‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘อ่อนค่า’ที่31.13บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘อ่อนค่า’ที่31.13บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทระยะสั้นยังผันผวนจากการระบาดโควิด-19ในประเทศที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น และจับตาแรงเทขายหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติ หากฟันด์โฟลว์ไหลออกกดดันเงินบาทได้ มองเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 31.05- 31.20 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.13 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.11 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.05 - 31.20 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ในระยะสั้น เงินบาทยังมีโอกาสเผชิญความผันผวนจากปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่ดูมีแนวโน้มอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น และเริ่มเห็นแรงเทขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะแรงเทขายหุ้น อย่างไรก็ดี เรามองว่า แม้จะมีแรงเทขายหุ้นจากนักลงทุนต่างชาติ แต่โดยรวมนักลงทุนต่างชาติยังคงเข้ามาซื้อบอนด์ไทย ทำให้ฟันด์โฟลว์โดยรวมมีทิศทางไหลเข้าสุทธิ

ทั้งนี้ ต้องติดตามแรงเทขายหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติ เพราะหากนักลงทุนต่างชาติเริ่มขายหุ้นไทยหนักขึ้นมากกว่าวันละ 3พันล้านบาท ก็อาจทำให้ฟันด์โฟลว์โดยรวมเป็นไหลออกสุทธิและกดดันเงินบาทได้

ขณะที่ตลาดการเงินโดยรวมยังคงเผชิญความผันผวนและผู้เล่นส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว สะท้อนผ่าน การปรับตัวขึ้นของดัชนี Dowjones ของสหรัฐฯ กว่า 0.29% ในขณะที่ ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ทรงตัว

ส่วนหุ้นเทคฯ ยังคงเผชิญแรงเทขาย ทำให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดลบกว่า 0.37%  โดยปัจจัยที่ขับเคลื่อนตลาดยังคงเป็นประเด็นแนวโน้มการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟด แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน

โดยในส่วนประเด็นแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของเฟด บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างยืนกรานว่า การเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อจะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวและยังคงไม่ได้กังวลต่อประเด็นดังกล่าวนัก

ในฝั่งยุโรป รายงานข้อมูลเศรษฐกิจ อย่าง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Services PMI) ที่มาออกดีกว่าคาด ที่ระดับ 50.5จุด ก็ได้ช่วยหนุนให้ ตลาดมีความหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปมากขึ้นและทำให้ดัชนีSTOXX50 ของยุโรป รีบาวด์ขึ้นมากกว่า 2%

อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดบอนด์ ยังคงเห็นภาพที่ผู้เล่นส่วนใหญ่ต่างรอคอยจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น ก่อนจะเข้าซื้อ(Buy on Dip) โดยเฉพาะ เมื่อยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.62% ก่อนที่ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะย่อตัวลงมา สู่ระดับ 1.58% ทรงตัวจากระดับวันก่อนหน้า

โดยปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ยีลด์ปรับตัวลดลง ก็มาจากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งต่างไม่ได้แสดงความกังวลต่อแนวโน้มการเร่งตัวของเงินเฟ้อและมองว่าปัจจัยดังกล่าวจะไม่ได้ส่งผลให้เฟดต้องรีบปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน

ทั้งนี้ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 91.26 จุด ซึ่งเรามองว่า ตลาดจะรอคอยการรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยเฉพาะยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนการถือครองเงินดอลลาร์ต่อไป

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปเป็นหลัก โดยตลาดมองว่า เศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัว โดยยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมีนาคม ปรับตัวขึ้นกว่า 1.6% จากเดือนก่อน (คิดเป็น +9.4%y/y) ทั้งนี้ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.10% เพื่อหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ