‘ประกันสังคม ม.33’ เช็ค 5 ขั้นตอน รับเงินเยียวยา 50% หาก ‘ว่างงาน’ จากโควิด-19

‘ประกันสังคม ม.33’ เช็ค 5 ขั้นตอน รับเงินเยียวยา 50% หาก ‘ว่างงาน’ จากโควิด-19

เปิด 5 ขั้นตอนง่ายๆ สำหรับ "ผู้ประกันตน ม.33" และ "นายจ้าง" ยื่นขอรับ "เงินชดเชย" 50% ของเงินเดือน ต่อเนื่องสูงสุด 3 เดือน หาก "ว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย"

  

หลังการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่เดือนเมษายน​ ที่ต่อเนื่องมาจนถึงเดือนพฤษภาคม 2564 โดยล่าสุด รัฐบาลต้องยกระดับมาตรการคุมโควิด ประกาศให้ 6 จังหวัดเป็น “พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” คือ กรุงเทพมหานคร, ปทุมธานี, นนทบุรี, สมุทรปราการ, เชียงใหม่ และ ชลบุรี นอกจากนี้ ในจังหวัดอื่นๆ ผู้ว่าราชการจังหวัดก็มีคำสั่งปิดบางกิจการหรือกิจกรรม เพื่อควมคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นกันนั้น 

เมื่อหลายกิจการต้องปิดให้บริการชั่วคราวจากคำสั่งปิด ขณะที่อีกหลายกิจการก็ได้รับผลกระทบทางอ้อม ไม่ปิดก็เหมือนปิด​จากข้อจำกัดต่างๆ สุดท้ายก็มีไม่น้อยที่ต้องไปโดยปริยาย 

แน่นอนว่า ผู้ได้รับผลกระทบไม่ใช่แค่เจ้าของกิจการเท่านั้น แต่ยังรวมถึง “ลูกจ้าง” ที่ต้องว่างงานเพิ่มขึ้น โดยสำหรับลูกจ้างในระบบประกันสังคม ที่เป็น “ผู้ประกันตน มาตรา 33” ที่ไม่ได้ทำงานเนื่องจากนายจ้างหยุดประกอบกิจการ เนื่องจากทางราชการมีคำสั่งให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตราย และไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น สามารถติดต่อขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

    

  • "เงื่อนไข" ผู้รับสิทธิ์

เป็นลูกจ้างหรือพนักงาน ซึ่งเป็นผู้ประกันตน ม.33 ที่ส่งเงินสมทบครบ 6 เดือน หรือใน 15 เดือนก่อนการว่างงาน โดยจะได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน

      

  • 5 ขั้นตอนลงทะเบียนขอรับสิทธิ์

1. ลูกจ้างกรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01/7)

ลูกจ้างดาวน์โหลดและกรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01/7) https://bit.ly/3u0PrzE ส่งให้นายจ้างพร้อมแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก

กรณีกักตัว ใช้เอกสารประกอบดังนี้ 

- ใบรับรองแพทย์ให้กักตัว หรือ

- คำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่สั่งให้กักตัว 

2. นายจ้างหรือเจ้าของธุรกิจ รวบรวมแบบคำขอรับประโยชน์แทน (สปส.2-01/7) และเอกสารอื่น (ถ้ามี) จากลูกจ้างให้ครบถ้วน

3. นายจ้างบันทึกข้อมูลในระบบ e-Service (www.sso.go.th)

นายจ้างบันทึกข้อมูลในระบบ e-Service บน www.sso.go.th พร้อมแนบเอกสารดังนี้

- ข้อมูลลูกจ้างตามแบบฯ สปส.2-01/7

- หนังสือรับรองการหยุดงาน กรณีราชการสั่งปิด/กรณีกักตัว (นายจ้างที่ใช้ระบบครั้งแรกต้องลงทะเบียนเพื่อใช้ระบบก่อน)

4. นำส่งแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01/7) 

นายจ้างนำส่งแบบคำขอรับประโยชน์แทน (สปส.2-01/7) และเอกสารอื่น (ถ้ามี) ของลูกจ้างที่บันทึกข้อมูลในระบบ e-Service ไว้แล้ว ส่งไปที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ทางไปรษณีย์ (ส่งแบบลงทะเบียน) ภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่บันทึกข้อมูลในระบบ e-Service

5. ประกันสังคมอนุมัติจ่าย โอนเงินเข้าบัญชี

เมื่อสำนักงานประกันสังคมได้รับข้อมูลของนายจ้างถูกต้องครบถ้วนจะทำการอนุมัติจ่าย รอบแรกเงินเข้าบัญชี ภายใน 5 วันทำการ ส่วนที่เหลือจะโอนเข้าบัญชีทุกสิ้นเดือนจนครบ

กรณีเงินไม่เข้าบัญชี สามารถติดต่อสอบถาม โทร.สายด่วน 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

161992725919

ทั้งนี้ นายจ้างที่ยังไม่ได้สมัครใช้งาน e-Service ของสำนักงานประกันสังคม สามารถสมัครใช้งานในเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคมก่อน จึงจะยื่นผ่านระบบได้ หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้ติดต่อสายด่วน 1506 หรือสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ที่นายจ้างตั้งอยู่

หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนประกันสังคม 1506