ผลจากแผนลงทุนระยะยาวของ 'ไบเดน' ต่อ 'หุ้นสหรัฐ'

ผลจากแผนลงทุนระยะยาวของ 'ไบเดน' ต่อ 'หุ้นสหรัฐ'

เปิดบทวิเคราะห์ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว 2 แผนของ "ประธานาธิบดีไบเดน" ส่งผลต่อ "ตลาดหุ้นสหรัฐ" อย่างไรบ้าง? และมีหุ้นกลุ่มไหนที่ได้รับประโยชน์จากการใช้จ่ายผ่านแผนการลงทุนระยะยาว มูลค่ารวมกว่า 4.05 ล้านล้านดอลลาร์ในครั้งนี้

ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไบเดน ได้เปิดเผยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว 2 แผน ประกอบด้วย 1) American Jobs Plan (AJP) มูลค่า 2.25 ล้านล้านดอลลาร์ เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมการผลิต และการทำวิจัย โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างงานหลายล้านตำแหน่ง เป็นการลงทุนระยะยาว ครอบคลุมถึงการใช้จ่ายในระยะเวลา 8 ปี โดยนำรายได้หลักในการใช้จ่ายมาจาก การปรับขึ้นภาษีกับภาคธุรกิจ เช่น ปรับขึ้นภาษีนิติบุคคล ปรับขึ้นภาษีกำไรจากสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนในต่างประเทศ และ เก็บภาษี Corporate Book Income ขั้นต่ำที่ 15% กับบริษัทขนาดใหญ่ เป็นต้น

และ 2) American Families Plan (AFP) มูลค่า 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ เน้นการดูแลเด็ก และการศึกษา แบ่งเป็น การใช้จ่ายลงทุน 1 ล้านล้านดอลลาร์และลดหย่อนภาษี 8 แสนล้านดอลลาร์ ครอบคลุมการใช้จ่ายในระยะเวลา 10 ปี โดยนำรายได้หลักมาจาก การปรับขึ้นภาษีกับผู้มีรายได้สูง เช่น ปรับขึ้นอัตราภาษีบุคคลธรรมดาขั้นสูงสุด จาก 37% เป็น 39.6% และปรับเพิ่มอัตราภาษีกำไรจากการลงทุนทั้ง Capital Gain และ Dividend income กับผู้ที่มีรายได้เกิน 1 ล้านดอลลาร์ต่อปี

ผลกระทบต่อตลาดหุ้นสหรัฐ การปรับขึ้นอัตราภาษีกับภาคธุรกิจจะส่งผลให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนปรับลดลง ซึ่งนักวิเคราะห์บางแห่ง ประเมินว่าการปรับขึ้นภาษีภาคธุรกิจตามข้อเสนอทั้งหมดของประธานาธิบดีไบเดนตามแผน AJP จะส่งผลกดดัน EPS ของดัชนี S&P500 ในปี 2022 ให้ปรับลดลงจากการคาดการณ์เดิมประมาณ 7% แต่อย่างไรก็ดี เมื่อรวมผลกระทบเชิงบวกจากแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้วคาดว่า EPS ในปี 2022 จะลดลงจากคาดการณ์เดิมเพียง 4% อยู่ที่ประมาณ 196 ดอลลาร์ ซึ่งยังขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก EPS คาดการณ์ในปี 2021 ที่ 180 ดอลลาร์ ประมาณ 8%

หุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการใช้จ่ายผ่านแผนการลงทุนระยะยาวทั้ง AJP และ AFP ได้แก่

- กลุ่ม Industrial ได้รับอานิสงส์ทางตรงจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแบบดั้งเดิม โดยหุ้นกลุ่ม Industrial มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าตลาดหุ้นสหรัฐ เมื่อดัชนี PMI และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้น ตามการใช้จ่ายลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และยังได้อานิสงส์ทางอ้อม จากการจัดหาวัตถุดิบที่จำเป็น สำหรับใช้ตามแผนการลงทุนด้านพลังงานสะอาด

- กลุ่มที่เกี่ยวกับการใช้จ่ายด้านพลังงานสะอาด (Clean Energy) เช่น EV Car ที่ได้รับเงินลงทุนสูงถึง 1.74 แสนล้านดอลลาร์ ทั้งการผลิตชิ้นส่วน และการสร้างสถานีชาร์จ 5 แสนจุดทั่วประเทศภายในปี 2030 และประธานาธิบดีไบเดน ยังเตรียมวงเงินอีก 4 แสนล้านดอลลาร์ สำหรับลดหย่อนภาษีจากการใช้พลังงานสะอาด แยกจากวงเงินของแผน AJP

- กลุ่ม Semiconductor มีการใช้งบประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ในการวิจัยพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมชิปคอมพิวเตอร์ในสหรัฐ รวมทั้ง สนับสนุนโครงการ Chips for America เพื่อแข่งขันกับรัฐบาลจีน

- กลุ่ม Consumer Discretionary ได้รับอานิสงส์จากแผน AFP ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภคสหรัฐโดยรวม ส่งผลให้ยอดขายของกลุ่มฯ มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นกว่ากลุ่มอื่นๆ ตามการขยายตัวของการใช้จ่ายส่วนบุคคลของสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราภาษี ก็จะส่งผลลบต่อหุ้นกลุ่มหลักๆ ดังนี้

- การปรับขึ้นภาษีนิติบุคคล (Corporate tax) จาก 21% เป็น 28% จะส่งผลกระทบทางลบต่อกลุ่มที่มีรายได้ส่วนใหญ่จากในประเทศสหรัฐ และเดิมมีอัตราภาษีที่เสียค่อนข้างสูง เช่น กลุ่ม Financials และ Consumer ขณะที่กลุ่ม Industrial มีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางลบจากแผนการขึ้นภาษี ต่อ EPS ค่อนข้างจำกัด เนื่องจาก มี Effective Tax Rate เปลี่ยนแปลงไม่มาก ทั้งในช่วงก่อนและหลังการบังคับใช้ Tax Cuts & Job Act ของประธานาธิบดีทรัมป์

- การปรับขึ้นภาษีกำไรจากสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน ในต่างประเทศ จาก 10.5% เป็น 21% จะส่งผลกระทบทางลบต่อกลุ่มที่มีกำไรจากต่างประเทศเทียบมูลค่าสินทรัพย์ที่มีตัวตนมาก เช่น Technology, Communication Service, Health Care

- การปรับขึ้นอัตราภาษีกำไรจากการลงทุน ทั้งใน Capital gain และ Dividend income จาก 20% เป็น 39.6% สำหรับผู้มีรายได้มากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งเมื่อรวมกับภาษีบนรายได้จากการลงทุนอีก 3.8% จะทำให้ภาระภาษีรวมอยู่ที่ 43.4% จะส่งผลกระทบทางลบต่อกลุ่มที่มี capital gains จำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา เช่น Technology และ Consumer Discretionary อย่างไรก็ตาม คาดว่า ผลกระทบจะเกิดขึ้นเพียงในระยะสั้นก่อนการปรับเพิ่มภาษี 1-6 เดือนเท่านั้น

กล่าวโดยสรุป หุ้นกลุ่มที่มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากแผนการลงทุนระยะยาว ได้แก่ กลุ่ม Industrial Clean Energy Semiconductor และ Consumer Discretionary ส่วนหุ้นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัด จากการปรับเพิ่มอัตราภาษีภาคธุรกิจ ได้แก่ Material และ Industrial ในขณะที่ หุ้นกลุ่ม Technology และ Health Care ได้รับผลกระทบทางลบจากแผนปฏิรูปภาษีค่อนข้างมาก แต่ได้อานิสงส์จากแผนลงทุนระยะยาวค่อนข้างจำกัด

ด้านหุ้นกลุ่ม Energy แบบดั้งเดิม ได้รับผลกระทบทางลบเช่นกัน ตามที่ประธานาธิบดีไบเดน เน้นการลงทุนใน Clean Energy และได้ยุติการลดหย่อนภาษีเชื้อเพลิง Fossil อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ยังคงต้องติดตามต่อไป ได้แก่ มูลค่าของแผนการลงทุน และอัตราภาษีที่ปรับเพิ่มขึ้น หลังผ่านการพิจารณาของสภาคองเกรส (ซึ่งอาจมีมูลค่าและอัตราภาษีที่น้อยกว่าที่ประธานาธิบดีไบเดนเสนอ) รวมทั้งการตอบสนองของนักลงทุนต่อการปรับขึ้นอัตราภาษี ซึ่งยังไม่ได้สะท้อนอยู่ในระดับราคาของตลาดหุ้นสหรัฐ ในปัจจุบัน และในคาดการณ์ EPS ปี 2022 มากนัก