‘ตาลปัตรกลับชีวิต’ นิทานธรรมนำชีวิต

‘ตาลปัตรกลับชีวิต’ นิทานธรรมนำชีวิต

“นิทานธรรม ตาลปัตรกลับชีวิต” ตอกย้ำความจริงของชีวิต เราไม่ได้เกิดมาเพื่อทุกข์ แต่จงมีความสุขทุกลมหายใจ

ตาลปัตร เป็นคำภาษาไทยที่นำมาจากภาษาบาลีว่า "ตาล + ปตฺต" แปลว่า ใบตาล ซึ่ง “ตาลปัตร” เป็นสิ่งที่คนทั่วไปใช้บังแดดและใช้พัดลมมาตั้งแต่โบราณ เป็นเครื่องใช้ที่จำเป็น อย่างหนึ่งในประเทศเมืองร้อน เป็นหนึ่งในสมณบริขารของพระสงฆ์ ปัจจุบัน ในแต่ละวัด จะมีตาลปัตรเหลือมากมาย โดยเฉพาะเมื่อมีพระบวชใหม่และสึก และไม่ได้นำมาทำประโยชน์ต่อ

พระอาจารย์ประสงค์ ปริปุณโณ จึงดำริที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเผยแผ่พุทธศาสนา จึงนำอีกด้านซึ่งไม่มีลายมาวาดภาพประกอบนิทานสอนธรรมะต่างๆ และนำมาใช้ในการเทศน์ บรรยายธรรม โครงการนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะท่านนำสิ่งใกล้ตัวมาเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดธรรมะได้อย่างน่าสนใจ

สำนักพิมพ์วิช ร่วมกับ สำนักพิมพ์บุ๊คสไมล์ เปิดตัวหนังสือ นิทานธรรมะ ตาลปัตรกลับชีวิต หนังสือที่รวบรวมนิทานธรรมะบทธรรมโดย พระประสงค์ ปริปุณฺโณ พระนักเทศน์ นักเขียน อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลากว่า 8 พรรษา และปฏิบัติศาสนกิจในสหรัฐอเมริการ่วม 14 พรรษา และรับนิมนต์ไปยังประเทศต่างๆ กว่า 20 ประเทศ เป็นพระธรรมทูตสายสหรัฐอเมริกาและยุโรป มีผลงานทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง ที่ให้ข้อคิด คติธรรมในการดำเนินชีวิต 162018944243

ผลงานที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง เช่น หักหอกเป็นดอกไม้ นอกจากนี้ยังมีผลงานหนังสือที่มีทั้งภาษาไทยและคำแปลภาษาอังกฤษ เป็นที่ชื่นชอบของคนทุกวัยและแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ เช่น น้อมสู่ใจ 1 น้อมสู่ใจ 2 อมตวลี ผลงานสำหรับเยาวชนที่โดดเด่น เช่น ฮัลโหล! รู้สึกตัวหรือเคยชิน ทำไมต้องทำไม รักนะ…เด็กโง่ มองวัตถุทะลุถึงธรรม นิทานธรรมะกลับตาลปัตร รวมถึง Mp3 ธรรมะฟังสบาย ก็เป็นที่นิยมอย่างสูง โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะบอกเล่าถึงเหตุแห่งการกระทำและผลที่ได้รับจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ตัวอย่างเนื้อหาบางส่วนในหนังสือ

ธรรมะ กลับตาลปัตร ขัดเกลาจิต              ให้ข้อคิด คติธรรม นำใจสูง

โดยเล่าขาน นิทานธรรม เพื่อชักจูง            ด้วยหมายมุ่ง มอบธรรมะ สะกิด

ถูกหรือผิด ชั่วหรือดี มีเป็นคู่                    หลงหรือรู้ รักหรือชัง ยังสงสัย

บาปหรือบุญ คุณหรือโทษ จะโกรธใคร        "ตาลปัตรใจ" มีสองด้าน อ่านให้เป็น

๑. บ่อน้ำ ลูกยอ กอไผ่

คนโบราณมีคำสอนในการเลี้ยงลูกอยู่ ๓ คำ คือ “บ่อน้ำ ลูกยอ กอไผ่”

บ่อน้ำ หมายถึง ความใจเย็น ลูกยอ หมายถึง รู้จักให้กำลังใจ ให้คำชม

กอไผ่ หมายถึง การใช้ไม้แข็ง ไม้แข็งปัจจุบันก็ไม่ได้หมายถึงไม้เรียว แต่หมายถึงการคาดโทษหรืออื่นๆ การทำโทษมีหลายระดับ ทำด้วยสายตา ทำด้วยคำพูด หรือด้วยการกระทำ

ครอบครัวหนึ่งมีลูกเรียนไม่เก่ง ผลการเรียนไม่เป็นที่น่าพอใจ แต่พ่อแม่ก็ไม่ได้ตำหนิติเตียน คอยให้คำแนะนำให้มีความพากเพียรพยายามและความอดทน นอกจากนี้ก็ยังสอนคุณธรรมให้ลูกเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิต เช่น ความมีน้ำใจ รู้จักแบ่งปันสิ่งของให้เพื่อนตามสมควร มีสัมมาคารวะ พูดจาไพเราะ อ่อนน้อมถ่อมตน และเน้นมากในเรื่องความซื่อสัตย์ ไม่ไปลักไปหยิบของของใครโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่พูดโกหกหลอกลวงใคร

เมื่อมีคนมาฟ้องว่า ลูกทำตัวไม่ดี พ่อแม่ก็ทำตัวเป็นเพื่อนที่พร้อมรับฟังปัญหา เรียกลูกมาพูดคุยด้วยเหตุด้วยผล เพื่อให้ปรับปรุงตัว แต่ถ้าลูกยังดื้อดึงก็มีการลงโทษ และถ้ามีคนชมว่า ลูกเป็นเด็กดี พ่อแม่ก็จะกล่าวชื่นชมกับลูก และรู้สึกภาคภูมิใจที่มีลูกเป็นคนดี ในที่สุด ลูกที่เรียนไม่เก่งก็สามารถเรียนจนจบได้รับปริญญา และเป็นที่รักของคนรอบข้างด้วย 

รักลูกให้ถูกทาง อย่าเลี้ยงลูกไว้รักคนเดียว ต้องเลี้ยงให้คนทั่วไปรัก ถ้าเราเลี้ยงไว้รักคนเดียว เวลาเราตาย เราจะตายตาไม่หลับ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ดื่มกาแฟ

162018944225

พระประสงค์ ปริปุณฺโณ เป็นผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการสอนธรรมะที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องยาก หรือน่าเบื่อ ให้กลายเป็นเรื่องเข้าใจง่ายและสนุก ผ่านสื่อในรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจ มีกุศโลบายในการชักจูงคนรุ่นใหม่ เยาวชน และผู้สูงอายุ ให้สนใจ ใฝ่ธรรม อย่างแยบคาย หลายโครงการที่ได้สร้างสรรค์จนเป็นที่กล่าวขานกันในวงกว้าง เช่น ตัวต่อสอนธรรม ลูกโป่งอารมณ์ โครงการธรรมะกลับตาลปัตร

พระประสงค์กล่าวว่า “เราเกิดมาเพื่อประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน การเกิดเป็นมนุษย์นั้นแสนยาก เป็นบุญอย่างยิ่ง ประโยชน์ตนคือ การหมั่นพัฒนาฝึกฝนตน ฝึกฝนจิตให้เจริญยิ่งขึ้น และประโยชน์ท่านคือ การช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อโอกาสอำนวย โดยทำงานอย่างตัวตนเล็ก ทำเต็มที่ สร้างเหตุที่ดีแล้ว ผลจะเป็นอย่างไรก็วาง มีความสุขกับงานที่ทำในปัจจุบันทุกขณะจิต ท่านย้ำเสมอว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ฝากศาสนาไว้แต่เฉพาะกับพระเท่านั้น หากท่านฝากไว้กับพุทธบริษัททั้งสี่ด้วย อุบาสก อุบาสิกา ต้องช่วยกันเพื่อสืบต่อพุทธศาสนาให้เป็นหลักแก่คนรุ่นต่อๆ ไป”