2 เดือน"วัคซีนโควิด-19"ในไทย ฉีดกว่า1.3ล้านโดสแพ้รุนแรง7ราย

2 เดือน"วัคซีนโควิด-19"ในไทย ฉีดกว่า1.3ล้านโดสแพ้รุนแรง7ราย

"วัคซีนโอกาสเกิดลิ่มเลือดและตาย 1 ในล้าน แต่โควิด19 โอกาสเสียชีวิต 2 ใน 100"รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์

2 เดือนเต็มนับตั้งแต่ไทยเริ่มฉีดวัคซีนโควิด 19 เมื่อ 28 ก.พ.2564 มีการรายงานผลข้างเคียงที่ไม่ได้มีการตรวจสอบและยืนยันผล เสนอผ่านโซเชียลมีเดียจำนวนไม่น้อย ทำให้คนจำนวนมากเข้าใจผิดและหวาดหวั่นกับการเข้ารับวัคซีน ขณะที่ตามรายงานที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญนั้น มีการแพ้วัคซีนรุนแรงจากการฉีดกว่า 1.3 ล้านโดส จำนวน 7 ราย

เมื่อวัคซีนโควิด19เป็นของใหม่ย่อมสร้างความไม่มั่นใจและกังวัลให้กับคนไทย จึงมีการรายงานตรงนั้นตรงนี้เกิดผลข้างเคียงขึ้น ไม่ต่างจากช่วงแรกที่โรคโควิด19 ระบาด ก็มีการรายงานตรงนั้นตรงนี้มีนนติดเชื้อ แต่เมื่อมีกาตรวจสอบยืนยันกลับพบว่า "ไม่ใช่" กรณีวัคซีนก็เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจะมีการฉีด"บิ๊กล็อต"ราว 10 ล้านโดสต่อเดือน ตั้งแต่มิ.ย.เป็นต้นไป อาจมีการนำเสนอผลข้างเคียงที่ยังไม่ผ่านการยืนยันเกิดขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ ในการฉีดวัคซีนโควิด19 มีระบบเฝ้าระวังติดตามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังการฉีดโดยผู้รับการฉีดผ้านไลน์หมอพร้อมและการติดตามของเจ้าหน้าที่ ใน 30 นาทีแรก ณ จุดที่ฉีด รวมถึง ในวันที่1,7และ30หลังการฉีด หากพบ"เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์รุนแรง"จะได้ให้การดูแลรักษาทันที และทุกกรณีจะต้องเข้าสู่การสอบสวนและวินิจฉัยจากคณะผู้เชี่ยวชาญ โดยหากมีอาการเกี่ยวกับระบบใดของร่างกาย ก็จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นเข้าร่วมพิจารณา เช่น ระบบประสาทก็จะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบประสาท เป็นต้น
ก่อนที่จะสรุปว่า "เหตุการณ์นั้น ไม่เกี่ยว น่าจะเกี่ยว หรือเกี่ยวกับวัคซีนหรือไม่"

การให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ระยะที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นวัคซีนซิโนแวค ตั้งแต่ 28ก.พ.-28เม.ย.2564 สะสม 1,344,646 โดส แยกเป็นเข็ม 1 จำนวน 1,059,721 รายและครบ 2 เข็ม 284,925 ราย เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 51.69% ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 30.09% เจ้าหน้าที่อื่น 12.47% ผู้มีโรคประจำตัว 3.84% และผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป 1.92%

จาการฉีดไปกว่า 1.3 ล้านโดส พบอาการไม่พึงประสงค์ที่ได้รับการยืนยันจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ รวม 13 ราย แยกเป็น แพ้รุนแรง 7 รายเรียกว่าเกิดขึ้น 7 ต่อล้านโดส หรือคิดเป็น 0.0005% โดยมีอาการของระบบผิวหนังและเยื่อบุ เช่นผื่นแดง ปากบวม หน้าบวมและอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ทุกรายอาการหายเป็นปกติ และ 6 ราย มีอาการทางระบบประสาท คล้ายโรคหลอดเลือดสมอง เกิดขึ้นชั่วคราว ผลสแกนสมองไม่พบผิดปกติ หลังรักษาอาการเป็นปกติดี และไม่พบผู้เสียชีวิตที่มีสาเหตุมาจากวัคซีน

ศ.นพ. วิปร วิประกษิต อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีน (AEFI) แบ่งได้ 2 ชนิด คือ 1.อาการไม่พึงประสงค์ อาจเกิดจากตัววัคซีน หรือส่วนประกอบ หรือปฏิกิริยาร่างกายแต่ละบุคคลที่ต่างกัน เป็นอาการเฉพาะที่ เช่น เจ็บ บวม บริเวณที่ฉีดใช้การประคบเย็น หรือบริหารแขน หรือเป็นทั้งระบบ เช่น มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ แก้ไขโดยทานยาลดไข้ ทายาแก้ปวด พักผ่อน และ 2.อาการแพ้วัคซีน จะเหมือนคนแพ้อาหารทะเล ไรฝุ่น โปรตีนในนมวัวมีอาการตั้งแต่แพ้ไม่มาก มีผื่น จนถึงความดันตกรุนแรงได้

          ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า ปฏิกิริยาเครียดสนองตอบต่อการฉีดวัคซีน (Immunization  Stress Related Response : ISRR) เกิดจากการตอบสนองต่อความเครียดของแต่ละคนที่แตกต่างกัน  เมื่อเกิดความตึงเครียดจะกระตุ้นระบบภายในร่างกาย หลั่งฮอร์โมนออกมา กระตุ้นระบบประสาท ทำให้หลอดเลือดหดตัว เกิดอาการหน้ามืด เป็นลม วิงเวียน ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว


ปัจจุบันจึงมีข้อแนะนำ เมื่อพบผู้ที่มีอาการทางระบบประสาทหลังการฉีดวัคซีน เช่น ชา อ่อนแรง ตามัว วิงเวียน อาเจียน แพทย์ต้องตรวจ ประเมินอาการว่า เกิดจาก ISRR หรือเกิดจากปัญหาอื่น ๆ เช่น มีลิ่มเลือดในสมอง หรือมีเลือดออกเนื่องจากเกร็ดเลือดต่ำหรือไม่


        " การรับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ อาจทำให้บางส่วนมีความวิตกกังวลว่าจะปฏิกิริยาแทรกซ้อนจากการฉีดวัคซีน ซึ่งปฏิกิริยาเหล่านี้เกิดขึ้นได้ มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์บอกไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นกับใคร แต่รักษาได้ ทุกรายที่มีอาการก็ฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติดี จึงขอแนะนำให้ไปรับการฉีด เพราะโอกาสเสี่ยงที่ติดเชื้อและมีอาการรุนแรงมีมากกว่าที่จะเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน แต่หากเกิดขึ้นก็รักษาได้ ขอให้มั่นใจและไปรับการฉีดวัคซีน"  ศ.นพ.วิปร กล่าว

162018252533

ขณะที่ รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และนายกสมาคมโรคติดเชื้อเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะกุมารแพทย์กว่า 40 ปีและทำงานเกี่ยวกับวัคซีนมาตลอดชีวิต ยืนยันว่าการฉีดวัคซีนเป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้กับเชื้อโรค ในอดีตจะต้องใช้เวลาวิจัย 5-10 ปีก่อนนำมาใช้ แต่ในการระบาดโควิด19 ใช้เวลาเพียง 10 เดือน วัคซีนทุกตัวจึงยังเป็นการอนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินที่จะต้องเฝ้าระวังมากกว่าปกติ

"ทั่วโลกขณะนี้ มีวัคซีนที่ทดสอบในคนระยะที่ 3 สำเร็จ ประมาณ 13 - 15 ตัว ทุกตัวมีผลในการป้องกันการเสียชีวิต ป้องกันอาการรุนแรงของโลก ลดการนอนไอซียูและการใส่ท่อช่วยหายใจได้เกือบ 100% จึงเป็นหัวใจว่า วัคซีนต้องการต่อสู้กับความรุนแรงของโรค เพราะผู้ป่วยในไอซียู 1 รายจะต้องใช้ทรัพยากรทั้ง บุคคล ยา เวชภัณฑ์มหาศาล ฉะนั้น เมื่อมีจำนวนผู้ป่วยมาก การแพทย์กังวลที่สุดคือผู้ป่วยไอซียู"รศ.(พิเศษ)นพ.ทวีกล่าว

ประเด็นเรื่องความปลอดภัยของวัคซีน รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าวว่า วัคซีนทุกตัวที่ออกมาใช้ในภาวะฉุกเฉินตอนนี้ มีผลข้างเคียงทั้งนั้น แต่มากน้อยกำลังเก็บข้อมูล ซึ่งประเทศที่ฉีดมากก็เจอมาก ฉีดน้อยก็เจอน้อย และหลายอย่างคล้ายๆกัน เช่น เกี่ยวกับลิ่มเลือด ส่วนอาการปวด บวม แดงร้อนเป็นเรื่องปกติ

ยกตัวอย่าง วัคซีนซิโนแวค ประมาณ 20-30% ผลข้างเคียงไม่รุนแรง เช่น อาการปวด บวม แดงร้อนบริเวณที่ฉีด ปวดเมื่อยร่างกาย จะหายไปภายใน 2 วัน


วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ประมาณ 40-50% มีผลข้างเคียงที่คล้ายกัน เช่น ปวดศีรษะ ปวดร่างกาย แดงร้อน หายภายใน 48 ชั่วโมง ส่วนกรณีลิ่มเลือดอุดตันที่พบในต่างประเทศ เกิดขึ้นได้ 4 ใน 1 ล้านโดส โดยจะเสียชีวิตประมาณ 1 คนใน 1 ล้าน ส่วนใหญ่พบในชาวยุโรป แอฟริกา ผู้ป่วยเบาหวาน โรคหัวใจ สูบบุหรี่จัด จะเกิดลิ่มเลือดได้ง่าย ในกลุ่มคนทวีปเอเชียพบน้อย ในประเทศไทยเจอน้อยกว่าฝรั่ง 5 เท่า


แต่การศึกษาพบว่า หากเป็นผู้ติดเชื้อโควิด 19 มีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ได้ 125,000 ต่อ 1 ล้านคนที่ป่วย และในคนสูบบุหรี่จัด พบ 1,700 ต่อ 1 ล้านคนที่สูบบุหรี่จัด สูงกว่าการเกิดจากวัคซีนเป็น 100 เท่า ขณะที่โอกาสเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 อยู่ที่ 2 ใน 100 ราย

วัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทค ล่าสุดที่ประเทศอิสราเอลเจอกลุ่มก้อนของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบซึ่งกำลังตรวจสอบอยู่ว่ามันเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ ซึ่งยังไม่มีการสรุปว่าเกี่ยวหรือไม่ แต่เมื่อมีการเฝ้าติดตามเมื่อไหร่เกิดเรื่องขึ้นก็จะต้องพยายามติดตามต่อไปแล้วก็พิสูจน์ให้ได้ว่าเกี่ยวหรือไม่เกี่ยว


หรือกรณีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีการฉีดประจำทุกปีและมีการใช้มาแล้วกว่า 80 ปีพัฒนาไปมากแล้ว ผลข้างเคียงก็จะน้อยกว่าวัคซีนโควิด19ที่เพิ่งพัฒนาขึ้น แต่ก็มีการเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่เรียกว่าปลายประสาทอักเสบเฉียบพลัน(Guillain-Barre syndrome)เช่นกัน โดยปลายประสาทอักเสบแล้วก็ทำให้แขนขาอ่อนแรง 2 ข้างเท่าๆกัน
ซึ่งโอกาสเกิดได้ 1 ใน 1 ล้านโดส แต่ไม่ใช่เป็นแล้วจะเสียชีวิตทุกราย อาจจะเสียชีวิต 2 ใน 10 ล้านโดส ขณะที่หากคนเป็นไข้หวัดใหญ่ อัตราเสียชีวิต1 ต่อ 1,000 หรือ 1 ต่อ 10,000

"วัคซีนทุกตัวที่นำมาใช้ ทางการแพทย์ต้องชั่งน้ำหนักออกมาแล้วว่า ระหว่างประโยชน์กับความเสี่ยงมันแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน อะไรได้ประโยชน์กว่า และกว่าที่จะนำมาใช้ก็มีการพิจารณาในบริบทของประเทศไทยแล้ว"รศ.(พิเศษ)นพ.ทวีกล่าว