คณะแพทย์ผชช.ยัน"ไม่ให้ยาฟาร์วิพิราเวียร์โควิด19ทุกราย"หวั่นเชื้อดื้อยา

คณะแพทย์ผชช.ยัน"ไม่ให้ยาฟาร์วิพิราเวียร์โควิด19ทุกราย"หวั่นเชื้อดื้อยา

สธ.กำชับมาตรฐานรักษาผู้ป่วยโควิด19 "ไม่ให้ยาฟาร์วิพิราเวียร์ทุกราย" บางรายให้โดยเปล่าประโยชน์ หวั่นเชื้อดื้อยา เผยผู้ติดเชื้อไม่มีอาการและไม่มีโรคร่วม 80-90% อาการไม่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือสีแดง โดยไม่ต้องกินยา ผชช.ระบุแอสตร้าฯป้องกันแพร่เชื้อต่อได้

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 6 พ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงสถานการณ์โควิด 19 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า แนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด19 ซึ่งจากกระแสข่าวการรักษาผู้ป่วยโควิด19 ที่อาจทำให้เกิดความสับสนได้นั้น จากที่มีการอัพเดตล่าสุดซึ่งมีการประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด19 จากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งจากสาขาโรคติดเชื้อ โรคปอด คณะจารย์ สมาคมโรคติดเชื้อ และสมาคมอุรเวชช์ฯ ด้วยการดูผลการรักษาในการระบาดระลอกม.ค. ,ธ.ค.2563 และเม.ย.2564 สรุปการรักษา โดยเฉพาะกรณีการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ดังนี้
1.กรณีผู้ติดเชื้อยืนยัน ที่ไม่มีอาการ และไม่มีโรคร่วมจะไม่มีการให้ยารักษาเฉพาะ

2.กรณีผู้ติดเชื้อยืนยัน มีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการแต่มีโรคร่วม/ปัจจัยเสี่ยง จากเดิมจะยังไม่ให้ยา เป็นการรักษาตามอาการ แต่แนวทางใหม่เมื่อมีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการแต่มีปัจจัยเสี่ยง อย่างระลอกนี้ คนมีภาวะอ้วนเสียชีวิตมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญได้รวบรวมข้อมูล จึงระบุให้รักษา โดยการให้ยาต้านไวรัสตามดุลยพินิจของแพทย์ที่รักษา

3.กรณีผู้ติดเชื้อยืนยัน ที่มีอาการเล็กน้อยและมีความเสี่ยง และปอดอักเสบเล็กน้อย นอกเหนือจากการให้ยาฟาวิพิราเวียร์แล้ว การให้ยาสเตียรอยด์ในรายที่มีอาการรุนแรงสามารถลดอาการรุนแรงที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจในอนาคตลงได้ด้วย

และ4.ผู้ติดเชื้อยืนยืน ปอดอักเสบ ความเข้มข้นออกซิเจนในเลือดที่อุณหภูมิห้องน้อยกว่า 96% หรือปอดอักเสบรุนแรง จะยังใช้แนวทางเดิม คือ ให้ยาฟาร์วิพิราเวียร์+โลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ และใหเสตียรอยด์ในรายที่รุนแรง

“เกณฑ์การให้ยาฟาวิพิราเวียร์ จะให้เร็วขึ้น แต่ไม่ได้ให้ทุกคน และไม่ให้แบบหว่านแห เพราะการกินยาฟาวิพิราเวียร์มีผลข้างเคียง หลายคนมีปัญหาตับอับเสบได้ และการหว่านแหจะทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้"นพ.สมศักดิ์กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันการใช้ยาตัวอื่น อาจจะมีต่างประเทศที่ยังอยู่ในการวิจัยระยะ2 และ 3 ดังนั้น จึงต้องเก็บยาตัวนี้เพื่อเป็นอาวุธในการใช้ จึงไม่อยากทำแบบหว่านแห ที่สำคัญยังพบว่า ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการและไม่มีโรคร่วม ซึ่งมีประมาณ 30-40% ในจำนวนนี้พบว่า 80-90% อาการไม่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือสีแดง โดยไม่จำเป็นต้องกินยา หากให้ยาไปจะเป็นการเปล่าประโยชน์ ทั้งหมดนี้มาจากการพิจารณาร่วมกันจากผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ทั้งแพทย์โรงเรียนแพทย์ สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อฯ

นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ภาวะโรคร่วมหรือปัจจัยเสี่ยง ประกอบด้วย อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกันเรื้อรัง ร่วมโรคปอดเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมโรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ภาวะอ้วน ตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ภาวะอื่นๆ ที่แพทย์พิจารณาว่าเป็นปัจจัยเสี่ยง เป็นต้น

อัตราใช้ยาฟาร์วิพิราเวียร์วันละ50,000 เม็ด

ส่วนการบริหารจัดการยาฟาวิพิราเวียร์ มีการกระจายไป 2 ล้านเม็ดทั่วประเทศ ส่วนอีก 3 ล้านเม็ดจะเข้ามาอีกประมาณกลาง พ.ค.นี้ อัตราการใช้ปัจจุบันประมาณวันละ 50,000 เม็ด โดยจำนวน 5 ล้านเม็ดทั้งหมดจะใช้ได้ประมาณ 3 เดือนกว่า ทั้งนี้ ท่านรัฐมนตรีว่าการ สธ. ได้สั่งการองค์การเภสัชกรรมให้มีสต๊อกประมาณ 2 ล้านเม็ด ซึ่งจะมีการเติมตลอด ขณะนี้มีการกระจายไปทุกจังหวัดแล้ว โดยผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขจะปรึกษาในเขตสุขภาพและกระจายไปทุกจังหวัด เพื่อให้การเบิกจ่ายยาเป็นไปด้วยความสะดวก

ส่วนพื้นที่กรุงเพทฯ มีการกระจายยาไปที่รพ.เอกชน ที่เป็นเครือข่ายใหญ่ๆ ส่วนรพ.เล็กๆ มีประมาณ 20 แห่งที่ไม่มีเครือข่ายได้มีการนำยาไปสำรอง และค่อยใช้วิธีเบิกทดแทนเอา ขณะที่โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลของกทม. หรือกลาโหม ตำรวจได้มีการสำรองเช่นกัน และยังมีการนำยาไปไว้ที่ฮอสพิเทล และโรงพยาบาลสนามด้วย เพราะแม้อาการไม่มาก แต่หากมีปัจจัยเสี่ยงก็จะให้ยา นี่คือ กระบวนการที่ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลนั้น โดยหลักการอยากให้เป็น 14 วัน แต่หากพื้นที่ไหนมีปัญหาการบริหารจัดการเตียง ก็สามารถจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลได้ตั้งแต่วันที่ 10 หรือ 10 วันเป็นต้นไป และกลับไปกักตัวต่อที่บ้าน ให้ปฏิบัติดังนี้
1.ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการให้พักในรพ.หรือสถานที่รัฐจัดให้เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน ในจังหวัดที่มีปัญหาการบริหารเตียงอาจให้อยู่ รพ. 10 วัน และกลับไปกักตัวต่อที่บ้านอีก 4 วัน จนครบ 14 วันจับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ
2.ผู้ป่วยที่อาการน้อยให้พักในโรงพยาบาลอย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่มีอาการ เมื่อครบหากยังมีอาการให้อยู่ในรพ.ต่อ หรือในสถานที่รัฐจัดให้จนไม่มีอาการแล้วอย่างน้อย 24 หรือ 48 ชั่วโมง จนอาการดีขึ้น โดยในจังหวัดที่มีปัญหาการบริหารเตียงอาจให้อยู่ รพ. 10 วัน หากอาการดีขึ้นเป็นปกติแล้วกลับไปกักตัวต่อที่บ้าน จนครบ 14 วัน นับจากวันที่มีอาการ

ย้ำวัคซีนทุกตัวป้องกันป่วยรุนแรง
รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ กล่าวว่า ทุกประเทศมีการชั่งน้ำหนักแล้วว่าวัคซีนมีประโยชน์มากกว่าโทษ โดยในส่วนของประสิทธิภาพวัคซีนแต่ละยี่ห้อ ซึ่งเป็นตัวเลขที่หลายคนมักจะไปยึดติด เช่น
ไฟเซอร์ 95% โมเดอร์นา 94% สปุตนิกวี 92% โนวาแวกซ์ 89% แอสตร้าเซนเนก้า 67% และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 66% ข้อมูลนี้ยังไม่มีซิโนแวค เพราะผลวิจัยออกมาทีหลัง ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ มาจากที่ต่างๆไม่เหมือนกัน เพราะในการวิจัยนั้น
1.จะวิจัยในประเทศเดียวกันไม่ได้ ต้องกระจายกัน 2.การวิจัยเวลาเดียวกันก็ไม่ได้ เวลานั้นมีการระบาดหรือไม่ก็มีผล 3.จะวิจัยในเผ่าพันธุ์เดียวกันก็ไม่ได้อีก และ4.วิจัยในช่วงที่แพร่กระจายเชื้อแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน บางแห่งมีการกลายพันธุ์
"เพราะฉะนั้น อย่าไปดูแค่เฉพาะตัวเลขอย่างเดียว สิ่งที่ทางการแพทย์อยากเห็นคือ วัคซีนเกือบทุกตัวป้องกันการเสียชีวิตเกือบ 100% ป้องกันการนอนรพ. ป้องกันอาการรุนแรงนอนไอซียูได้เกือบ 100% ส่วนที่มีอาการน้อยๆ เกือบไม่ต้องกินยาลดไข้ ก็ไม่กังวล เพราะนอนพักที่บ้านก็หาย”รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว

รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าวด้วยว่า วัคซีนซิโนแวค ป้องกันอาการรุนแรงได้ 100% ป้องกันอาการปานกลาง เช่น ป่วยไข้ต้องนอนรพ.แต่ไม่ถึงอาการรุนแรงพบว่าป้องกันได้ถึง 83.7% และในกลุ่มที่ไม่มีอาการ ป้องกันการติดเชื้อได้อีก 50.7% แต่ประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค เมื่อมีการใช้จริงในประเทศบราซิล ในบุคลากรทางการแพทย์กว่า 6 หมื่นคนแล้วเก็บข้อมูช พบว่า หลังฉีดราว 2 สัปดาห์ คนไข้ลดลง และเมื่อฉีด2 เข็ม คนไข้ยิ่งลดลง

วัคซีนแอสตร้าฯมีผลดีต่อเชื้อกลายพันธุ์
และวัคซีนแอสตราเซเนกา ที่จะใช้ในประเทศไทยล็อตใหญ่เดือน มิ.ย.2564 จะใช้ในคนอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยเมื่อฉีดเข็มเดียวน่าจะป้องกันได้อย่างน้อย 3 เดือนแต่ต้องมีเข็ม 2 ส่วนประสิทธิภาพที่ฉีด 2 เข็ม มีประสิทธิภาพ 62-81.5% ซึ่งศึกษาหลายที่และศึกษาในช่วงที่มีโรคระบาด ขณะที่ไฟเซอร์และโมเดอร์นา ศึกษาในช่วงที่ไม่ระบาดมาก โดยแอสตร้าฯ มีการศึกษาโดยเฉพาะในบราซิลได้ศึกษาบุคลากรทางการแพทย์กำลังมีการติดเชื้ออย่างมาก และเชื้อที่ติดมีส่วนหนึ่งเป็นเชื้อกลายพันธุ์ จึงมีการศึกษาวัคซีนแอสตรัาฯ มีผลต่อเชื้อกลายพันธุ์หรือไม่ พบว่าค่อนข้างดี โดยเฉพาะสายพันธุ์อังกฤษ B117 ได้ผลประมาณ 70% ส่วนสายพันธุ์ดั้งเดิมประมาณ 80% แต่สายพันธุ์แอฟริกาใต้ B1351 ไม่ค่อยดี แต่สายพันธุ์อังกฤษ บราซิลค่อนข้างดี และวัคซีนแอสตราฯ พบว่าผลข้างเคียงเข็มที่ 1 มากกว่าเข็มที่ 2 โดยผลข้างเคียงรุนแรงพบ 0.7% ขณะที่วัคซีนหลอก พบ 0.8% ซึ่งวัคซีนทุกอย่างมีผลข้างเคียงหมด เพียงแต่ประโยชน์มากกว่า

วัคซีนแอสตร้าฯป้องกันแพร่เชื้อได้ 50%
นอกจากนี้ มีการศึกษาในสก๊อตแลนด์ โดยเปรียบเทียบ วัคซีนแอสตร้าฯ และไฟเซอร์ว่าอันไหนดีกว่ากัน พบว่า ไม่ด้อยกว่ากัน และแอสตร้าฯมีแนวโน้มดีกว่าในการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกัน เพราะฉะนั้น แอสตร้าฯไม่ได้ขี้เหร่กว่าไฟเซอร์ และผลศึกษาวิจัยหลังจากเข็มที่ 1 เริ่มป้องกันโรคตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 เป็นต้นไป แม้ระหว่างการใช้เกิดปัญหาขึ้น ว่ามีผลข้างเคียงกรณีเกิดลิ่มเลือดขึ้นได้นั้น ทางองค์การอนามัยโลกเปิดเผยข้อมูลว่า การเกิดลิ่มเลือดในกลุ่มวัคซีนแอสตร้าฯ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน จะพบประมาณ 4 ใน 1 ล้านเข็ม ในจำนวนนี้พบเสียชีวิต 1 ใน 4 ราย หรือ 1 ในล้านเข็ม ที่เสียชีวิตจากโรคลิ่มเลือด แต่โรคลิ่มเลือดเกิดขึ้นในคนไข้เป็นโควิด พบว่า คนไข้โควิด 8 คนจะมี 1 คนเป็นโรคลิ่มเลือด เพราะโรคนี้เกี่ยวข้องกับโควิดเช่นกัน ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตโควิด 2 ใน 100 และโรคลิ่มเลือดยังเกิดในคนสูบบุหรี่จัด พบถึงประมาณ 1.7 พันกว่าคนต่อล้านประชากรที่มีการสูบบุหรี่จัด

"สิ่งที่ทางการแพทย์อยากเห็นคือ การป้องกันป่วยได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งตัวเลขพวกนี้จะออกมาหลากหลาย แต่ตัวเลขสำคัญคือ ป้องกันป่วยหนักได้แค่ไหน ซึ่งทุกตัวป้องกันได้ 100% ทั้งหมด ขณะที่ไฟเซอร์และแอสตร้าฯมีผลการศึกษาการป้องกันการแพร่เชื้อ โดยดูในคนที่ฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อด้วยการตามไปดูคนในบ้านปรากฎว่าติดน้อยลง โดยไฟเซอร์ป้องกันการแพร่เชื้อ 60% และแอสตร้าฯ 50% ดังนั้น การศึกษาข้อมูลวัคซีนต้องพิจารณาด้วยข้อมูลรอบด้าน"รศ.(พิเศษ)นพ.ทวีกล่าว

เมื่อถามถึงกรณีชายชาวนนทบุรีอายุ 51 ปี พนักงานขับรถเอกซเรย์ เสียชีวิตหลังรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้เพียง 2 วัน โดยผลชันสูตรระบุกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน รศ.(พิเศษ)นพ.ทวีกล่าวว่า รายนี้คณะกรรมการพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากวัคซีนกำลังดำเนินการสอบสวน ซึ่งเมื่อมีผู้เสียชีวิตก็ต้องพิจารณาและดูข้อมูลอย่างละเอียด โดยรายนี้มีรายงานว่าเกิดจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เท่าที่อ่านข้อมูลเบื้องต้นก็ถือว่ามีอาการเข้าได้กับโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายชัดเจน เนื่องจากมีอาการเจ็บหน้าอก แต่หลักฐานข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนที่สุดว่าเป็นโรคนี้หรือไม่ คือ กราฟการเต้นของหัวใจ คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน จะได้ข้อสรุปออกมาเร็วๆ นี้ สำหรับโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมักพบในคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และเบาหวาน