‘ดอน’ แจงไทม์ไลน์ศึกษา CPTPP ยันนายกฯ ยังไม่เซ็นเข้าร่วม

‘ดอน’ แจงไทม์ไลน์ศึกษา CPTPP ยันนายกฯ ยังไม่เซ็นเข้าร่วม

“ดอน ปรมัตถ์วินัย” ปัดนายกฯ ลงนามเข้าร่วม CPTPP แจงขั้นตอนการเข้าร่วมภาคี ต้องผ่านการเจรจา ก่อนส่งรัฐสภาเห็นชอบ ย้ำต้องพิจารณารอบคอบไม่ให้เสียเปรียบ

"นายดอน ปรมัตถ์วินัย" รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ชี้แจงกรณีมีรายงานนำผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (5 พ.ค.) ไปบิดเบือนเป็นนายกรัฐมนตรีลงนามเห็นชอบการเข้าร่วม CPTPP แล้ว ว่า ขอยืนยันไม่เป็นความจริง ซึ่งข้อเท็จจริงขณะนี้นายกรัฐมนตรีให้นโยบายว่า ต้องพิจารณาการเข้าร่วมเป็น CPTPP อย่างรอบคอบเป็นพิเศษ 

ขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศ และ กนศ. เห็นว่า ระยะเวลาดังกล่าว ยังไม่เพียงพอต่อการพิจารณาในรายละเอียด จึงขอขยายระยะเวลา 90 วัน ซึ่งเดิมครบกำหนดในวันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา  จากที่ก่อนหน้านี้ ได้ให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งกรรมาธิการพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยได้เชิญผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ และภาคเอกชนมาให้ความเห็น ก่อนกลับนำเสนอมายังคณะรัฐมนตรี จากนั้นคณะรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ และ กนศ. พิจารณาข้อมูลจากกรรมาธิการฯ อีกครั้งหนึ่งให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

"แม้จะได้ข้อสรุปในเบื้องต้นแล้ว แต่เห็นว่า ยังควรทบทวนในรายละเอียด เพื่อให้เกิดความรอบคอบอีกครั้ง จึงได้เสนอคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อขอขยายระยะเวลาการพิจารณาออกไปอีก 50 วัน ซึ่งเวลาจะไปสิ้นสุดในวันที่ 24 มิ.ย. 2564 โดยระหว่างนี้ จะพิจารณาประเด็นการเจรจา เงื่อนไข และปัญหาที่อาจทำให้ไทยเสียเปรียบ ในการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ซึ่งบางเรื่องที่ยังไม่ชันเจน ก็สามารถจัดทำเป็นข้อสงวน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเมื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิก" รองนายกฯ ระบุ 

162038727926

หากผลกระทบใดไม่สามารถปรับให้ลดลงได้ ก็เตรียมพิจารณาเป็นมาตรการป้องปราม และกลไกเยียวยาให้เกิดความยั่งยืน โดยเมื่อถึงเวลาที่รัฐบาล เห็นว่ามีความพร้อมแล้ว ก็จะเสนอต่อรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ต่อไป

“หลังจากการขยายผลการศึกษา อาจจะเข้าหรือไม่เข้าก็ได้ กรณีหากไทยไม่เข้าร่วม CPTPP ก็จะเสียเปรียบการแข่งขันทางเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะที่หลายประเทศในอาเซียน อย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนามก็เข้าไปแล้ว และแนวโน้มภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็จะเป็นตลาดใหม่ที่แข็งแกร่ง ดังนั้นจะเห็นว่า การตอบรับเข้าร่วม CPTPP จะเป็นโอกาสการลงทุนเชื่อมโยงสู่ตลาดโลกการค้า การลงทุน และการบริการต่างๆ ได้” นายดอน ระบุ

นายดอน ยังเปิดเผยว่า เรื่องดังกล่าวจะเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง วันที่ 25 มิ.ย.นี้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้ตัดสินว่า จะเข้าการเจรจาหรือไม่ ซึ่งการเจรจาดังกล่าว ยังไม่ใช่การตอบรับเป็นสมาชิกภาคี แต่เป็นการเจรจาเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับไทย ซึ่งหากจะตอบรับเป็นสมาชิก ก็จะนำข้อมูลทั้งหมด ทั้งผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ข้อสังเกตต่าง ๆ รวมไปถึงกระบวนการต่าง ๆ ในอนาคต เพื่อให้เกิดเงื่อนไขที่เหมาะสมต่อไทย และการจะตอบรับเข้าร่วมเป็นสมาชิก ก็จะต้องขอมติจากรัฐสด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรี จะลงนามแต่เพียงผู้เดียวไม่ได้

เมื่อถามถึงไทม์ไลน์การขยายเวลาการศึกษาออกไป 50 วัน จะทันการยื่นเข้าเป็นสมาชิกในปี 2564 หรือไม่ นายดอน กล่าวว่า ทันต่อการยื่นเข้าเป็นสมาชิกปีนี้ สิ่งสำคัญต้องศึกษาให้ละเอียดและรอบคอบ โดยการตอบรับเข้าร่วมภาคี CPTPP ของไทย จะดำเนินการเมื่อมีความพร้อม และมั่นใจว่า จะต้องไม่เสียเปรียบประเทศอื่นๆ

ด้าน "นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์" อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ญี่ปุ่นจะเป็นประธานจัดประชุม CPTPP Commission ในปีนี้ และยังไม่กำหนดวันประชุมที่ชัดเจน เนื่องจากสถานการณ์โควิด ขณะที่มีการเข้าใจว่า จะต้องยื่นเป็นสมาชิกในเดือน ส.ค. ซึ่งเป็นช่วงเดือนจัดประชุมเมื่อปีก่อนมาเป็นกรอบว่า ไทยต้องเร่งศึกษาให้ทันช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ความจริงแล้วการจัดประชุม CPTPP Commission ปีนี้ จะต้องรอญี่ปุ่นกำหนดวันอีกครั้ง และขอย้ำว่า เมื่อไทยศึกษาเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ ก็สามารถแจ้งไปยังที่ประชุมให้จัด CPTPP สมัยพิเศษได้ อย่างไรก็ตาม ประเด็นความพร้อมของไทยเป็นสิ่งที่ควรถูกให้ความสำคัญ

162039955735

162039959620

162039962242

162039964472

162039967864