เปิดยุทธศาสตร์‘พี่มีแต่ให้’ สหรัฐยกเว้นสิทธิบัตรวัคซีนโควิด ชิงการนำเหนือจีน

เปิดยุทธศาสตร์‘พี่มีแต่ให้’ สหรัฐยกเว้นสิทธิบัตรวัคซีนโควิด ชิงการนำเหนือจีน

ทันทีที่สหรัฐบอกว่าจะละเว้นสิทธิบัตรวัคซีนโควิดก็ได้รับเสียงยกย่องทั้งจาก WTO, WHO, EU ขณะที่ฝรั่งเศสและรัสเซียก็สนับสนุน แต่มีหลายเสียงวิจารณ์ว่าวิธีนี้ไม่ได้แก้ปัญหาที่แท้จริง

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นางเอ็นโกซี โอคอนโจ-ไอวีลา ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวชื่นชมข้อเสนอของสหรัฐที่ให้มีการยกเว้นสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับการผลิตวัคซีนโควิด-19 พร้อมเรียกร้องให้สมาชิกดับเบิลยูทีโอเร่งหารือในประเด็นดังกล่าว

“เราจำเป็นต้องรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเร่งด่วน เนื่องจากโลกกำลังมองดูเรา และผู้คนกำลังล้มตายลง” นางโอคอนโจ-ไอวีลากล่าว

องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) แสดงความชื่นชมต่อการตัดสินใจของสหรัฐ โดยคาดว่าการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ประเทศที่ยากจน ซึ่งรวมถึงอินเดีย สามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้มากขึ้น

นางเออร์ซูลา วอน เดอ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (6 พ.ค.) ยินดีหาทางยกเว้นสิทธิบัตรตามแผนการของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ถือว่าเปลี่ยนท่าทีของสหรัฐไปเลย

ในวันเดียวกันนั้นนายแอนโธนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ย้ำท่าทีนี้อีกครั้งว่าต้องเร่งยกเว้นสิทธิบัตร ในช่วงที่อินเดียกำลังเสียหายอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19

“ไม่มีใครในหมู่พวกเราจะปลอดภัยสมบูรณ์หรอก จนกว่าประชาชนจะฉีดวัคซีนได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การยกเว้นสิทธิบัตรเป็นวิธีหนึ่งที่ทำได้ในการเพิ่มการผลิตและเข้าถึงวัคซีน” รมว.ต่างประเทศกล่าว ขณะที่ทำเนียบขาวปฏิเสธว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐไม่ได้แตกคอกันในเรื่องนี้

นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการ WHO ถึงขนาดทวีตข้อความด้วยอักษรตัวใหญ่เพื่อเน้นอารมณ์ เรียกท่าทีของไบเดนว่า “เป็นช่วงเวลาที่น่าจดจำในการต่อสู้#โควิด19 สะท้อนถึงภูมิปัญญาและความเป็นผู้นำด้านจริยธรรมของสหรัฐ”

แม้ทั่วโลกจะตื่นเต้น แต่บริษัทผลิตยาที่ต้องสูญเสียรายได้แน่ๆ หากถูกยกเว้นสิทธิบัตรวัคซีนป้องกันโควิด-19 รวมทั้งนักวิจารณ์อื่นๆ เผยว่า ข้อเสนอของสหรัฐยังมีช่องโหว่

พวกเขากล่าวว่า การผลิตที่ซับซ้อนเท่ากับว่าแค่การเข้าถึงทรัพย์สินทางปัญญาได้อย่างเสรียังไม่ช่วยให้เพิ่มการผลิตวัคซีนได้รวดเร็วทันใจ ยกตัวอย่างโมเดอร์นายกเว้นสิทธิบัตรไปในเดือน ต.ค. แต่ก็ไม่มีบริษัทใดผลิตวัคซีนแบบเดียวกับโมเดอร์นาได้อย่างรวดเร็ว และยังไม่ได้รับการอนุมัติ

นักวิจารณ์บางคนกล่าวด้วยว่า ในระยะยาว การยกเว้นสิทธิบัตรจะทำให้บริษัทยาไม่ลงทุนวิจัยขนาดใหญ่เพื่อรับมือภัยคุกคามด้านสุขภาพโลกในอนาคต

สำหรับเยอรมนี มหาอำนาจเศรษฐกิจใหญ่สุดของอียู และมีบริษัทยาตั้งอยู่หลายแห่ง ปฏิเสธแนวคิดสหรัฐ กล่าวว่า การขาดแคลนวัคซีนเป็นเพราะขีดความสามารถในการผลิตและมาตรฐานคุณภาพมีจำกัด ไม่ใช่เพราะปัญหาเรื่องการคุ้มครองสิทธิบัตร

นายเจนส์ สแปห์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเยอรมนี กล่าวว่า เขาเห็นด้วยกับเป้าหมายของประธานาธิบดีไบเดน ที่ต้องการให้ทั้งโลกมีวัคซีนใช้ แต่โฆษกรัฐบาลเยอรมนีแถลงว่า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเป็นที่มาของนวัตกรรมและต้องเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคต

ยิ่งไปกว่านั้นการยกเว้นสิทธิบัตรต้องใช้เวลาเจรจาหลายเดือน และต้องให้สมาชิก WTO 164 ประเทศทำข้อตกลงอย่างเป็นเอกฉันท์

บริษัทยาจึงเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยแบ่งปันวัคซีนให้ประเทศกำลังพัฒนาอย่างทั่วถึงมากขึ้นแทน

“ปัญหาคอขวดไม่ใช่การเข้าไม่ถึงสิทธิบัตร หรือสิทธิบัตรราคาแพง แต่อยู่ที่ขวดบรรจุและวัตถุดิบมีไม่พอมาผลิต ไม่ใช่เรื่องของสิทธิบัตร” ไมเคิล อี้ นักวิเคราะห์จากธนาคารเพื่อการลงทุนเจฟฟรีย์ให้ความเห็น

ขณะที่PhRMA กลุ่มล็อบบีใหญ่ในอุตสาหกรรมยา กล่าวว่า การตัดสินใจของสหรัฐไม่ได้แก้ปัญหาที่แท้จริงในการเพิ่มวัคซีน ยังมีความท้าทายอีกหลายอย่าง เช่น การกระจายวัคซีนช่วงสุดท้าย และวัตถุดิบในการผลิตมีจำกัด

ปัจจุบัน จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกรวมกว่า 155 ล้านคน เสียชีวิตเกือบ 3.4 ล้านคน แต่ในบรรดาผู้ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส 624 ล้านคนส่วนใหญ่อยู่ในประเทศมั่งคั่ง

ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส เห็นด้วยอย่างมากกับการปลดล็อกทรัพย์สินทางปัญญา แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลรายหนึ่งผู้ไม่เปิดเผยนามกล่าวกับรอยเตอร์ว่า การขาดแคลนวัคซีนเป็นผลจากขีดความสามารถในการผลิตและส่วนผสมม่ีจำกัดไม่ใช่เพราะสิทธิบัตร

“อย่าลืมนะว่า สหรัฐไม่เคยส่งออกวัคซีนให้ประเทศอื่นเลยแม้แต่โดสเดียว แล้วตอนนี้จะมาคุยเรื่องละเว้นสิทธิบัตร” เจ้าหน้าที่รายนี้กล่าว

ถึงขณะนี้สหรัฐส่งวัคซีนราว 2-3 ล้านโดสที่ไม่ใช้แล้วไปให้เม็กซิโกและแคนาดายืมใช้ก่อน

ทั้งนี้ เดือน ต.ค.ที่ผ่านมาแอฟริกาใต้และอินเดียเคยเสนอกับ WTO ให้ละเว้นสิทธิบัตรมาก่อน ได้รับเสียงสนับสนุนจากประเทศกำลังพัฒนามากมาย ที่มองว่า วิธีนี้จะทำให้มีวัคซีนมากขึ้น แต่อียูและอีกหลายประเทศรวมถึงอังกฤษและสวิตเซอร์แลนด์ที่มีบริษัทยาขนาดใหญ่หลายแห่งต่างไม่เห็นด้วยกับการยกเว้นสิทธิบัตร

กล่าวได้ว่า ข้อเสนอของสหรัฐดูดีแต่ขั้นตอนการปฏิบัติใน WTO ยังต้องใช้เวลาอีกนาน กระนั้น เสียงชมเชยก็มีมาแล้ว มองอีกแง่หนึ่ง นี่อาจเป็นความพยายามช่วงชิงความเป็นเจ้าของสหรัฐเหนือคู่แข่งอย่างจีนก็ได้ 

ในปี 2563 ที่ผ่านมา จีนพยายามกอบกู้ภาพลักษณ์เสียหายจากโควิด-19 ด้วยการเร่งควบคุมการระบาดในประเทศโดยการล็อกดาวน์เข้มงวด อย่างที่สหรัฐไม่อาจทำได้ และจีนยังใช้ “การทูตหน้ากาก” ส่งหน้ากากอนามัย อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) ไปให้นานาประเทศ ครั้นผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ จีนก็ส่งไปช่วยเหลือประเทศยากจนมากมาย 

จีนฟื้นตัวเร็วในขณะที่สหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องพ่ายแพ้ให้กับโควิด เป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากที่สุดในโลก ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จึงใช้วิธีการแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง  ราวกับจะประกาศให้โลกรู้ว่า การแจกวัคซีนคุณภาพต่ำของจีนหรือจะสู้ “การละเว้นสิทธิบัตร” ของสหรัฐ เพราะ “พี่มีแต่ให้”