บ.พลังงานจีนชะลอโครงการเหตุการเมืองร้อนระอุ

บ.พลังงานจีนชะลอโครงการเหตุการเมืองร้อนระอุ

บ.พลังงานจีนชะลอโครงการเหตุการเมืองร้อนระอุ ขณะเทเลนอร์ ระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจและธุรกิจในเมียนมาเลวร้ายลง สถานการณ์ด้านความปลอดภัยและสิทธิมนุษยชนก็แย่ลง บริษัทจึงตัดสินใจด้อยค่าสินทรัพย์การลงทุนในเมียนมา

บรรดาบริษัทพลังงานสัญชาติจีนที่เซ็นสัญญาตั้งโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าในเมียนมาตัดสินใจระงับโครงการก่อสร้างไว้ก่อนและบริษัทบางแห่งกำลังคิดที่จะออกจากตลาดแห่งนี้ เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าการรัฐประหารของกองทัพกำลังกลายเป็นปัญหาของนักลงทุนทุกกลุ่มแม้แต่นักลงทุนจีนที่ไม่ค่อยรู้สึกว่าความขัดแย้งทางการเมืองในเมียนมาเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเท่าใดนัก

เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย รายงานโดยอ้างแหล่งข่าววงในว่า โครงการต่างๆที่ดำเนินการโดยกลุ่มบริษัทพลังงานแสงอาทิตย์ และก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)ของรัฐบาลจีน ประสบปัญหายากลำบากตั้งแต่ก่อนวันที่ 1 ก.พ.ที่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนอยู่แล้ว และการทำรัฐประหารยิ่งทำให้เรื่องต่างๆมีความยุ่งยากมากขึ้น

ทั้งนี้ มีบริษัทหลายแห่งได้สัมปทานในยุคของรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยนางออง ซาน ซูจี ผ่านทางบริษัทที่ยื่นประมูลสองราย โดยหนึ่งในนั้นคือบริษัทวีพาวเวอร์ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ซึ่งชนะประมูลโครงการสร้างโรงผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซและจากก๊าซแอลเอ็นจีจำนวน4แห่งจากทั้งหมด5แห่งในเมียนมาเมื่อปี 2562 และบริษัทนี้เช่าที่ดินที่เป็นของกองทัพ จึงถูกบรรดานักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนโจมตีว่าทำธุรกิจโดยตรงกับกองทัพเมียนมา

ขณะนี้กลุ่มสิทธิมนุษยชนหันมาสร้างแรงกดดันแก่ธุรกิจต่างชาติที่ยังคงดำเนินธุรกิจกับกองทัพเมียนมาเพื่อกดดันให้เลิกทำธุรกิจกับกองทัพหลังจากที่กองทัพเมียนมาใช้กำลังเข้าปราบปรามการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐประหาร จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนกว่า 750 คนนับตั้งแต่มีรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.และที่ผ่านมา บริษัทคิริน ผู้ผลิตเบียร์สัญชาติญี่ปุ่นและลิ้ม คาลิง เจ้าพ่อนักธุรกิจชาวสิงคโปร์ประกาศแผนยุติความร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทที่มีสายสัมพันธ์กับกองทัพเมียนมา

บุคคลสำคัญในโครงการวีพาวเวอร์ที่มีสายสัมพันธ์กับกองทัพเมียนมาคือ “ตุน มิน แล็ต” บุตรชายของพันโท ขิ่น หม่อง แลตต์ นายทหารเกษียณจากราชการ โดยตุน มิน แล็ตมีชื่อปรากฏในรายงานสืบสวนข้อเท็จจริงแห่งสหประชาชาติว่าด้วยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกองทัพเมียนมาเมื่อปี 2562 ในฐานะผู้ถือหุ้นเอกชนในบริษัทสตาร์ แซฟไฟร์ กรุ๊ป ออฟ คัมพานีส์และในรายงานชิ้นนี้ บ่งชี้ด้วยว่า บริษัทสตาร์ฯเป็นหนึ่งใน 45 บริษัทที่กองทัพเมียนมาถือหุ้นอยู่ ได้บริจาคเงินให้แก่กองทัพหลังจากเสร็จสิ้นปฏิบัติการผลักดันชาวมุสลิมโรฮิงญาจำนวนกว่า 700,000 คนจากรัฐยะไข่ไปบังกลาเทศ

“การที่บริษัทวีพาวเวอร์จ่ายค่าเช่าที่ดินให้แก่กองทัพ เท่ากับบริษัทพลังงานจีนเป็นแหล่งสร้างรายได้ระยะยาวให้แก่กองทัพเมียนมา เราจึงเรียกร้องไปยังตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงให้ดำเนินการทางกฏหมายเพื่อเอาผิดวีพาวเวอร์ในฐานะที่วีพาวเวอร์สนับสนุนทหารเมียนมาที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและละเมิดกฏหมายมนุษยชาติ”ยาดานาร์ หม่อง โฆษกหญิงของจัสติส ฟอร์ เมียนมา กล่าว

การเคลื่อนไหวของกลุ่มบริษัทพลังงานจีนมีขึ้นในช่วงเดียวกับที่“เทเลนอร์” บริษัทโทรคมนาคมชั้นนำสัญชาตินอร์เวย์ ประกาศด้อยค่าสินทรัพย์การลงทุนในทางบัญชีในเมียนมาเต็มจำนวนที่ 6,500 ล้านโครนในไตรมาสนี้ ส่งผลให้บริษัทบันทึกการขาดทุนสุทธิในไตรมาสแรกอยู่ที่ 3,889 ล้านโครน

“ซิกเว่ เบรกเก้” ประธานและประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)กลุ่มเทเลนอร์ กล่าวว่า “บริษัทเห็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ มีความไม่แน่นอน และเป็นประเด็นที่น่ากังวลในเมียนมา นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความมั่นคงของพนักงาน การให้บริการลูกค้าและความโปร่งใสมาโดยตลอด"

"ข้อจำกัดการใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือที่ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้คนในเมียนมา และเศรษฐกิจของประเทศ และสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการใช้งานอินเทอร์เน็ต เทเลนอร์จึงเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เมียนมาคืนสถานะการสื่อสารในทันทีและเคารพในสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิมนุษยชน”

เบรกเก้ กล่าวด้วยว่า "แนวโน้มสภาพเศรษฐกิจและธุรกิจในเมียนมาที่เลวร้ายลง ประกอบกับสถานการณ์ด้านความปลอดภัยและสิทธิมนุษยชนที่แย่ลง บริษัทมองเห็นข้อจำกัดในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจในอนาคต จึงตัดสินใจด้อยค่าสินทรัพย์การลงทุนในทางบัญชี เต็มจำนวนที่ 6.5 พันล้านโครนในไตรมาสนี้”

คำประกาศของเทเลนอร์มีขึ้นในการแถลงผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2564 ซึ่งเมื่อรวมกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น การจ่ายภาษีที่สูงขึ้น ส่งผลให้ในไตรมาสนี้ กลุ่มบริษัทเทเลนอร์บันทึกขาดทุนสุทธิไว้ที่ 3,889 ล้านโครน สวนทางกับผลประกอบการไตรมาสแรกที่เคยทำได้เมื่อปี 2563 ที่กลุ่มบริษัทเทเลนอร์สามารถทำกำไรได้ 698 ล้านโครน

นอกจากนี้ เทเลนอร์ยังตัดเมียนมาออกจากรายงานคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของบริษัท โดยให้เหตุผลว่าไม่อาจคาดการณ์อนาคตที่ชัดเจนได้ และในไตรมาสล่าสุด เทเลนอร์ ระบุว่ามีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 5 ล้านราย คิดเป็นตัวเลขผู้ใช้งานทั้งหมดเมื่อสิ้นไตรมาสที่ 187 ล้านราย

ทั้งนี้ เป็นเวลา 3 เดือนแล้วที่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารขึ้น และประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยชุมนุมประท้วงต่อต้านการทำรัฐประหารในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการเคลื่อนไหวที่เรียกว่าอารยะขัดขืนด้วยการหยุดงานประท้วง

การที่กองทัพเมียนมาปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรงด้วยการใช้กำลัง ส่งผลให้การเดินขบวนประท้วงขนาดใหญ่ ซึ่งเคยมีผู้เข้าร่วมหลายล้านคนลดขนาดลงจนแทบจะหมดไป