ตามคนไทยไปฉีด‘ไฟเซอร์’ที่สิงคโปร์

ตามคนไทยไปฉีด‘ไฟเซอร์’ที่สิงคโปร์

สิงคโปร์ได้ชื่อว่าเป็นเสือปืนไวแห่งเอเชีย ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นประเทศแรกในวันที่ 8 ม.ค. ถึงวันนี้การฉีดครอบคลุมไปถึงคนต่างชาติในประเทศด้วย

ประเทศไทยเริ่มต้นฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. แต่ยังเป็นการฉีดในวงจำกัด โดยจะเริ่มฉีดในวงกว้างขึ้นตั้งแต่เดือนมิ.ย. ให้กับผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังอายุน้อยกว่า 60 ปี และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป รวม 16 ล้านคน ประชาชนทั่วไปยังต้องรอไปก่อน ดังนั้นถ้าใครมีโอกาสได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในต่างแดนย่อมถือว่าโชคดีมากๆ 

วราลักษณ์ เอเวอรี นักทำหนังสารคดีชาวไทย เป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่สิงคโปร์แบบไม่คาดฝัน  จึงแบ่งปันประสบการณ์กับกรุงเทพธุรกิจ เธอเล่าว่า มาถึงสิงคโปร์ราววันที่ 10 ม.ค. เป็นการเข้ามาโดยใช้วีซ่าประเภทผู้ติดตาม (dependent pass) จากสามีที่ได้วีซ่า long term work pass อยู่ได้นาน 1 ปี 

เมื่อมาถึงวราลักษณ์ต้องรายงานตัวกับกระทรวงแรงงาน ถูกกักตัวในโรงแรม  14 วัน และต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชันของกระทรวง (ยังไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุข) รายงานอุณหภูมิร่างกายให้กระทรวงแรงงานทราบวันละ 3 ครั้ง ตอบ SMS และรับวิดีโอคอลล์จากกระทรวงทุกวันเพื่อยืนยันว่ายังอยู่ในโรงแรมไม่ได้ออกไปไหน ครบกำหนดต้องตรวจโควิด ถ้าได้ผลเป็นลบก็ออกจากโรงแรมที่กักตัวได้

เมื่อออกมาใช้ชีวิตจริงในสิงคโปร์ วราลักษณ์บอกว่าก็เหมือนกับประเทศทั้งหลายที่ต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นหลายตัว รัฐบาลเองก็ลองผิดลองถูกเปลี่ยนมาหลายแอพจนกระทั่งตอนนี้มาลงตัวที่แอพ face together และ face entry 

"แล้วคนก็บ่นว่าคนจนไม่มีสมาร์ทโฟน จะสแกนอะไร ต้องใช้ดาต้า จ่ายค่าเน็ตอีก โอ๊ย! ยุ่งยาก รัฐบาลเลยออกอุปกรณ์ token ให้ไปรับที่ community center  แต่อันนั้นใช้ได้เฉพาะชาวสิงคโปร์ และผู้มีถิ่นพำนักถาวรเท่านั้น มันเป็นเหมือนพลาสติกที่มีเหล็กอยู่ข้างใน เป็นวงรี มีตะขออยู่ข้างบน ในนี้คือบรรจุข้อมูลส่วนตัว จะเข้าร้านไหน ก็โชว์อันนี้ แต่ที่นี่ก็มีปัญหาเรื่อง infrastructure เพราะร้านเล็กร้านน้อยไม่มีเครื่องตรวจอันนี้ ตอนนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านอุปกรณ์ต่างๆ แล้วยังกระจายไม่ทั่วถึง จริงๆ สิงคโปร์ก็พยายามวิ่งก้าวไปให้ทันโควิด ก็ยังมีปัญหาเรื่องอุปกรณ์อยู่ แต่เขามีพร้อมให้คนทุกระดับ" สาวไทยตั้งข้อสังเกต

แล้วจู่ๆ ปลายเดือนมี.ค. วราลักษณ์ก็ได้รับ SMS จากกระทรวงสาธารณสุขว่า มีสิทธิได้รับวัคซีนตามกลุ่มอายุ 

"เขาส่ง SMS มาว่าเรามีสิทธิรับวัคซีนฟรี ก็ส่งข้อความมาอย่างดี เชิญชวนให้ฉีด บอกว่าขอให้ใจเย็นๆ มีคนรอฉีดมาก เราต้องลงทะเบียนไปก่อน ถ้าไม่อยากก็เฉยๆ ไว้ เราก็ เฮ้ย! ได้วัคซีนด้วย ไม่คิดไรมาก วัคซีนอะไรก็ได้ ไม่ได้คิด ลงทะเบียนไปก่อน แล้วเขาก็หายไป แล้วก็ตอบมาว่าได้รับการลงทะเบียนแล้วนะ ตอนนี้รอก่อน เมื่อถึงคิวเธอก็จะส่งข้อความมาอีกที แล้วก็เตือนว่าอย่าลงทะเบียนซ้ำ ระบบจะสับสน" 

สิงคโปร์ใช้วัคซีนสองตัวคือไฟเซอร์กับโมเดอร์นา ซึ่งแน่นอนว่า “ข่าวลือ” ก็มีอีกเช่นกัน 

"ก็มีข่าวลือหนาหูว่าไฟเซอร์หมดแล้ว ต้องเก็บไว้ให้โดสที่ 2 คนที่ฉีดหลังเมษาก็จะเป็นโมเดอร์นาเท่านั้น เราก็รีบไปค้นในเว็บสธ. ว่า โมเดอร์นา เป็นไง มีความเสี่ยงมั้ย ก็อ่านเต็มที่" 

ครั้นไปถึงศูนย์ฉีดวัคซีนใหญ่ใจกลางเมือง เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่ Raffle City Convention Center ซึ่งทุกศูนย์ต้องลงทะเบียนจองวันฉีดไว้ล่วงหน้า วราลักษณ์จึงได้ทราบว่า เธอได้ฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ และขั้นตอนการฉีดวัคซีนนี่เองที่บ่งบอกการบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี เมื่อเข้าไปถึงศูนย์ประชุมสแกนแอพพลิเคชั่น ข้อมูลทุกอย่างปรากฏบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือ โดยต้องไปก่อนเวลานัด 10 นาที ถ้าไปก่อนจะไม่ได้รับอนุญาตให้รอบริเวณศูนย์ฉีด

แต่ละรอบมีคนไปฉีดวัคซีนประมาณ 200 คน จัดเป็นแถวๆ ละ 10 คน เจ้าหน้าที่คอยซักข้อมูลละเอียดยิบให้ตรงกับข้อมูลที่เคยกรอกไว้

"เขาจะมีแผ่นสติกเกอร์ที่มีข้อมูลเรา เราต้องติดสติกเกอร์ไว้กับหนังสือให้ข้อมูล แล้วก็คอยคิว แต่ละเสต็ปเราจะไม่เห็นคนมากมายก่ายกอง ที่บอกว่า 200 คือกะจากคิว แต่เห็นจริงๆ คือ 20 คน ไปฉีดพร้อมกัน ก็เข้าไปทีละคน ก็ตรวจสอบกันอีก มีตรวจหลายรอบว่าใช่คนนี้แน่ๆ"

ฉีดเสร็จแล้วต้องนั่งรอดูอาการอีกครึ่งชั่วโมง ห้องนี้เองที่วราลักษณ์เห็นคนมากที่สุดราว 60 คน จากนั้นเจ้าหน้าที่เข้ามาถามอาการแล้วก็กลับบ้าน ตอนลงบันไดมีป้ายใหญ่มากจากกระทรวงสาธารณสุขบอกว่า  ขอบคุณที่ช่วยให้ประเทศเรารอดโควิดได้ ที่เล่นเอาวราลักษณ์ถึงกับอึ้ง 

"ตอนรู้ว่าได้สิทธิฉีดวัคซีนก็ยิ่งว่าถูกล็อตเตอรี่ เพราะเราไม่คิดว่าเขาจะให้คนที่ไม่ใช่ประชาชนเขาด้วย แล้วยิ่งเรามาด้วยวีซ่าติ่ง (ผู้ติดตาม) ก็คิดตามประสาคนไทยนะ ว่าเราเป็นต่างด้าว เราไม่ใช่ประชาชนของเขา แต่เขาให้วัคซีนเรา เพราะเขามองการป้องกันจากอีกมุมนึงอย่างสิ้นเชิง เสร็จแล้วยังขอบคุณที่เรามีส่วนร่วมในการป้องกันโควิดขนาดนี้

เรื่องราวของวราลักษณ์ในสิงคโปร์ ถือเป็นหนึ่งประสบการณ์เรียกน้ำย่อยระหว่างรอให้การฉีดวัคซีนในไทยกระจายอย่างทั่วถึง ทั้งยังสะท้อนให้เห็นมุมมองของรัฐบาลที่มองกว้างไปถึงทุกคน เพราะการคุ้มครองทุกชีวิตในประเทศก็คือการคุ้มครองพลเมืองสิงคโปร์นั่นเอง