'อดีตที่ปรึกษา กรธ.' ค้านคำวินิจฉัย ไม่ตัดสิทธิ์ 'ธรรมนัส' เชื่อเกิดแรงกระเพื่อมทางการเมือง

'อดีตที่ปรึกษา กรธ.' ค้านคำวินิจฉัย ไม่ตัดสิทธิ์ 'ธรรมนัส' เชื่อเกิดแรงกระเพื่อมทางการเมือง

'เจษฎ์' ยกบริบทกฎหมาย-รัฐธรรมนูญ ตัดสิทธิ์คนต้องโทษร้ายแรง ค้านคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญ เชื่อหลังจากนี้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมือง

       นายเจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซดืไทยแลนด์ ว่า ตนเห็นด้วยยากกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คดีที่ชี้ว่า ร.อ.ธรรมนัส พรมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ และรมช.เกษตรและสหกรณ์ ไม่เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98(10) เพราะเคยต้องคดีที่เกี่ยวกับยาเสพติด และถูกพิพากษาให้จำคุก ที่ศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย  เพราะในรายละเอียดและบริบทของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรัฐธรรมนูญ  ให้การยอมรับกับคำตัดสินของศาลต่างประเทศ และกรณีที่คนประเทศใดกระทำความผิดในประเทศอื่น ต้องถือเป็นความผิดในประเทศด้วย  


       “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กร ไม่ว่าจะเห็นต่าง ต้องยอมรับ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่รับกฎหมาย และคำพิพากษาของต่างประเทศ  แสดงว่า คุณธรรมนัสยังรักษาตำแหน่ง ส.ส.และรัฐมนตรีต่อไปได้ อย่างไรก็ดีผมเชื่อว่าประเด็นดังกล่าวจะเกิดแรงกระเพื่อมในทางการเมือง เพราะลักษณะความผิดที่เกิดขึ้นจากคำพิพากษาไม่ถูกหยิบยกมาพิจารณา ดังนั้นในทางการเมืองต้องถูกไปเปรียบเทียบ หากเกิดกรณีเดียวกันกับบุคคลอื่น” นายเจษฎ์ กล่าว 

       นายเจษฎ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับบริบททางกฎหมาย เช่น  พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 ฉบับแก้ไข ปี 2543 มาตรา 5 กำหนดให้ผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แม้จะทำนอกราชอาณาจักร ผู้นั้นต้องได้รับโทษในราชอาณาจักร กรณีที่ผู้กระทความผิดหรือผู้ร่วมกระทำความผิดเป็นคนไทย และโยงกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 10 ที่ระบุว่าหากบุคคลได้รับโทษจนเสร็จสิ้นแล้วไม่ต้องรับโทษในประเทศไทยหรือศาลต่างประเทศพิจารณาไม่เอาผิด จะถือว่าไม่ผิด  ซึ่งหมายถึงการยอมรับในคำตัดสินของศาลต่างประเทศ  นอกจากนั้นยังมีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อปี 2525 ที่ให้ความเห็นในคดีเลือกตั้ง ว่าด้วยผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส. ที่กระทำความผิดในต่างประเทศ ที่ความเห็นระบุว่าต้องตัดสิทธิ์เพราะหากตัดสิทธิ์ผู้ที่ทำผิดกฎหมายในประเทศไทย แต่ไม่ตัดสิทธิ์ผู้ทำผิดกฎหมายต่างประเทศ จะเกิดความลักลั่น
       “เมื่อพิจารณาข้อกฎหมาย และผู้วินิจฉัยกฎหมาย คำพิพากษาที่ว่าคือ เป็นไปภายใต้กฎหมายไทย คือ ยอมรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ  ทั้งนี้การยอมรับ ต่างจากการบังคับตาม  เช่น ศาลต่างประเทศระบุให้จำคุกเป็นเวลา 3 ปี หากศาลไทยยอมรับคำตัดสินและลงโทษบุคคลตามศาลต่างประเทศ อาจจถือได้ว่าก้าวล่วงอธิปไตยของศาลไทย ทั้งนี้การยอมรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศนั้นทำได้” นายเจษฎ์ กล่าว
       อดีตที่ปรึกษา กรธ. กล่าวด้วยว่าสำหรัรบเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(10) นั้น เพื่อกำหนดว่าบุคคลที่ต้องโทษร้ายแรง เช่น ทุจริตต่อหน้าที่ ทำผิดกฎหมาย ป.ป.ช. หรือเรื่องยาเสพติด ต้องถูกตัดสิทธิ์ตลอดชีวิต ดังนั้นเมื่อคำตัดสินออกมาแล้ว  ด้วยความเคารพ ตนเห็นด้วยยาก.