จาก 'ทองหล่อ' ถึง 'คลองเตย' เปิดแผน '41 ชุมชน' ก่อนลามทั้ง กทม.

จาก 'ทองหล่อ' ถึง 'คลองเตย'  เปิดแผน '41 ชุมชน' ก่อนลามทั้ง กทม.

ผู้ติดเชื้อรายแรกที่พบในแหล่งชุมชนแออัด ในเขตคลองเตย เป็นพนักงานสถานบันเทิงย่านทองหล่อ หรือ “คลัสเตอร์ทองหล่อ” ที่พบผู้ติดเชื้อก่อนหน้านี้

"คลัสเตอร์คลองเตย" ซึ่งเป็นชุมชนใหญ่ใน กทม.ถึง “41 ชุมชน” กำลังเป็นแหล่งที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก จนภาครัฐต้องระดมแก้ปัญหา เพื่อสกัดการลุกลามกระจายวงกว้างให้ได้โดยเร็ว เพราะ กทม.ที่เป็นเมืองหลวงมีประชากรจำนวนมาก ทั้งในระบบและประชากรแฝง

ข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานตัวเลขการตรวจเชิงรุกเมื่อวันที่ 30 เม.ย. ทำให้พบว่าสถานการณ์ในเขตคลองเตยเริ่มน่าเป็นห่วง เพราะมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากการระบาดระลอก เม.ย. ถึง 304 ราย แยกเป็นผู้อาศัยอยู่ในแหล่งชุมชนแออัด 193 ราย อาศัยอยู่แหล่งอื่นๆ เช่น คอนโดฯ หอพัก 111 ราย

โดยข้อมูลดังกล่าวพบว่า 3 ชุมชนจาก 41 ชุมชนในคลองเตย ซึ่งมีลักษณะที่อยู่อาศัยติดกัน พบว่ามีการติดเชื้อหนาแน่นมาก คือ ชุมชนพัฒนาใหม่ ชุมชน 70 ไร่ และชุมชนริมคลองวัดสะพาน จากการตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ 3 ชุมชนนี้ ในวันที่ 27 เม.ย. และ 30 เม.ย. พบว่า ชุมชน 70 ไร่ ตรวจ 436 ราย พบติดเชื้อ 21 ราย ชุมชนริมคลองวัดสะพาน ตรวจ 489 ราย พบติดเชื้อ 29 ราย และชุมชนพัฒนาใหม่ ตรวจ 411 ราย พบเชื้อ 49 ราย

   

  • จาก “ทองหล่อ” ลาม “คลองเตย” 

เมื่อตรวจสอบข้อมูลคลัสเตอร์คลองเตย ศบค.พบว่า ผู้ติดเชื้อรายแรกที่พบในแหล่งชุมชนแออัด ในเขตคลองเตย เป็นพนักงานสถานบันเทิงย่านทองหล่อ หรือ “คลัสเตอร์ทองหล่อ” ที่พบผู้ติดเชื้อก่อนหน้านี้ โดย ศบค.ระบุไทม์ไลน์ การแพร่กระจายเชื้อในคลองเตยรายแรกจนกระจายวงกว้างว่า บุคคลรายนี้ ก่อนจะทราบว่าติดเชื้อมีการสังสรรค์กับเพื่อน และแพร่เชื้อให้คนในครอบครัว จนกระจายสู่ชุมชน โดยเมื่อมีการสอบไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อ ก็ได้ประวัติว่าคนกลุ่มนี้พักที่ไหน ทำงานที่ไหน จึงเร่งติดตามสอบสวนไปยังกลุ่มชุมชนเป้าหมาย

ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก เมื่อวันที่ 3 พ.ค.จึงได้มีการหารือกันถึงสถานการณ์ในเขตคลองเตย ซึ่งมีผู้ติดโควิด-19 จากการระบาดระลอก เม.ย.มากกว่า 300 ราย หลังจากได้รับข้อมูลการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่คลองเตยในพื้นที่ ชุมชน 70 ไร่ เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ตรวจเชื้อทั้งสิ้น 436 ราย พบเชื้อ 21 ราย, ชุมชนริมคลองวัดสะพานตรวจเชื้อทั้งสิ้น 489 ราย พบเชื้อ 29 ราย และการค้นหาเชิงรุกใน ชุมชนพัฒนาใหม่ เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ตรวจเชื้อทั้งสิ้น 411 ราย พบเชื้อ 49 ราย

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นห่วง ชุมชนเคหะบ่อนไก่ และ ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ ที่ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อถึง 59 ราย 

   

  • ปรับแผนสกัดคลัสเตอร์คลองเตย 

ข้อมูลสุ่มเสี่ยงแพร่กระจายไม่หยุด ทำให้ ศบค.ต้องปรับแผนป้องกันและแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยล่าสุด ในการประชุมศบค.นัดพิเศษ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ซึ่งมีหน่วยงานต่างๆเกี่ยวข้องกับกรุงเทพฯ และปริมณฑล มาหารือร่วมกัน มีมติสรุปร่วมกันว่าให้จัดตั้ง ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพฯและปริมณฑล โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการศูนย์

มีการแบ่งโครงสร้างศูนย์ใน กทม.เป็นระดับเขตที่มี 50 เขต มีศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด- 19 ระดับเขต มีผู้อำนวยการเขตเป็น ผอ.ศูนย์ควบคุมฯ แบ่งปฏิบัติการเป็นฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายค้นหาเชิงรุก ฝ่ายดูแลผู้ติดเชื้อและผู้ป่วย และการให้วัคซีนเป็นต้น

ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าประชากรในกทม.รวมประชากรแฝง จะมีประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งการทำงานระดับเขตทั้ง 50 เขตจะลงไปพร้อมๆ กัน โดยจะเร่งค้นหาเชิงรุกโดยเร็ว และมีแผนต่างๆออกมารองรับโดยเร็ว

สำหรับในพื้นที่คลองเตย ได้มีการจัดตั้งจุดพักคอยที่ชุมชนริมคลองวัดสะพาน โดยเมื่อพบเชื้อให้อยู่รอในจุดดังกล่าวก่อนนำตัวไปส่งต่อที่โรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนามเพื่อจะได้ไม่ต้องกลับไปบ้านที่อาจจะแพร่เชื้อได้อีก โดยกทม.ได้เร่งปูพรมตรวจเชิงรุกในชุมชนคลองเตยให้ได้วันละ 4,000 ราย รวมถึงล่าสุดได้มีการประสานกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอวัคซีนเพิ่ม เพื่อเร่งฉีดให้ประชาชนในชุมชนอย่างรวดเร็วและมากที่สุด

ขณะเดียวกันสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ได้นำเสนอที่ประชุม ศบค.เล็ก ถึงการรายงานผู้ติดเชื้อค้นหาเชิงรุกในชุมชนคลองเตย โดยเป้าหมายจะมุ่งเป้าไปที่ 39 ชุมชน ทั้งชุมชนเมือง ชุมชนแออัด และชุมชนที่อยู่ในส่วนของการเคหะฯ ซึ่งในจำนวนผู้ติดเชื้อ 193 ราย อยู่ในพื้นที่ค่อนข้างหนาแน่นในพื้นที่ชุมชนแออัด ทำให้ต้องเฝ้าระวังการแพร่เชื้อในชุมชนเพิ่ม โดย กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำผู้ติดเชื้อทั้งหมดเข้าสู่ระบบการรักษาแล้ว 100%

  

  •  คัดแยกกลุ่มอาการ-แยกกัก-ส่งรพ. 

ขณะที่การบริหารจัดการผู้ติดเชื้อ จนถึงระดับป่วย ได้มีการคัดแยกตามระดับอาการรุนแรง เขียวเหลืองแดง โดยได้จัดตั้งศูนย์รับเรื่อง คือ “จุดพักคอยวัดสะพาน” เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่จะไปติดเชื้อคนในครอบครัว โดยกลุ่มอาการสีเหลือง สีแดง ศูนย์เอราวัณจะจัดหาเตียงให้เร็วที่สุด ส่วนกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง จำเป็นต้องกักตัวที่บ้านก่อน จะมีนักสังคมสงเคราะห์ ผู้นำชุมชน องค์กรภาครัฐและเอกชนที่ช่วยกันลงพื้นที่ จัดเตรียมอาหาร รวมทั้งสาธารณูปโภคที่จำเป็น เพื่อให้กักตัวเองในบ้าน ลดการสัมผัสผู้อื่น ลดการเดินทาง ดำเนินชีวิตขณะแยกกักอย่างปลอดภัย ก่อนจะได้รับการจัดสรรไปอยู่ในสถานที่ดูแลที่เหมาะสม ขณะเดียวกันกรมควบคุมโรคได้เร่งจัดสรรวัคซีน เพื่อระดมฉีดในกลุ่มเป้าหมายที่มีการติดเชื้อสูง

ทั้งนี้ ศบค.และกทม. กำชับให้ประชาชนและชุมชนใกล้เคียงติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดในช่วงนี้ เพราะจะมีการประกาศ ลงตรวจปูพรมอย่างไรที่ไหน หากอยู่ในพื้นที่ขอให้ไปตรวจ หากเป็นผู้ประกอบการ หรือเจ้าของอพาร์ตเมนต์ อยู่ในตลาดหรือชุมชน ขอให้สอบถามคัดกรองบุคคล หรือลูกจ้างที่อยู่ในความดูแล

   

  • ผู้ว่าฯกทม.ขอ 2 สัปดาห์ คุม ‘คลองเตย’ 

ล่าสุด 4 พ.ค. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ ลงพื้นที่เขตคลองเตยเพื่อตรวจเยี่ยมการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กับประชาชนในชุมชนแออัดเขตคลองเตย ซึ่งเป็นวันแรกของการให้บริการจัดรถพระราชทานเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กับประชาชน โดยผู้ว่าฯกทม.ระบุว่าขอเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พื้นที่คลองเตย

ทั้งนี้จากข้อมูลทะเบียน พบว่าในพื้นที่ชุมชนคลองเตยมีประชาชนอาศัยประมาณ 80,000 คน ลักษณะทั่วไปของชุมชนเป็นชุมชนแออัด มีประชากรอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่น ที่พักอาศัยมีทั้งที่เป็นอาคารที่พักหลายชั้น และเป็นบ้านเรือนที่ติด ๆ กัน มีการใช้พื้นที่บางส่วนร่วมกัน การระบายอากาศไม่ดี ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายและรวดเร็ว

   

  •  เร่งปูพรม ฉีดวัคซีนให้ 70% ทั่วกรุง 

สำหรับพื้นที่การฉีดวัคซีนของเขตคลองเตย จัดไว้ 2 จุด จุดละ 500 คน ในวันแรก(4พ.ค.) และตั้งแต่ 5 พ.ค.จะขยายการฉีดวัคซีนให้ได้จุดละ 1,500 คน เช่นเดียวกับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จะเพิ่มจุดตรวจเป็น 4 จุด จากเดิมที่มี 2 จุด เพื่อให้การคัดกรองผู้ป่วยทำได้มากถึงวันละ 4,000 คน โดยกทม. เตรียมปูพรมฉีดวัคซีนให้ประชาชนในพื้นที่ให้ได้ 70% หรือ 50,000 คน

   

  • "GISTDA" สแกนชุมชนแออัด-เฝ้าระวัง 

ทางด้านสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสดา (GISTDA)ได้นำเสนอข้อมูลต่อ ศบค.เล็ก เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการเฝ้าระวัง โดยระบุข้อมูลของการเคหะแห่งชาติ พบว่า ชุมชนแออัดทั่วกทม. มีประมาณ 680 จุด ตอนนี้มีการนำรายงานผู้ติดเชื้อมาแยกเป็นเขต พบว่าผู้ติดเชื้อระดับสีแดง มีรายงานผู้ติดเชื้อ 301 ราย มีอยู่ 6 เขตด้วยกัน ซึ่งจิสด้าได้ปักหมุดตำแหน่งชุมชน โดยเฉพาะตลาดจะมี 746 จุดด้วยกัน

ทำให้ ศบค.ได้ปักหมุดในพื้นที่ตลาด ซึ่งมีทั้งตลาดถาวร รวมถึงตลาดนัด รวมถึงมีการวางแผนว่าถ้าลงพื้นที่ชุมชนที่มีประชาชนอยู่อย่างหนาแน่น มีตลาด มีที่รวมกลุ่มที่ประชาชนจะไปจับจ่ายใช้สอย จะต้องมีมาตรการในการลงพื้นที่เฝ้าระวังและกำหนดมาตรการเชิงรุกอย่างไร รวมถึงการเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาล การรักษา นอกจากนี้ จิสด้าได้ปักหมุด เสนอโรงพยาบาลสนามให้มีการเตรียมการด้วย

  

  • เตรียมรพ.สนาม รองรับเฉพาะคลองเตย 

ขณะที่ความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ กระทรวงกลาโหมได้ประสานขอใช้พื้นที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)หน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคม ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่คลองเตย ซึ่งล่าสุด การท่าเรือได้สนับสนุนอาคารโกดังสเตเดียม เนื้อที่ 15 ไร่ มีพื้นที่ภายในอาคาร 4,200 ตารางเมตร เพื่อใช้รับผู้ป่วยโควิด-19​ จากพื้นที่คลองเตยเป็นหลัก โดยกำลังพลจากเหล่าทัพจะเร่งเข้าดำเนินการปรับปรุงสถานที่ และจัดหาอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก การวางระบบให้สามารถรองรับเตียงผู้ป่วย 160 เตียง โดยมีโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นแม่ข่ายในการดูแลทั้งบุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์