เอกชนยันจัดหา'วัคซีนโควิด-19'ผ่านรัฐเป็นข้อกำหนดบ.ผู้ผลิต

เอกชนยันจัดหา'วัคซีนโควิด-19'ผ่านรัฐเป็นข้อกำหนดบ.ผู้ผลิต

นายกฯรพ.เอกชนเผยต้องจัดหาวัคซีนโควิด-19ผ่านอภ. เหตุเป็นข้อกำหนดบริษัทผู้ผลิตขายให้รัฐเท่านั้น ย้ำชนิดวัคซีนทางเลือกไม่ซ้ำวัคซีนรัฐ ยังระบุไทม์ไลน์บริการไม่ได้ ยันไม่หวังกำไร จัดฉีดแพคเกจราคาเดียวกันทั่วประเทศ ผอ.อภ.แย้มเบื้องต้นอาจเป็น "โมเดอร์นา"

เมื่อเวลา10.30 น. วันที่ 8 พ.ค. องค์การเภสัชกรรมและสมาคมโรงพยาบาลเอกชน แถลงข่าวออนไลน์ เรื่อง องค์การเภสัชกรรม(อภ.)พร้อมจัดหาวัคซีนให้กับโรงพยาบาลเอกชน โดย นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และ ศ.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ร่วมแถลงข่าวผ่านระบบ Microsoft Teams

ขั้นตอนอภ.นำเข้าวัคซีนโควิด19ให้เอกชน

ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า เหตุที่ต้องเป็นอภ.จัดหาวัคซีนโควิด 19 เข้ามาให้รพ.เอกชน เนื่องจากการใช้วัคซีนโควิด 19 ยังใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วโลก บริษัทผู้ผลิตกำหนดต้องติดต่อกับภาครัฐเท่านั้น เพราะจะมีเรื่องความเสี่ยงที่รัฐบาลต้องรับผิดชอย รวมทั้งเรื่องไม่ให้เกิดการเกร็งกำไรและเป็นประโยชน์ต่อการใช้ควบคุมโรค จึงให้มีการติดต่อภายใต้รัฐ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจและโปร่งใสระหว่างการดำเนินงานในการนำวัคซีนเข้ามาและจำหน่ายกับทางภาคเอกชน จึงต้องชี้แจงดังนี้
กระบวนการนำวัคซีนโควิด 19 เข้ามาสำหรับภาคเอกชน โดยองค์การเภสัชกรรม เริ่มจาก บริษัทผู้ผลิตวัคซีนจะกำหนดให้คู่สัญญาต้องเป็นภาครัฐเท่านั้น และจะมีเอกสารและข้อตกลงทางกฎหมาย 4 ฉบับ คือ หนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) ที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนจัดหาวัคซีนเพื่อประชาชนไทย จากนั้นบริษัทผู้ผลิตและอภ. จะเซ็นเอกสารรักษาความลับ จากนั้นจะมีเอกสารข้อเสนอการจัดหา แต่ยังไม่ได้ระบุว่าจะตัดหาเท่าไหร่ หลังจากนั้นบริษัทผู้ผลิตถึงจะมีการปล่อยเอกสารรายละเอียดวัคซีนเพื่อให้ผู้ทรงสิทธิ์ของบริษัทในประเทศไทย นำไปขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เมื่อได้ทะเบียนอย.แล้วก็จะเป็นการตกลงว่า จัดหาจำนวนเท่าไหร่ ส่งมอบเมื่อไหร่

ขณะเดียวกับรพ.เอกชนก็จะทำสัญญากับอภ.
คือ รพ.เอกชนจะทำประกันกรณีหากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ โดยเชื่อมโยงข้อมูลไปยังฐานของกรมควบคุมโรค เพื่อรายงานบริษัทผู้ผลิต

162045155856

ยันบริษัทผู้ผลิตติดต่อผ่านรัฐเท่านั้น

ศ.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า บริบทการนำเข้าวัคซีน ซึ่งอยู่ในเฟส 3เป็นการใช้สนสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงต้องนำเข้าผ่านรัฐเท่านั้น เพราะเป็นกติกาของบริษัทผู้ผลิตทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในเรื่องวัคซีนโควิด 19 ใน 2 แนวทาง คือ 1.การช่วยฉีดวัคซีนโควิด 19ของภาครัฐ โดยฉีดให้บุคคลทั่วไปไม่ใช่แค่ฐานลูกค้าเท่านั้น เป็นการให้บริการฟรึ สามารถลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมได้ ต้องการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และ2.กรณีวัคซีนที่ต้องจ่ายเงินเองนั้น ทางสมาคมฯ ได้สำรวจความต้องการฉีดวัคซีน ซึ่งอาจมีหลายตัวในอนาคต เพราะขณะนี้วัคซีนอยู่ในการทดลองระยะ 3และมีการพัฒนาต่อเนื่องจากที่ไวรัสมีการกลายพันธุ์ เมื่อสำรวจแล้วเสร็จว่า ใครต้องการเท่าไหร่ ก็จะทำหนังสือกับอภ.เพื่อจัดหาวัคซีน

รพ.เอกชนต้องมีวัคซีนก่อนเปิดจอง
"ต้องเรียนว่าสำหรับรพ.เอกชนต่างๆอยากขอให้มีวัคซีนแน่นอนก่อน จึงจะเปิดทำการจอง เพราะขณะนี้ยังไม่รู้ว่าวัคซีนจะเข้ามาเมื่อไหร่ ส่วนราคาวัคซีนที่ประชาชนสมัครใจจ่ายเองนั้น วัตถุประสงค์หลักคือ ต้องการช่วยให้คนได้ฉีดวัคซีนเร็วและมากที่สุด ซึ่งจะมีการกำหนดราคาเดียวกันหมด"ศ.นพ.เฉลิมกล่าว

ชัดเจนรัฐไม่ได้ผูกขาด
นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ชัดเจนว่ารัฐไม่ได้ผูกขาด แต่องค์การเภสัชกรรม กำลังทำหน้าที่เพราะเป็นหน่วยงานจัดซื้อจัดหายาและเวชภัณฑ์ให้ประเทศโดยตรง ซึ่งในกรณีวัคซีนโควิด 19 อภ.เข้ามาอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนเพื่อมีส่วนร่วมจัดหาวัคซีนให้ประชาชนโดยไม่เน้นกำไร เนื่องจากเป็นข้อกำหนดของบริษัทผู้ผลิตที่ต้องซื้อผ่านรัฐเท่านั้น แต่หากเป็นสินค้าปกติ เมื่อผ่านอย.แล้วก็ขายตรงรพ.เอกชนได้เลย แต่ปัจจุบันยังเป็นการใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วโลก อภ.จึงต้องเป็นตัวแทนนำเข้าและกระจายวัคซีนให้รพ.เอกชน

วัคซีนรพ.เอกชนราคาเดียวทั่วประเทศ

ผู้สื่อข่าวสอบถามสมาคมโรงพยาบาลเอกชนกรณีการสำรวจความต้องการวัคซีน ศ.นพ.เฉลิม กล่าวว่า ขณะนี้ให้เอกชนสำรวจภายในของตนเอง เพราะทุกคนมีฐานลูกค้าอยู่แล้ว ส่วนวัคซีนที่ต้องจ่ายเงินเอง เราไม่เน้นกำไร จะมีการคิดค่าบริการจากต้นทุนวัคซีน ค่าบริการ ค่าสังเกตอาการหลังการฉีด และค่าประกัน ซึ่งตัวแปรสำคัญคือต้นทุนวัคซีนที่จะนำเข้ามาแต่ละตัวจะไม่เท่ากัน โดยขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะเป็นตัวไหน จึงยังไม่สามารถระบุราคาแพคเกจได้ แต่ในส่วนของค่าประกันเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนนั้นได้มีการหารือกับคปภ.แล้วเบื้องต้น โดยได้ออกแบบให้มีผลตั้งแต่เข็มที่ 1 และครอบคลุม 90 วัน ซึ่งราคาทำประกันจะอยู่ในกรอบ 50-100 บาท โดยจะไม่ให้เกิน 100 บาท
"การบริการวัคซีนทางเลือกในส่วนของรพ.เอกชนที่เป็นสมาชิกสมาคมรพ.เอกชนที่มีเกือบ 400 แห่งทั่วประเทศจะเป็นแพคเกจที่มีราคาเดียวกันทั่วประเทศ เพราะการให้บริการตรงนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงวัคซีนมากขึ้น เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่โดยเร็ว ไม่ได้หวังกำไร แต่ยังไม่สามารถระบุราคาแพคเกจได้ เพราะยังไม่ทราบราคาต้นทุนวัคซีนดังที่กล่าว"ศ.นพ.เฉลิมกล่าว

162045158113

เกิดอาการไม่พึงประสงค์ครอบคลุม 1 แสนบาท

ผู้สื่อข่าวสอบถามทางสมาคมโรงพยาบาลเอกชนกรณีการพิจารณาอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนโควิด 19จะดำเนินการอย่างไร ศ.ดร.นพ.เฉลิม กล่าวว่า แต่ละรพ.จะมีการตั้งคณะกรรมการการแพทย์เพื่อพิจารณาและวินิจฉัยอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น ว่า เกิดจากผลแทรกซ้อนของวัคซีนหรือไม่ เช่น หากเป็นอาการปานกลางตเองนอนรพ. ประกันจะครอบคลุม 1 แสนบาท แต่กรณีเสียชีวิตจะครอบคลุม 1 ล้านบาท โดยหากมีวัคซีนทางเลือกที่ต้องจ่ายเงินเองเข้ามาแล้วจะมีการกระจายไปยังรพ.เอกชนทั่วประเทศ

ยังระบุเวลาส่งมอบวัคซีนไม่ได้
ต่อข้อถามรพ.เอกชนระบุไทม์ไลน์ได้หรือไม่ว่าจะสามารถให้บริการวัคซีนทางเลือกกับประชาชนได้เมื่อไหร่ ศ.นพ.เฉลิม กล่าวว่า วัคซีนที่จะนำเข้ามาต้องขึ้นทะเบียนกับอย.ไทยก่อน โดยขณะนี้ที่ผ่านขึ้นทะเบียนแล้ว คือ ซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และโมเดอร์นาที่อยู่ระหว่างการพิจารณา อย่างไรก็ตาม วัคซีนโควิด 19 ที่มีการใช้อยู่ขณะนี้มี 4 แพลตฟอร์ม คือ ชนิดเชื้อตาย ไวรัลแวกเตอร์ ซึ่ง2 แพลตฟอร์มนี้ใข้โดยรัฐแล้ว ชนิดmRNAอย่างไฟเซอร์ก็น่าจะเป็นจัดหาโดยรัฐ และชนิดโปรตีนเบส เช่น โนวาแวกซ์หรืออื่นๆ ซึ่งหากชนิดไหนที่ไม่ได้ใช้ในภาครัฐ ก็จะเป็นวัคซีนทางเลือกที่ประชาชนจ่ายเงินเอง แต่จะนำเข้ามาได้เมื่อไหร่ต้องให้บริษัทผู้ผลิตเป็นคนตอบ เพราะขณะนี้ทุกบริษัทตอบระยะเวลาได้เพียงจะให้เร็วที่สุดเท่านั้น


ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้ได้มีการเจรจาเบื้องต้นกับบริษัทผู้ผลิตรายใดแล้วหรือไม่เกี่ยวกับวัคซีนทางเลือกนี้ ศ.นพ.เฉลิม กล่าวว่า เนื่องจากรพ.เอกชนบางแห่งมีใบอนุญาตนำเข้าชีววัตถุจากอย.อยู่แล้ว จึงจะพยายามช่วยเจรจาอีกทางหนึ่ง แต่โดยหลักจะเป็นอภ.ที่จะจัดหาได้มากกว่า เพราะบริษัทผู้ผลิตมีข้อกำหนดดีลกับรัฐเป็นหลัก

คาดอาจเป็น"โมเดอร์นา"
นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า การจัดหาวัคซีนทางเลือกให้กับรพ.เอกชนนี้จะไม่เป็นวัคซีนตัวเดียวกับภาครัฐ เบื้องต้นมีความเป็นไปได้ใน 3 ตัว โดยขณะนี้มีวัคซีนโมเดอร์นาที่ยื่นขึ้นทะเบียนกับอย.ไทยแล้วอยู่ระหว่างการพิจารณา ส่วนว่าจะนำเข้ามาได้เร็วแค่ไหน ยังอยู่ระหว่างการพูดคุยหารือในรายละเอียด ส่วนตัวอื่น คือ ซิโนฟาร์มแต่ยังไม่มีการยื่นขึ้นทะเบียนกับอย.ไทยแต่อย่างใด เนื่องจากบริษัทยังไม่ได้ตัวแทนผู้ทรงสิทธิ์ที่แท้จริงที่จะได้รับข้อมูลรายละเอียดจากบริษัทผู้ผลิตให้มายื่นขึ้นทะเบียน และบริษะท บารัต ที่ยื่นขึ้นทะเบียนแล้วอยู่ระหว่างการพิจารณา