ห้วงวิกฤติโควิด-19 หัวเลี้ยวหัวต่อ “มาม่า” ภารกิจพิชิตเป้า 3 หมื่นล้าน! ทยานสู่ 50 ปี

ห้วงวิกฤติโควิด-19 หัวเลี้ยวหัวต่อ “มาม่า” ภารกิจพิชิตเป้า 3 หมื่นล้าน! ทยานสู่ 50 ปี

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หนึ่งในสินค้าจำเป็นที่ผู้บริโภค "ซื้อตุน" ตอนโควิดรอบแรก การระบาดใหมม่ อำนาจซื้อหาย ประชาชนไม่ใช้จ่าย ทิ้งเงินให้จมกับสินค้าที่ยังไม่บริโภค กระทบตลาดบะหมี่ฯหดตัว 7% แบบคัพดิ่งหนัก 27% TFMAMA ไม่ทิ้งเป้า 3 หมื่นล้าน ฉลอง 50 ปี

โรคโควิด-19 ระบาดรอบแรกช่วงต้นปี 63 ส่งผลให้ผู้คนกลัวไวรัสร้าย ประกอบกับมาตรการรัฐล็อกดาวน์เลยทำให้ประชาชนผวา! ตุนสินค้าหรือ Panic buying โดยเฉพาะข้าวของจำเป็น หนึ่งในนั้นคือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหมื่นล้าน จนตลาดได้อานิสงส์โต แต่เกิดขึ้นสั้นๆ

มาม่า ฝั่งขายโต แต่ส่วนแบ่งตลาดก็ตกไประยะสั้น เพราะของผลิตมาขายหมดเกลี้ยงชั้นวาง(เชลฟ์) ทำให้แบรนด์รองได้โอกาสขายสินค้าให้ผู้บริโภคแทน ส่วนฟากโรงงานเร่งผลิเต็มที่ตอบสนองประชาชน มาปี 2564 โควิดระบาดรอบ 3 มาเยือน ในห้วงเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)หรือ TFMAMA บรรยายสถานการณ์ทั้งการผลิตและการขายสินค้าแตกต่างจากบทเรียนครั้งแรก เพราะช่วงเวลาก่อนสงกรานต์ รัฐไม่ห้ามประชาชนเดินทาง ห้ามออกจากบ้าน การซื้อสินค้าตุนไว้มากๆ จึงไม่เกิดขึ้น การค้าขายจึงปกติ

ทว่า ผลกระทบที่เกิดกับตลาดบะหมี่ฯ ในไตรมาสแรก ซึ่งเจอวิกฤติโควิดซ้ำเติม ทำให้ “ อำนาจซื้อ” ของผู้บริโภคลดลง จึงมีผลตต่อภาพรวมของตลาดโดยรวมซึ่งหดตัว

162005849649

ทั้งนี้ ตลาดบะหมี่ฯ เส้นเหลือง 2-3 เดือนแรก มูลค่าอยู่ที่ 2,700 ล้านบาท หดตัว 7% แบ่งย่อยลงไปแบบถ้วยหรือคัพ มีการหดตัวรุนแรง 27% เนื่องจากสินค้าดังกล่าวตอบไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่ใช้ชีวิตนอกบ้าน และเป็นสินค้าหลักที่ขายในร้านสะดวกซื้อ เมื่อประชาชนต้องอยู่บ้าน ทำงานที่บ้านมากขึ้น จึงกระเทือนบะหมี่ฯคัพ ส่วนแบบซองมูลค่าราว 600 ล้านบาท ยังทรงตัว โดย มาม่า” ยอดขายอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าตลาดรวม

ปีนี้ไม่เหมือนคราวก่อน ที่ผู้บริโภครู้แล้วว่าซื้อสินค้าปริมาณมากไปตุนไว้ จะกินไม่ทัน ที่ผ่านมาการตื่นตระหนกซื้อสินค้าเพราะกลัวว่าโรงงานจะหยุดผลิต การซัพพลายสินค้าจะขาดไหม รอบนี้ไม่ตุนยังเกิดจากพฤติกรรมผู้บริโภคไม่ต้องการนำเงินไปจมกับสินค้าที่อาจยังไม่ได้ใช้ด้วย 

สำหรับโรงงานมาม่า ยังผลิตสินค้าปกติ ขณะเดียวกันคุมเข้มในการดูแล ป้องกันพนักกงานให้ห่างไกลโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด มีการพัฒนาแอ๊พพลิเคชั่นเพื่อใช้เป็นการภายใน โดยเฉพาะพนักงานต้องแจ้งไทม์ไลน์ของตนเองอย่างเคร่งครัด หากพนักงานมีความเสี่ยงจะให้ทำงานที่บ้าน

ปัจจุบันไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ มีพนักงาน 5,000-6,000 คน แม้ประเทศไทย ภาคธุรกิจจะเผชิญวิกฤติโควิดอย่างยาวนานข้ามปี แต่บริษัทไม่มีการปรับลดพนักงานแต่อย่างใด

ปีก่อนทำให้เรามีประสบการณ์ และเตรียมตัว วางแผนการผลิตภายใต้ซีนาริโอต่างๆรับมือความเสี่ยง

ห้วงเวลา 1-2 ปีนี้ ปัจจัยลบรายล้อม สร้างความท้าทายให้ภาคธุรกิจอย่างยิ่ง รวมถึง มาม่า” และปี 2565 บริษัทจะครบรอบ 50 ปี มีภารกิจสำคัญในการพิชิตเป้าหมายอดขาย 30,000 ล้านบาท ซึ่ง พันธ์” ย้ำว่าเป้าหมายคงเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง หากยอดขายพลาดเป้า บริษัทจะมอง โอกาสจากธุรกิจใหม่” มาต่อจิ๊กซอว์ โดยกิจการที่เล็งไว้ยังคงเกี่ยวข้องกับ “อาหาร” ปัจจุบันมีการเจรจากับพันธมิตร แต่ยังไม่สรุปดีลในปีนี้

162005789810

นอกจากบะหมี่ฯ ยังมีเบเกอรี่ “ฟาร์มเฮ้าส์” พอร์ตโฟลิโอที่ผลักดันบริษัทสู่ 30,000 ล้านบาท รวมถึงร้านราเมงจากญี่ปุ่นโคราคุเอ็นซึ่งตามแผนจะขยาย 10 สาขาใน 3 ปี ปัจจุบันมี 5 สาขา และยังไม่มีแผนขยายร้านเพิ่ม ขอประคองร้านที่มีให้ทำกำไร อยู่รอดท่ามกลางวิกฤติโรคระบาดเสียก่อน

กุมภาพันธ์ 65 จะครบรอบ 50 ปี บริษัทต้องมีอะไรสักอย่างที่เป็นจิ๊กซอว์ขยายธุรกิจ

ปี 2563 ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ สร้างยอดขายกว่า 23,000 ล้านบาท มี กำไรสุทธิ 4,090 ล้านบาท เติบโตฝ่าห้วงเวลาเลวร้าย แต่เพราะการส่งออก ซึ่งสินค้าที่ขายในต่างแดนทำกำไรได้ดีกว่าในประเทศ ส่วนปี 2564 บริษัทยังตั้งเป้ายอดขายเติบโต 5% แม้ว่าปีนี้บริษัทจะยังไม่ออกสินค้าใหม่มาทำตลาด เพราะต้องดูสถานการณ์ต่างๆอย่างรอบคอบ โดยปกติบริษัทจะมีสินค้าใหม่สร้างความคักคักให้ตลาดบะหมี่ฯ 3-4 รายการ ส่วนการลงทุนมีการใช้เงินราว 100-200 ล้านบาท เพื่อดูแลรักษาเครื่องจักร ขณะที่การลงทุนสร้างโรงงานในประเทศเมียนมา ชะลอไว้ก่อนจากสถานการณ์ภายในประเทศ ซึ่งไม่กระทบต่อแผนธุรกิจแต่อย่าวงใด

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหมื่นล้าน มาม่า” เป็นผู้นำครองส่วนแบ่งทางการตลาด 48% ตามด้วยไวไว 18% และยำยำ 17% ขณะที่ภาพรวมตลาดการเติบโตไม่หวือหวามาหลายปี เป็นไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภค