'อสังหาริมทรัพย์' ในยุคนิวนอร์มอล

'อสังหาริมทรัพย์' ในยุคนิวนอร์มอล

จับตาอนาคตของธุรกิจ "อสังหาริมทรัพย์" หลังจากต้องเผชิญวิกฤติโควิด-19 กับการเปลี่ยนแปลงสู่เสาหลัก 4 ด้าน ทั้งอยู่ได้ ยั่งยืน ยืดหยุ่น และอยู่ไหว แต่จะต้องอาศัยปัจจัยอะไรบ้างที่จะพาให้ธุรกิจอสังหาฯ ไปถึงจุดนั้นได้?

ในสัปดาห์ที่แล้ว World Economic Forum ได้ออกรายงานเกี่ยวกับรูปแบบในอนาคตของการดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยความร่วมมือกับบริษัทที่ปรึกษา Boston Consulting Group หรือบีซีจี ชื่อ “A Framework for the Future of Real Estate” ซึ่งมีความยาว 62 หน้า ดิฉันขอสรุปคร่าวๆเผื่ออาจจะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านดังนี้

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก มีมูลค่าถึงธุรกรรมถึง 10% ของจีดีพี จึงเป็นภาคธุรกิจที่มีความสำคัญ

หลังจากที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ถึงจุดสูงสุดในปี 2019 ด้วยการมีธุรกิจที่มีมูลค่าขนาด 5 ล้านเหรียญขึ้นไปถึง 546 รายการ ก็พบกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้การทำธุรกรรมในปีที่แล้วลดลงมา (และคาดว่าจะลดต่อเนื่องถึงปีนี้ด้วย-ผู้เขียน) ผู้วิจัยคาดว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะต้องมีการปรับแบบเปลี่ยนรูป (transform)

โดยได้ให้ข้อเสนอแนะในการปรับเปลี่ยนไว้รวมๆ คือ อนาคตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จะเสาหลัก 4 ด้าน ซึ่งดิฉันขอเรียบเรียงให้จำได้ง่ายๆ คือ อยู่ได้ ยั่งยืน ยืดหยุ่น อยู่ไหว

1.อยู่ได้ (Liveability) คืออยู่อาศัยได้อย่างถูกสุขลักษณะ มีคุณภาพสูง คำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง เช่น ออกแบบสำหรับคนทุกวัยและทุกสภาพทางกายภาพ มีพื้นที่ที่จะส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีและสร้างผลิตภาพ (productivity)ได้ดี

2.ยั่งยืน (Sustainability)  ทำให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ลดการปล่อยคาร์บอน ลดการใช้พลังงาน ใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ต่อเศรษฐกิจและสังคม

3.ยืดหยุ่น (Resilience) ปรับเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอยได้ตามสภาวะ

4.อยู่ไหว (Affordability) เป็นของคุณภาพดีได้มาตรฐาน อยู่ในทำเลที่เหมาะสมที่จะเข้าถึงบริการต่างๆ ที่มีราคาที่ผู้อาศัยพอซื้อหาหรือเช่าได้ สามารถหาเงินมาดาวน์ และหาแหล่งเงินกู้มาซื้อได้ และค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง เช่น ค่าบำรุงรักษา หรือค่าใช้จ่ายส่วนกลางสมเหตุสมผล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

โดย บีซีจี วิเคราะห์ว่า 5 ปัจจัยที่จะทำให้เกิดเสาหลักทั้งสี่ข้างต้นคือ

1.การใช้เทคโนโลยีและข้อมูลอย่างสร้างสรรค์  ออกแบบอาคารที่สามารถปรับปรุง พื้นที่ เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้งาน มีการเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอก หรือการเชื่อมต่อกับอาคารอื่น ใช้เทคโนโลยีในการออกแบบเพื่อลดต้นทุนก่อสร้าง สามารถใช้งานได้ดี สามารถเพิ่มผลิตภาพในการทำงาน ทำให้สุขภาพดี ทำให้คนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและร่วมแรงร่วมใจกันทำได้ มีระบบสื่อสารในอาคารและระบบป้องกันข้อมูลที่ดี

2.การมีกฎเกณฑ์และนโยบายสาธารณะ รวมถึงนโยบายการคลังที่เอื้อต่อธุรกิจนี้

3.การพัฒนาฝีมือแรงงาน พัฒนาความรู้ด้วยการดึงดูดคนเก่งและผู้นำทางความคิดเข้ามาอยู่ในธุรกิจ

4.ความสามารถในการระดมทุนมาใช้ในสินทรัพย์ด้วยความโปร่งใสและสร้างสรรค์ ต้นทุนของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะลดลง หากตลาดอสังหาริมทรัพย์มีข้อมูลที่โปร่งใสมากขึ้น

5.การร่วมกันสื่อสารแบ่งปันแนวทางที่ดีและความร่วมมือของผู้มีส่วนได้เสีย เช่น การร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคธุรกิจเกี่ยวกับการวิจัยความต้องการและรสนิยมของผู้บริโภค และความต้องการของชุมชน เป็นต้น

รายงานนี้ได้สรุปคำแนะนำกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 6 กลุ่ม และมีตัวอย่างประกอบ ดังนี้

1. เมือง (City and Urban Development) หลังโควิด-19 คนในเมืองมีความต้องการที่เปลี่ยนไป โดยแนะนำว่า เมืองควรจะมีความสะดวก และมีชุมชนต่างๆเพื่อช่วยสนับสนุนให้เกิดความสบาย เมืองควรเป็นเมืองสีเขียวและยั่งยืน มีการเตรียมพร้อมสำหรับการมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันอีกในอนาคต และเมืองต้องมีบริการและโครงสร้างพื้นฐานที่ประชากรสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน

ทั้งนี้แนะนำให้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ สำหรับเรื่อง สุขภาพ ภาษี และอื่นๆ ให้เชื่อมต่อกันได้อย่างราบรื่น

2. ที่ทำงาน (Office) การทำงานในอนาคต 2-3 ปีข้างหน้า จะเป็นแบบผสมผสาน ซึ่งมีแนะนำไว้หลายแบบ เช่นใช้สำนักงานใหญ่เป็นแม่ข่าย หรือใช้ออฟฟิศที่ออกแบบให้เข้ากับกิจกรรมหรืองานที่ทำ เช่น โซนเงียบใช้สมอง โซนหารือระดมความคิด โซนร้านกาแฟให้เกิดการผ่อนคลายระหว่างทำงาน หรือโซนโฮมออฟฟิศ

3. โรงงานและโลจิสติกส์ (Industrial and Logistics) ในช่วงที่ผ่านมา ความต้องการพื้นที่โลจิสติกส์เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งในอนาคตจะต้องจัดให้มีการ ปรับเป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ สำหรับโรงงานนั้น น่าจะมีการเน้นหาวัตถุดิบและส่วนประกอบจากในประเทศและในภูมิภาคมากขึ้น ลดการพึ่งพาส่วนประกอบที่ต้องผลิตจากแดนไกล

4. ค้าปลีก (Retail) ต้องปรับตัวอย่างมาก รูปแบบใหม่ของร้านต้องผสมผสานระหว่างช่องทางกายภาพกับช่องทางดิจิทัล โดยการออกแบบช่องทางกายภาพต้องยืดหยุ่นและปรับให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้ในร้าน ส่วนช่องทางดิจิทัลควรปรับให้เป็นการดูแลแบบเฉพาะบุคคล สัมพันธภาพระหว่างเจ้าของกับผู้เช่าพื้นที่ต้องเป็นแบบร่วมแรงร่วมใจ และเครือข่ายค้าปลีกต้องประสานและใช้ข้อมูลในภูมิภาคให้เป็นประโยชน์ซึ่งกันและกัน

5. ที่อยู่อาศัย (Housing) สำหรับที่อยู่อาศัยนั้นสิ่งสำคัญสิ่งแรกคือ มีราคาที่พอจะหาซื้อหรือเช่าได้ หรือที่ดิฉันย่อว่า “อยู่ไหว” ถัดมาก็เป็นเรื่องของการดูแลออกแบบให้เป็นมิตรกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ถ้าให้ดิฉันออกความเห็น ดิฉันคิดว่าระบบท่อระบายน้ำของเรายังไม่ดี ทั้งอาคารสาธารณะและหลายตึกของราชการที่ไปเยือน มีกลิ่นน้ำเสียอบอวลในห้องน้ำ และบางทีออกไปในโถงทางเดินด้วยซ้ำ ไม่ต้องพูดถึงที่อยู่อาศัยราคาต่ำเลยค่ะ

ในรายงานนี้จะเน้นเป็นพิเศษเรื่องของค่าใช้จ่ายหลังการครอบครอง ว่าจะต้องอยู่ในระดับที่ไม่สูงแต่คุณภาพต้องได้มาตรฐาน ทั้งนี้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

ดิฉันเห็นปัญหาเรื่องการบริหารจัดการนิติบุคคลเป็นประเด็นเยอะมาก ทั้งช่วงก่อนหน้านี้ และในช่วงโควิดระบาดนี้ หากมีหน่วยงานใดสามารถทำมาตรฐานของการจัดการนิติบุคคลและให้รางวัลคุณภาพการจัดการได้ น่าจะมีประโยชน์ เพราะอย่างไรก็ต้องมีการจัดการ และการจัดการจะยากขึ้นเรื่อยๆค่ะ

6. โรงแรมและที่พัก (Hospitality and Lodging) ควรเน้นสามประเด็นใหญ่คือ ความยั่งยืน ลดการปล่อยของเสีย อยู่ได้ เน้นบริการเฉพาะตัว ในการสร้างประสบการณ์ให้ผู้เข้าพัก และยืดหยุ่น โดยปรับสินทรัพย์ที่เลิกกิจการหรือที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ไปให้ใช้ประโยชน์อื่นๆ 

ดิฉันเห็นว่ารายงานฉบับนี้เป็นประโยชน์ ผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง คือ ผู้ออกแบบ ผู้ก่อสร้าง และที่สำคัญคือ หน่วยงานราชการและผู้กำหนดนโยบายสาธารณะ ควรอ่านอย่างยิ่งค่ะ จะได้เกิดแนวคิดในการปรับตัว เพื่อดำเนินธุรกิจให้ยั่งยืนต่อไป