ในความเคลื่อนไหวดังกล่าว ดูจะคลี่คลายลงหลังจากนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนี คัดค้านแนวคิดเปิดเสรีสิทธิบัตรวัคซีน และอาจทำให้องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ไม่สามารถอนุมัติเรื่องนี้

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า แรงกดดันจากความต้องการปริมาณวัคซีนจำนวนมาก เกิดจากอินเดียมีผู้ป่วยโควิด -19 รายใหม่เฉลี่ยมากกว่า 380,000 รายต่อวัน ยิ่งตอกย้ำว่า ทั่วโลกยังเสี่ยงเกิดการแพร่ระบาดไวรัส โดยที่ชาวอินเดีย 2.4% ของประชากรประเทศ ได้รับวัคซีนครบสองโดสเท่านั้น เมื่อเทียบกับสหรัฐ ซึ่งได้ฉีดครบสองโดสแล้ว 32.8% ของประชากรประเทศ

โมเดอร์นา และไฟเซอร์ กำลังเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีนโควิด-19 เพื่อตอบสนองความต้องการทั่วโลก ทั้งสองแห่งวางแผนที่จะผลิตวัคซีน รวมกัน 6,000 ล้านโดสในปี 2565 

ศาสตราจารย์เกรค กอนเซลเวส จากมหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐ ในฐานะผู้สนับสนุนการเข้าถึงยาและวัคซีน กล่าวว่า วิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ ขณะเดียวกัน ทั่วโลกกำลังเผชิญข้อจำกัด และการผูกขาดตลาด เนื่องจากความต้องการวัคซีนต้องผ่านบริษัทผู้ผลิตหลัก ไม่กี่แห่ง 

"นอกเหนือจากการเปิดเสรีสิทธิบัตรวัคซีน ในฐานะผู้สนับสนุนการเข้าถึงวัคซีน อยากให้สหรัฐบังคับให้ผู้ผลิตวัคซีน ช่วยถ่ายทอดการผลิตวัคซีนให้กับบริษัทอื่นๆ และสนับสนุนการเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อร่วมกันคลี่คลายวิกฤติการณ์ระบาดไวรัสให้ผ่านพ้น" ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเยล กล่าว

ด้านนักวิเคราะห์ทางการเงินของเรย์มอนด์ เจมส์ กล่าวว่า ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ตนไม่เชื่อสิ่งนี้จะมีผลต่อแนวโน้วรายได้ของบริษัทเภสัชกรรมยักษ์ใหญ่เหล่านี้

ตอนประชุมผู้ถือหุ้น นายสตีเฟน แบนเซล ซีอีโอโมเดอร์นา กล่าวว่า การยกเว้นสิทธิบัตรไม่ส่งผลใดๆ ต่อบริษัท “ผมไม่ได้กังวลกับข่าวนี้” 

 นักลงทุนควรเตรียมใจว่าหุ้นวัคซีนจะผันผวนอีก  เนื่องจากเหล่าผู้สนับสนุนการเข้าถึงยา ที่รับลูกรัฐบาลไบเดนจะออกมาหนุนในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า