“บิ๊กเนม”จัดทัพ”พรรคใหม่” ทางเลือก “2 ขั้วอำนาจ”

“บิ๊กเนม”จัดทัพ”พรรคใหม่” ทางเลือก “2 ขั้วอำนาจ”

บางพรรคจำเป็นต้องเลือก “ขั้วการเมือง” เพื่อแสดงความชัดเจน เพื่อกรุยทางเข้าสู่อำนาจ ขณะที่บางพรรคไม่จำเป็นต้องเลือก แต่รอผลการเลือกตั้ง แล้วค่อยต่อรองก็ยังไม่สาย

ความพยายามโหมกระแสให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม “ยุบสภา” แรงมากขึ้นทุกที จนมีการวิเคราะห์ไปไกลในวงนักเลือกตั้ง เนื่องจากรอยร้าวจากปมขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลเสี่ยงเดินเข้าสู่จุดแตกหัก รอวันแยกทาง
หาก “พล.อ.ประยุทธ์” เลือกยุบสภา ตามไทม์ไลน์ก็มีอยู่ 2 แนวทาง ดังนี้
1.ภายหลังการผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 ราวเดือน ก.ย.2564 หลังจากนั้นอาจมีการอนุมัติโครงการ เร่งใช้งบประมาณให้เร็วที่สุดเพื่อกระจายลงพื้นที่ฐานเสียง
โดยคาดการณ์กันว่าหากจะยุบสภาหลังผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 เวลาที่เหมาะสมของ “พล.อ.ประยุทธ์” น่าจะอยู่ในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2564
ซึ่งหากยุบสภาในช่วงเวลาดังกล่าวยังหลีกการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจของ “พรรคฝ่ายค้าน” ที่จะมีจังหวะเปิดศึกซักฟอกในช่วงเปิดประชุมสภาประมาณเดือน ม.ค. 2565 หลังจากนั้นต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 60 วัน นับตั้งแต่ประกาศยุบสภา วันเลือกตั้งใหม่จึงน่าจะอยู่ในช่วงปลายเดือน ก.พ.ถึงต้นเดือน มี.ค.2565
2.ยุบสภาก่อนผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 เนื่องจากมีการประเมินว่าการพิจารณา
พ.ร.บ.ประมาณปี 2565 มี “พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค” จะคอยจ้องเดินเกมป่วน ไม่ให้ผ่านการพิจารณา
ที่สำคัญหาก พ.ร.บ.งบประมาณซึ่งถือเป็นกฎหมายการเงินไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ย่อมส่งผลให้ “พล.อ.ประยุทธ์-รัฐบาล” ต้องรับผิดชอบ โดยมี 2 ทางเลือก คือ ลาออก หรือ ยุบสภา
หากเลือกยุบสภาก่อนผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 มีโอกาสที่ “พล.อ.ประยุทธ์” จะประกาศยุบสภาช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. จากนั้นจะจัดการเลือกตั้งภายใน 60 วัน ซึ่งน่าจะอยู่ระหว่างเดือน พ.ย.-ธ.ค.
เพราะสถานการณ์ทางการเมืองไม่แน่นอน นักเลือกตั้งเริ่มนับถอยหลังยุบสภา “บิ๊กเนม” ที่ผันตัวเองไปตั้งพรรคการเมืองรอเอาไว้ จึงต้องเร่งรัดจัดทัพพรรคใหม่ให้พร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่อาจเกิดขึ้นในไม่ช้า
“กรุงเทพธุรกิจ” สำรวจความคืบหน้าพรรคการเมืองที่จัดตั้งใหม่ และเริ่มเปิดตัวสร้างกระแสอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมลงสนามเลือกตั้ง บางพรรคมีคนหน้าเก่า บางพรรคเน้นคนรุ่นใหม่
โดยพรรคการเมืองที่จดตั้งขึ้นมาใหม่ มีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างกันไป อาจจำแนกได้ 3 ขั้ว ได้แก่
1.สนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” ให้อยู่ในอำนาจการเมืองและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเนื่อง 2.พรรคสาขาและแนวร่วมของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี และ 3.พรรคที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกขั้วใด

เริ่มที่พรรคใหม่ล่าสุดของ “กลุ่ม 4 กุมาร” อุตตม สาวนายน อดีตรมว.คลัง สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรมว.พลังงาน สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรมว.การอุดมศึกษา กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตที่ปรึกษานายกฯ รวมถึง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกฯ ที่จำใจจากพรรคพลังประชารัฐไปก่อนหน้านี้ ได้จดตั้งพรรคเรียบร้อยแล้ว แต่ยังอุบไต๋ชื่อพรรคกันอยู่ และมีแผนจะเปิดตัวพรรคอย่างเป็นทางการภายในปีนี้
ล่าสุด แกนนำกลุ่มนี้ได้เริ่มฟอร์มทีมพรรคการเมืองเป็นของตัวเองเสียที โดยมีความเคลื่อนไหว ชักชวนระดับมือเศรษฐกิจชั้นเซียน กลุ่มทุนแถวหน้า มาร่วมกันคิดค้นนโยบาย
พรรคใหม่ของ “กลุ่ม 4 กุมาร” จะเน้นในส่วนที่เป็นจุดอ่อนของพรรคการเมืองไทย คือ “ทีมเศรษฐกิจ” จึงเลือกแนวทางนี้เพื่อเป็นข้อได้เปรียบ โดยเตรียมสร้างจุดขายเป็นพรรคเศรษฐกิจ
แม้จะคาดกันว่า พรรคใหม่ของ “กลุ่ม 4 กุมาร” อาจเป็นแนวร่วมขั้วการเมืองปัจจุบัน ชู “พล.อ.ประยุทธ์” สืบทอดอำนวจต่ออีกสมัย เพราะแนวทางพรรคจะต่อยอดนโยบายประชานิยมที่พวกเขาเคยร่วมทำไว้ในช่วงที่เป็นทีมเศรษฐกิจ แต่เอาเข้าจริงพรรคนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะเลือกข้างเดิมหรือไม่ เพราะสถานการณ์ที่จากกันไม่ดี อาจเป็นเหตุหนึ่งของการตัดสินใจ
อีกความเคลื่อนไหว บุคคลหนึ่งที่อยู่ในโฟกัสการเมืองชัดเกือบที่สุดเวลานี้ ไม่พ้น “ปลัดฉิ่ง” ฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในวงการเมืองระบุว่าชัดเจนแล้วในการทำพรรคการเมือง แต่จะเพื่อ "พี่น้อง 3 ป” แห่ง คสช.หรือไม่ ต้องดูใกล้ๆ เลือกตั้ง แม้จะเป็นที่รับรู้กันว่า “ปลัดฉิ่ง” ถือเป็นคนรู้ใจของ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และถูกมองว่าเป็นมือไม้สำคัญในการเตรียมขุมกำลังการเมืองให้ โดยคาดว่าพรรคที่เตรียมไว้ ช่วงใกล้เลือกตั้งอาจต้องเปลี่ยนใหม่ให้ต่อยอดสอดคล้องกับโครงการรัฐ เพื่อเป็นที่จดจำ
ก่อนหน้านี้ นักสังเกตการณ์การเมือง เริ่มเห็น“ปลัดฉิ่ง” เดินสายพบปะนักการเมืองระดับท้องถิ่น-ระดับประเทศ ด้วยภารกิจของกระทรวงมหาดไทย เพื่อขยายเครือข่ายอีกด้านที่แน่ๆ อยู่แล้วคือ
คอนเนคชั่น “พี่น้องสิงห์ดำ” รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่ยึดหัวหาดครองอำนาจในกระทรวงมหาดไทยมาอย่างยาวนาน รวมทั้งเพื่อนเพื่อนพ้องน้องพี่เครือข่ายจุฬาฯ ทั้งในแวดวงการเมืองและนักธุรกิจ
จากนี้จนเกษียณในเดือนกันยายนปีนี้ (2564) ทุกย่างก้าวของ “ปลัดฉิ่ง”จะยิ่งถูกจับตาถึงบทบาทที่อาจพลิกมาสู่เส้นทางการเมือง และความเคลื่อนไหวของเขาจะสะท้อนให้เห็นถึงคอนเนคชั่นของนักการเมืองทั้งขั้วรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่อาจส่งผลต่อเกมการเมืองในอนาคต
อีกด้านเมื่อเร็วๆ นี้ที่ถูกจับตาถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่เดินเกมตั้ง “พรรครวมไทยสร้างชาติ” โดยมีชื่อของ น.ส.พนัชกร ตุลานนท์ เป็นผู้ยื่นคำขอจดจัดตั้งพรรค ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค.2563 และมีชื่อ “ร.ท.ไกรภพ นครชัยกุล” เป็นหัวหน้าพรรค
แม้ชื่อของ ร.ท.ไกรภพ อาจไม่เป็นที่รู้จักในแวดวงการเมืองหรือวงกว้างในสังคม แต่เขาเคยสังกัดพรรครวมพลังประชาชาติไทย ลงสมัคร ส.ส.นครพนม เมื่อการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา โดยมี “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ลงพื้นที่ช่วยหาเสียง
นาทีนี้ ถึงแม้ “พี่น้อง 2 ป” ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะปฏิเสธว่า“พรรครวมไทยสร้างชาติ” ไม่ใช่พรรคสำรอง แต่เมื่อชื่อพรรคนี้ เป็นวลี “ม็อตโต้ของรัฐบาล” จึงไม่พ้นถูกตีตราแล้วว่าคือพันธมิตรของขั้วหนุน พล.อ.ประยุทธ์
ด้าน “นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม” อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ที่เปิดตัว “พรรคไทยภักดี” เป็นของตัวเอง มาได้ระยะหนึ่ง โดยต่อยอดจากกลุ่มไทยภักดีที่ “หมอวรงค์” จัดตั้งขึ้นมาคานกับม็อบคนรุ่นใหม่ โดยชูนโยบายปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้นจึงคาดหวังว่าแฟนคลับจากกลุ่มไทยภักดีจะแปรเปลี่ยนมาเป็นฐานเสียงของพรรค
นอกจากนี้ มีแนวโน้มสูงที่ “พรรครวมพลังประชาชาติไทย” (รปช.)จะถูกสลายแล้วย้ายฐานมารวมตัวกันที่ “พรรคไทยภักดี” เนื่องจากแนวทางของพรรคไทยภักดีเจาะกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุดมากกว่า

ที่สำคัญ “หมอวรงค์” กับ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เดินแนวทางเดียวคู่ขนานกันมาตลอด กระทั่งเลี้ยวเข้าไปร่วมงานในฐานะซีอีโอพรรค รปช.ระยะหนึ่ง ก่อนแยกออกมาตั้งกลุ่มไทยภักดีเอง
“พรรคไทยภักดี” ค่อนข้างตอบโจทย์กลุ่มคนรักสถาบัน แนวทางการหาเสียงจึงหนีไม่พ้นการปกป้องสถาบัน ตามที่ประกาศเอาไว้ แม้ฐานเสียงยังไม่แข็งแรง แต่จุดยืนที่ชัดเจน มีโอกาสสูงที่จะมี ส.ส.เข้าสภา

ขณะที่ขั้วตรงข้ามรัฐบาลปัจจุบัน มีพรรคการเมืองที่ขอจดตั้งพรรคใหม่ แต่อยู่จัดอยู่ในเครือข่ายและแนวร่วม “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่สนับสนุน “ประยุทธ์” อย่างแน่นอน ได้แก่ พรรคของ “จาตุรนต์ ฉายแสง” อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย ตั้งพรรคการเมืองเป็นของตัวเอง ใช้ชื่อว่า “พรรคเส้นทางใหม่”
“จาตุรนต์” มีโมเดลพรรคคล้ายกับ “สุดารัตน์” โดยรวบรวม อดีต ส.ส.กลุ่มอกหักจากพรรคเพื่อไทย “นายใหญ่” หมางเมิน แต่พอจะมีพื้นที่ มีฐานเสียงของตัวเอง การันตีคะแนนจากการเลือกตั้งได้ อาทิ 
“เศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์” อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด ที่ประกาศตัวร่วมหัวจมท้ายกับ “จาตุรนต์” โดยเจ้าตัวยังมีฐานเสียงอยู่ที่ อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด การันตีคะแนนหลักหมื่น
พรรคเส้นทางใหม่ จึงน่าจับตาว่า “จาตุรนต์” จะดีลอดีตผู้สมัคร-อดีตคนเคยรัก “ทักษิณ” มาอยู่ใต้ชายคาร่วมอุดมการณ์กันได้มากน้อยเพียงใด
“พรรคไทยสร้างไทย” นำทีมโดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ฉายาเจ้าแม่ กทม.ฟอร์มทีมมาระยะหนึ่ง และมี ส.ส.-อดีตส.ส.-อดีตผู้สมัครส.ส.เข้าคิวย้ายเข้าสังกัดไทยสร้างไทย รอแค่วัน ว. เวลา น. ที่เหมาะสมเท่านั้น เพราะหลายคนที่อยู่พรรคเพื่อไทย แต่ก็เห็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกับแกนนำไทยสร้างไทยบ้างแล้ว
ที่มีแนวโน้มเข้าสังกัดใหม่นี้ รายที่ถูกจับตาว่าจะเป็นคิวแรกๆ ไม่พ้น “อนุดิษฐ นาครทรรพ” ส.ส.กทม. อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย รวมถึงขุนพลทีมอภิปรายของพรรคเพื่อไทยที่ “สุดารัตน์” ปั้นมากับมือ
นอกจากนี้ ยังมี ส.ส.-อดีตผู้สมัครส.ส.สายอีสาน อีกหลายรายที่ “สุดารัตน์” ออกหน้าออกแรงช่วยในสนามเลือกตั้ง และอีกกลุ่มที่น่าจับตา คือ “ตระกูลบ้านใหญ่ภาคเหนือ” ที่แตกหักกับ “ตระกูลชินวัตร” ที่อาจเข้าร่วมขบวนพรรคไทยสร้างไทยเช่นกัน
แม้เวลานี้ จะมีเพียง “สุดารัตน์” ที่เดินสายทำกิจกรรมสังคมในพื้นที่ กทม.รวมทั้งต่างจังหวัด เพื่อรักษาฐานเสียงให้แข็งแกร่งมั่นคง แต่คาดว่าเมื่อถึงจังหวะเวลา “ขุนพลไทยสร้างไทย” จะปรากฎตัวอย่างคึกคัก
แม้จะถูกมองว่า ไม่พ้นเป็นแนวร่วมของอดีตนายกฯทักษิณ แต่คุณหญิงสุดารัตน์ ระบุถึงความตั้งใจว่า ตอนนี้เหมือนเรากำลังสร้างบ้านหลังใหม่ อยากสร้างให้เป็นบ้านที่ดีที่สุด เพราะจะเป็นงานชิ้นสุดท้าย และประกาศความชัดเจนในวันนี้คือ “ไม่ใช่สาขาของเพื่อไทย” แต่หวังเป็นรัฐบาลด้วย 
ด้าน “พรรคกล้า” ของ “กรณ์ จาติกวณิช” จัดตั้งอย่างเป็นทางการมาได้ราวๆ 1 ปี ประเดิมสนามเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 3 จ.นครศรีธรรมราช มาแล้วสนามแรก โดย "สราวุฒิ สุวรรณรัตน์ ผู้สมัครพรรคกล้าได้คะแนน 6,216 คะแนน ถือว่าได้เสียงตอบรับไม่น้อยแม้ว่าฐานเสียงของ กรณ์-พรรคกล้า ในกทม.จะถูกมองว่าซ้อนทับกับประชาธิปัตย์ ต้นสังกัดเดิม อีกทั้งยังมีคู่แข่งจำนวนมาก ดังนั้นงานใหญ่ของ กรณ์-พรรคกล้า จึงพยายามขยายฐานเสียง-ขยายความนิยม ไปยังพื้นที่ต่างจังหวัด โดยคิดนโยบายสำหรับคนต่างจังหวัดที่สามารถจับต้องได้จริง
นอกจากพรรคที่ชัดเจนแล้วเหล่านี้ ยังมีพรรคการเมืองที่ใช้ “นอมินี” ไปจดทะเบียนจองชื่อเอาไว้ก่อน ส่วน “เจ้าของพรรคตัวจริง” อยู่ระหว่างการตัดสินใจว่า จะเลือกพรรคใดสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า
ขณะเดียวกันยังมีพรรคสายกลาง ซึ่งยังไม่ตัดสินใจจะเลือกขั้วไหน จนกว่าจะรู้ผลเลือกตั้ง
บางพรรคจำเป็นต้องเลือก “ขั้วการเมือง” เพื่อแสดงความชัดเจน เพื่อกรุยทางเข้าสู่อำนาจ ขณะที่บางพรรคไม่จำเป็นต้องเลือก แต่รอผลการเลือกตั้ง แล้วค่อยต่อรองก็ยังไม่สาย